เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
ข้าวโพด
โดย รศ. วัชรินทร์ ซุ้นสุวรรณ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าถิ่นกำเนิดของข้าวโพดอยู่ในทวีปอเมริกา
อาจเป็นเม็กซิโกหรืออเมริกากลาง หรืออเมริกาใต้ โดยเมื่อคริสโตเฟอร์โคลัมบัส
สำรวจค้นพบทวีปอเมริกาในปี พ.ศ. 2035 นั้น ยังไม่มีการปลูกข้าวโพดในทวีปอื่น
โคลัมบัสจึงได้นำข้าวโพดจากทวีปอเมริกากลับไปทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2036
และตั้นแต่นั้นมาข้าวโพดก็ได้แพร่หลายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก
การนำเข้ามาในประเทศไทยเรานั้น คาดว่าได้นำข้าวโพดเข้ามาสู่ประเทศไทย
ประมาณปี พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นพันธุ์ประเภทใดไม่ปรากฏ จากหลักฐานปรากฏว่าในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
(2482-2489) นั้น การผลิตข้าวโพดเป็นการค้ายังมีอยู่อย่างจำกัด
พันธุ์ที่เริ่มทดลองปลูกกัน มีอยู่ 4 พันธุ์คือ พันธุ์พื้นเมืองของไทย
พันธุ์เม็กซิกันจูน พันธุ์นิโคลสันส เยลโล่ เด้นท์ (Nicholsons Yellow Dent)
และพันธุ์อินโดจีน
ข้าวโพดเริ่มขยายปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ในระยะนั้นการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
จนกระทั่งหลังจากที่มีการนำพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ทิกิเสท โกลเดน เยลโลว์ (Tiquisate
Golden Yellow) เข้ามาปลูกทดสอบในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2496 จากประเทศกัวเตมาลา
และเรียกชื่อพันธุ์นี้ว่า พันธุ์กัวเตมาลา
ข้าวโพดพันธุ์นี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้
ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่เดิมอย่างมาก
จึงทำให้การปลูกข้าวโพดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500
โดยพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มจาก 600,000 ไร่ เป็น 10 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2525
และประกอบกับข้าวโพดสามารถขายได้ง่าย ราคาพอสมควร
และการใช้แรงงานปลูกข้าวโพดนิยมใช้แรงงานน้อยกว่าการทำนา
แต่การผลิตข้าวโพดของไทยก็เริ่มมีปัญหา
การระบาดของโรคราน้ำค้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 ที่จังหวัดนครสวรรค์
และระบาดติดต่อกันเพิ่มมากขึ้นทุกปี พันธุ์กัวเตมาลาเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกกัน
80-90% เป็นโรคอย่างมาก แปลงข้าวโพดพันธุ์นี้เมื่อเป็นโรคมาก ๆ
ทั้งไร่จะต้องปล่อยทิ้งเพราะต้นที่เป็นโรคไม่ติดฝักเลย
พ.ศ. 2508 กรมกสิกรรม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกรมวิชาการเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิรอกกีเพลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ได้ร่วมมือกันจัดประสานงาน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด โดยมีสถานีทดลองกสิกรรมพระพุทธบาทในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นสถานีวิจัยและเริ่มพัฒนาไร่สุวรรณ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ไร่สุวรรณในปี พ.ศ. 2512-2513 และที่ศูนย์แห่งนี้ โดยการนำของ ดร.สุจินต์ จินายน ได้เริ่มพัฒนาข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512-2513 และได้พันธุ์สุวรรณ 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคราน้ำค้าง และได้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์กัวเตมาลา ซึ่งทางราชการได้ทำการรับรองพันธุ์สุวรรณ 1 อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2518 และเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกในปีถัดไป
ข้าวโพดนับว่าเป็นพืชสำคัญอันดับสามของโลก รองจากข้าวสาลีและข้าว ข้าวโพดใช้เป็นอาหารทั้งของคนและสัตว์ ในแต่ละปีมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 800 ล้านไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 500 ล้านตัน การปลูกกระจายไปในแถบต่าง ๆ ของโลก (ตารางที่ 1) โดยประเทศสหรัฐอเมริกาปลูกและผลิตข้าวโพดได้มากที่สุดของโลก นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วประเทศที่มีการปลูกข้าวโพดมากมี สาธารณรัฐประชาชนจีน บราซิล เม็กซิโกและอาฟริกาใต้เป็นต้น
ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด ประมาณ 8 ล้านไร่ต่อปี ได้ผลผลิตประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ดังตารางที่ 2 ซึ่งแสดงพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ของข้าวโพดที่ปลูกทั้งประเทศในปีเพาะปลูก 2527/28-2538/39 โดยมีแหล่งปลูกข้าวโพดในจังหวัดต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา เลย นครสวรรค์ และปราจีนบุรี เป็นต้น ดังตารางที่ 3 แสดงพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตข้าวโพดและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวโพดที่ปลูกในจังหวัดต่าง ๆ ปีเพาะปลูก 2527/28 - 2537/38
ระยะการเจริญเติบโตและการพัฒนา
พันธุ์ข้าวโพด
ฤดูปลูก
การเตรียมดิน
วิธีการปลูก
การปราบวัชพืช
การใส่ปุ๋ย
โรค
การเก็บเกี่ยว
บรรณานุกรม
- กองกีฏและสัตววิทยา. 2533. คำแนะนำการใช้สารฆ่าแมลง และสัตว์ศัตรูพืช ปี 2533. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.
- โชคชัย เอกทัศนาวรรณ. 2537. พันธุ์ข้าวโพดไร่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, น. 112-121 ในเอกสารประกอบการบรรยาย การสัมมนาทางวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช ครั้งที่ 4 เรื่องพันธุ์พืชใหม่ และความปลอดภัยทางชีวภาพ วันที่ 21-24 มิถุนายน 2537 โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมปรับปรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ.
- ราเชนทร์ ถิรพร. 2539. ข้าวโพด: การผลิต การใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ปัญหา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกร. บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์จำกัด กรุงเทพฯ.
- ศูนย์สารสนเทศการเกษตร. 2539. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปีเพาะปลูก 2538/39. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.
- ศูนย์สถิติการเกษตร. 2537. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปีเพาะปลูก 2536/37. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.
- ศูนย์สถิติการเกษตร. 2538. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปีเพาะปลูก 2537/38. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.
- สุพจน์ เฟื่องฟูพงศ์. 2527. ข้าวโพด, 81-46 ในวันชัย จันทร์ประเสริฐ (บรรณาธิการ) พืชเศรษฐกิจ เล่ม 2 ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.
- สุพจน์ เฟื่องฟูพงค์. 2528. คู่มือการปลูกข้าวโพด, น.108-120 ใน 20 ปี ไร่สุวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.
- สถาบันวิจัยพืชไร่. 2537. การปลูกพืชไร่. เอกสารวิชาการ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว กรุงเทพฯ.
- สถาบันวิจัยพืชไร่. 2539. พันธุ์พืชไร่ 2539. เอกสารวิชาการ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว กรุงเทพฯ.
- IBSNAT. 1988 . Experimental Design and Data Collection Procedures for IBSNAT: The minimum data set for systems analysis and crop simulation. International Benchmark Sites Network for Agrotechnology Transter. Honolulu, USA.