ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวคิดและทฤษฎีทางสังคม

ทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่ (Structural – Functional Theory)
ทฤษฎีการขัดแย้ง (Conflict Theory)
ทฤษฎีปริวรรตนิยม (Exchange Theory)
ทฤษฎีการกระทำระหว่างกันด้วยสัญลักษณ์ (Symbolic Interactionism)
ทฤษฎีปรากฎการณ์นิยม (Phenomenology)
สังคมวิทยากับการศึกษา (Sociology of Education)

ทฤษฎีปริวรรตนิยม
(Exchange Theory)


ทฤษฎีปริวรรตนิยมในมานุษยวิทยา

ปรากฏในความคิดของนักมานุษยวิทยาหลายคน ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

Sir Jame Frazer

จากหนังสือ Folklore in the Old Testament เล่มที่ 2 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สถาบันสังคม โดยอาศัยทฤษฎีปริวรรตนิยมอย่างชัดแจ้งเป็นครั้งแรก Frazer ศึกษาระบบเครือญาติและการแต่งงานในสังคมล้าหลังดั้งเดิมต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาได้พบว่าคนพื้นเมืองออสเตรเลียนิยมการแต่งงานกับญาติห่างๆ (Cross-Cousin) มากกว่าญาติสายตรง (Parallel-Cousin) เหตุผลเบื้องหลัง การนิยมแบบนี้ที่ Frazer ค้นพบคือ “ทฤษฎีมูลเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจ” นักทฤษฎีปริวรรตทางสังคมวิทยาสมัยใหม่นิยมกันและมีสมมติฐานเกี่ยวกับองค์การสังคมคล้ายๆกัน ดังนี้

  1. กระบวนการแลกเปลี่ยนหรือการปริวรรต เป็นผลของมูลเหตุจูงใจระหว่างมนุษย์ ในการสนองความต้องการจำเป็นของเขา
  2. เมื่อให้กำไรแก่ผู้เข้าร่วมกระบวนการแล้ว กระบวนการแลกเปลี่ยนก็จะกลายเป็นสถาบันหรือแบบอย่างของการกระทำระหว่างกันนั้น
  3. แบบอย่างของการกระทำระหว่างกันนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้มนุษย์สนองความต้องการจำเป็นเท่านั้น แต่จะมีผลกระทบต่อรูปแบบของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังในสังคมด้วย

นอกจากนั้นงานของ Frazer ยังเป็นที่มาอีกหนึ่งของทฤษฎีปริวรรตในปัจจุบัน คือ ความแตกต่างในระบบสังคมเกี่ยวกับอภิสิทธิ์และอำนาจ ซึ่ง Frazer กล่าวว่าระบบแลกเปลี่ยนทำให้เป็นเจ้าของสิ่งที่มีค่าจึงมีอภิสิทธิ์และอำนาจมากกว่าผู้มีสิ่งเหล่านั้นน้อย

งานของ Frazer ไม่เป็นที่พอใจของนักมานุษยวิทยารุ่นหลังจึงได้มีการปรับปรุงแต่งเติมกันเรื่อยมา และได้นำมาใช้ในทฤษฎีปริวรรตสมัยใหม่ของสังคมวิทยา

Malinowski

Malinowski มีงานเขียนที่สำคัญ คือ Argonauts of the Western Pacific เป็นผลงานที่แสดงการใช้แนวคิดปริวรรตกับพวก Trobiand Islanders ซึ่งเป็นชนหมู่หนึ่งทางวัฒนธรรมหมู่เกาะทะเลใต้ เขาได้วิเคราะห์ระบบแลกเปลี่ยนในรูปของ “Kula Ring” ซึ่งเป็นวงจรปิดความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนของ 2 อย่าง กำไลและสร้อยคอ ซึ่งมักจะเดินสวนทางกันเสมอ ลักษณะของการแลกเปลี่ยนแบบนี้ คือ

