เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
โรคข้าวโพด
โรคที่สามารถทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน และเกิดที่ส่วนต่าง ๆ
ทั้งที่ใบ ลำต้น กาบใบ เมล็ด และอื่น ๆ แตกต่างกัน
นอกจากนั้นอาจเกิดที่ระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอีกด้วย
ความเสียหายของพืชจากโรค นอกจากจะขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็นแล้ว
ยังขึ้นกับความรุนแรงของการเป็นโรคด้วย
โรคข้าวโพดที่สำคัญมีดังนี้
1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)
เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้แก่ข้าวโพดที่ปลูกในประเทศไทยมากที่สุด
ทำลายต้นข้าวโพดตั้งแต่ระยะกล้า ไปจนถึงระยะออกดอก
โรคนี้จะระบาดมากแก่ต้นข้าวโพดที่ปลูกในฤดูปลายฝน อาการของโรคคือ
ต้นข้าวโพดจะมีใบสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อน เป็นแถบตามความยาวของใบ
ส่วนยอดและดอกแตกเป็นพุ่ม หรือก้านฝักยาวและมีฝักหลายฝัก เป็นกระจุก
แต่เป็นฝักที่ไม่สมบูรณ์ โรคราน้ำค้างเกิดจากเชื้อรา Sclerospora sorghi
การป้องกัน เกษตรกรควรใช้พันธุ์ต้านทานปลูก เช่น พันธุ์สุวรรณ 1 สุวรรณ 2
เป็นต้น หรือการใช้สารเคมี เช่น ไรโดมิล ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า เอพรอน หรือเอพรอน
35% โดยใช้คลุกกับเมล็ดก่อนปลูกในอัตราสารเคมี 7 กรัมต่อเมล็ดหนึ่งกิโลกรัม
ในการคลุกเมล็ดควรให้สารเหนียวผสมด้วยเพื่อให้สารเคมีเคลือบเมล็ดได้ดี
สำหรับการปลูกข้าวโพดไร่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเอพรอน 35% คลุกเมล็ด
เพราะขณะนี้มีพันธุ์ต้านทานต่อโรคนี้และให้ผลผลิตสูงอยู่แล้ว
แต่สำหรับข้าวโพดหวานหรือข้าวโพดรับประทานอื่นซึ่งไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง
ควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีดังกล่าว
2. โรคใบไหม้
พบทั่วไปสองชนิดคือ (1) Southern corn leaf blight เกิดจากเชื้อรา
Helmithosporium maydis โรคนี้พบในข้าวโพดที่ปลูกโดยทั่วไป
อาการเริ่มโดยเป็นจุดเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายออกตามความยาวของใบ ขอบแผลสีน้ำตาล
ขนาดของแผลไม่แน่นอน
โดยทั่วไปโรคนี้ไม่ทำลายเสียหายรุนแรงถึงขั้นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและ (2)
Northern corn leaf blight เกิดจากเชื้อรา Helminthosporium turcicun
อาการของโรคมีลักษณะใบไหม้เป็นทางยาวรี หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย
โรคนี้ไม่ทำลายเสียหายรุนแรงถึงขั้นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
3. โรคใบจุด (Leaf spot)
โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Curvularia lanara พบมากในแหล่งปลูกข้าวโพดที่อากาศร้อนชื้น โดยมีอาการที่ใบมีจุดสีอ่อน ๆ จุดนี้ในขั้นสุดท้ายจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร
4. โรคเน่าที่ฝักและเมล็ด
โรคนี้เกิดจากเชื้อราหลายชนิด ระบาดมากในท้องที่ที่ร้อนชื้น ทำให้เมล็ดเน่า ผลผลิตและคุณภาพเมล็ดลดลง นอกจากนี้เชื้อโรคที่ทำให้ฝักและเมล็ดเน่า ๆ บางชนิด เช่น เชื้อรา Aspergillus spp. สามารถสร้างสารพิษ aflatoxin ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
แมลงและศัตรูอื่น ๆ
แมลงและศัตรูอื่น ๆ ที่ทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน ในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด เมื่อพบว่าข้าวโพดมีแมลงและศัตรูทำลายถึงขั้นที่จะเป็นผลเส้นต่อผลผลิตอาจป้องกันกำจัดได้ดังตารางที่ 5 การพ่นสารฆ่าแมลง ด้วยเครื่องพ่นสารสะพายหลัง ระยะข้าวโพดอายุ 1-2 สัปดาห์ ใช้น้ำไร่ละ 30-40 ลิตร อายุ 3-4 สัปดาห์ ใช้น้ำไร่ละ 40-50 ลิตร อายุ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ใช้น้ำไร่ละ 60-80 ลิตร หลังข้าวโพดออกฝักหรือใกล้เก็บเกี่ยว พ่นเฉพาะฝักใช้น้ำไร่ละ 60-80 ลิตร
ระยะการเจริญเติบโตและการพัฒนา
พันธุ์ข้าวโพด
ฤดูปลูก
การเตรียมดิน
วิธีการปลูก
การปราบวัชพืช
การใส่ปุ๋ย
โรค
การเก็บเกี่ยว