1. นำเอากำไลไปแลกเปลี่ยนกับสร้อยคอ ไม่ใช่กลับกัน
2. ในการตีความแลกเปลี่ยนแบบนี้ อาจไม่มีรูปเป็นวัตถุได้
3. เมื่อเริ่มแลกเปลี่ยนกันแล้ว ก็จะหยุดแค่นั้นไม่ได้ต้องแลกเปลี่ยนกันเรื่อยไป
4. การแลกเปลี่ยนแบบนี้ ก่อให้เกิดสายใยแห่งความสัมพันธ์ทางสังคมขึ้น

แนวคิด Malinowski ส่งผลในทฤษฎีปริวรรตสมัยใหม่ คือ

  1. มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล ต้องการสนองความต้องการจำเป็นของตน โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจที่ลงทุนน้อยที่สุด
  2. ความต้องการจำเป็นทางจิตวิทยามากกว่าเศรษฐกิจที่เป็นพลังในการเริ่มและผูกพันการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการอธิบายพฤติกรรมสังคม
  3. ความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยน อาจครอบคลุมคนมากกว่า 2 ฝ่าย
  4. ความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยน โดยสัญลักษณ์เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ก่อให้เกิดการจำแนกแตกต่างของตำแหน่งฐานะในสังคม และทำให้สังคมมีบูรณาการ และยึดเหนี่ยวกัน

โดยสรุปแนวความคิดของ Malinowski ได้นำแนวความคิด เรื่องการแลกเปลี่ยนสัญลักษณ์กันเข้ามาในทฤษฎีปริวรรตสมัยใหม่ แนวคิดเช่นนี้ เป็นรากฐานของปริทัศน์ การแลกเปลี่ยน 2 ประการ คือ

  • กระบวนการทางจิตวิทยา
  • พลังทางโครงสร้างและวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยน

Marcel Mauss

Mauss นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสตอบโต้ Malinowski ที่เป็นมานุษยวิทยาด้านจิตวิทยามากกว่าสังคม จึงได้วิเคราะห์เรื่อง Kula Ring ของ Malinowski การวิเคราะห์ทำให้เกิดปริวรรตแบบมวลรวมหรือโครงสร้างขึ้น ในการวิเคราะห์กูลาริง ซึ่งซับซ้อน จะต้องค้นหาว่า อะไรนสังคมดั้งเดิมผลักดันให้ เมื่อรับของไปแล้วจะต้องมีการตอบแทน คำตอบคือ กลุ่ม คือ สังคมนั่นเอง เพราะกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการแลกเปลี่ยน ทำสัญญาและผูกพันด้วยพันธะ ปัจเจกชนเป็นเพียงผู้แสดงตามหลักธรรมของกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นประโยชน์ปัจเจกตามหลักอรรถประโยชน์ และความต้องการจำเป็นทางจิตวิทยาของ Malinowski ก็ได้ถูกทดแทนโดยความคิดที่ว่าปัจเจกชนในฐานะตัวแทนของกลุ่มสังคม ในท้ายที่สุดความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนจะก่อให้เกิดพลังเสริม (Reinforce) จะช่วยให้เกิดหลักศีลธรรมของกลุ่ม ซึ่งเป็นตัวของตัวเอง (Sui Heneris) เมื่อหลักศีลธรรมกลุ่มเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีผลบังคับการกระทำอย่างอื่นของมนุษย์นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนด้วย

ความคิดของ Mauss เชื่อมประสานหลักปริวรรตของอรรถประโยชน์กับหลักโครงสร้างของ Durkheim แนวคิดของ Mauss ที่ว่าการแลกเปลี่ยนก่อให้เกิดและเป็นพลังเสริมโครงสร้างเชิงบรรทัดฐานของสังคม เป็นที่มาของแนวคิดการแลกเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ในทฤษฎีปริวรรตสมัยใหม่ของ Peter Blau แต่อิทธิพลของ Mauss ก็เป็นทางอ้อม เพราะ แนวคิดนี้ยังจะต้องผ่านความคิดของ Levi Strauss อีกทอดหนึ่ง

Claude Levi-Strauss

งานวิเคราะห์การแต่งงานกับญาติห่างๆ ตามแบบคลาสสิกใน The Elementary Structures of Kinship ในปี 1949 ซึ่งเป็นงานที่คัดค้านอรรถประโยชน์นิยม อย่างเช่นของ Frazer แต่รับเอาอรรถประโยชน์นิยมแบบ Spenzer ต่อต้านแนวคิดเรื่องความต้องการขั้นพื้นฐานทางจิตวิทยาของ Malinowski และได้สร้างปริทัศน์การแลกเปลี่ยนเชิงโครงสร้างที่ก้าวหน้าให้กับทฤษฎีปริวรรตสมัยใหม่อย่างมาก

Levi-Strauss คัดค้านแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของ Frazer โดยบอกว่าที่จริงกระบวนการแลกเปลี่ยนนั้นแหละที่สำคัญ ไม่ใช่วัตถุในการแลกเปลี่ยนจะต้องเป็นเรื่องของประโยชน์ Levi-Strauss โจมตีฐานคติอรรถประโยชน์นิยม ฐานคตินี้เป็นเพียงผิวของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีฐานสูงกว่านั้นและสามารถปฏิบัติการตามหลักของตนเองได้

Levi-Strauss ยังได้ปฏิเสธปัจจัยทางจิตวิทยาในกระบวนการเปลี่ยนด้วย โดยเฉพาะที่นักพฤติกรรมนิยมเสนอมา Levi-Strauss เน้นว่ามนุษย์มีมรดกทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับ Norms และ Values ซึ่งแบ่งแยกพฤติกรรมนอกจาก Organization ในสังคมออกจากพฤติกรรมและ Organization ของสัตว์โลก ดังนั้น พฤติกรรมของมนุษย์จึงมีความแตกต่างจากของสัตว์โดยเฉพาะในเรื่องการแลกเปลี่ยน เพราะสัตว์ไม่ได้ปฏิบัติตามค่านิยมและกฎเกณฑ์ที่กำหนดชัดเจนว่า เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร เขาจึงจะดำเนินการแลกเปลี่ยน มนุษย์เวลาเข้าสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันได้ นำเอาคำจำกัดความที่ได้ร่ำเรียนมา และลงรูปรอยเป็นสถาบันมาเป็นแนวในการประพฤติระหว่างกัน

นอกจากนั้น การแลกเปลี่ยนยังมีความหมายมากกว่าเป็นเพียงผลของความจำเป็นทางจิตวิทยาเท่านั้น แม้แต่ที่ได้มาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคมด้วย การแลกเปลี่ยนไม่อาจเข้าใจได้ โดยอาศัยเหตุจูงใจของบุคคลเท่านั้น เพราะ ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเป็นสิ่งสะท้อนของรูปแบบองค์การสังคมเป็นตัวตนในตัวของมันเอง (Sui Generis) แยกแต่างหากลักษณะทางจิตวิทยาของปัจเจกชน ดังนั้นพฤติกรรมแลกเปลี่ยนจึงถูกบังคับหรืออิทธิพลของ Norms และ Values ผลก็คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนจะต้องวิเคราะห์ “ผล” หรือ “หน้าที่” ของบรรทัดฐานและค่านิยม

ในการเสนอทัศนะเหล่านี้ Levi-Strauss ได้สร้างหลักการแลกเปลี่ยนที่สำคัญหลายอย่าง คือ

  1. ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทุกอย่างย่อมจะต้องมีค่าใช้จ่าย (ทุน) สำหรับปัจเจกชน แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเรื่องของสังคม คือ เป็นค่าใช้จ่ายในเชิงประเพณี กฎเกณฑ์ กฎหมายและค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำอธิบายทางเศรษฐกิจหรือจิตวิทยา ลักษณะเหล่านี้ของสังคมต้องการกระทำที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นบุคคลจึงไม่ประเมินค่าใช้จ่ายให้กับตน แต่ให้กับระเบียบสังคมที่ต้องมีพฤติกรรม ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งในการแสดงออก
  2. สิ่งที่มีค่าและหายากที่สุดในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เช่น ภรรยาหรือทรัพยากรที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น ความนิยมหรือเกียรติ เวลาจะแจกจ่ายไปจะต้องอยู่ในกรอบของบรรทัดฐานและค่านิยม หากทรัพยากรมีมาก หรือสังคมไม่ถือว่ามีค่า การแจกจ่ายก็ทำได้โดยไม่ต้องถูกควบคุม แต่พอสังคมถือว่าหายากและมีค่าก็จะสร้างระเบียบในการแจกจ่ายขึ้น
  3. ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทุกอย่าง ต้องขึ้นอยู่กับกฎหรือบรรทัดฐานของการให้และรับ (Rceiprocity) คือ ผู้รับจะต้องมีข้อผูกพันในการให้ตอบ ข้อคิดสำคัญของ Levi-Strauss คือมีหลักการให้และรับที่บรรทัดฐานและค่านิยมได้กำหนดไว้หลายแบบตรงและซึ่งกัน (Mutual ให้และรับของจากคู่สัมพันธ์โดยตรงและมูลค่าเท่ากับ) บางกรณีหลักการให้และรับเป็นแบบฝ่ายเดียว (Univocal) ซึ่งการให้ตอบอาจผ่านบุคคลที่ 3 (4, 5, 6, …) ก็ได้ จากประเภทของการให้และรับ 2 ประเภทใหญ่นี้อาจมีประเภทย่อยได้อีกมากมาย

จากหลักการ 3 ประเภทนี้ ทำให้ Levi-Strauss มีสังกัปต่างๆที่จะวิเคราะห์ระบบแต่งงานกับญาติห่างๆ ได้มากคราวนี้อาจกล่าวได้ว่า การแต่งงานแบบนั้นเป็นเรื่องของประโยชน์ต่อโครงสร้างใหญ่ (ทำให้เกิด Integration) การแต่งงานแบบอื่นอาจมองในแง่เป็น Univocal Exchange ระหว่างบุคคลกับสังคมได้ ในการทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนไม่ต้องผูกพันอยู่กับการแลกเปลี่ยนทางตรง และระหว่างกันเท่านั้น ทำให้ Levi-Strauss สามารถเสนอทฤษฎีบูรณาการและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมได้ การเสนอความคิดเช่นนี้เป็นการขยายความคิดเรื่อง Solidarity ของ Durkheim

โดยตัวของมันเอง ทฤษฎีบูรณาการก็มีความสำคัญในเชิงทฤษฎี แต่ที่สำคัญตอนนี้เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน แนวความคิดของเขาสองประการมีความสำคัญมาจนปัจจุบัน คือ

  1. รูปแบบต่างๆของโครงสร้างสังคมมากกว่ามูลเหตุจูงใจของปัจเจกชนที่เป็นตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยน
  2. ความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนในระบบสังคม มักจะไม่เป็นแบบการกระทำระหว่างกันอย่างตรงของบุคคลต่างๆ แต่มักรวมอยู่ใน Complex Networks ของการแลกเปลี่ยนทางอ้อมมากกว่าในประการหนึ่ง สาเหตุของการแลกเปลี่ยนมาจากแบบแผนของบูรณาการและองค์การทางสังคมอีกประการหนึ่ง กระบวนการแลกเปลี่ยนก่อให้เกิดรูปแบบขององค์การสังคมแบบต่างๆ

งานของ Levi-Strauss สะท้อนให้เห็ยจุดสุดยอดของการปฏิกิริยาโต้ตอบอรรถประโยชน์นิยมที่ Frazer นำเข้ามาเป็นครั้งแรกแล้ว Malinowaki ดัดแปลง Mauss เพิ่มเติม Levi-Strauss ตกแต่งจนเป็นแบบของสังคมวิทยา

สังกัปและฐานคติอรรถประโยชน์นิยมที่สำคัญ
ทฤษฎีปริวรรตนิยมในมานุษยวิทยา
ทฤษฎีปริวรรตนิยมในจิตวิทยาพฤติกรรมย์
ประเภทของทฤษฎีปริวรรตนิยม
ทฤษฎีปริวรรตนิยมของโฮมันส์ (Homans)
ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนรวมหมู่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย