สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ
การบริหารจัดการทรัพยากร

การบริหารจัดการทรัพยากร

ทรัพยากรเศรษฐกิจ

ทรัพยากรเศรษฐกิจในที่นี้หมายถึง โอกาสและพลังอันเป็นเงื่อนไขต่างๆ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนในสังคมเข้าไปร่วมทำ หรือรับผลกระทบจากการกระทำ เหตุที่นับว่าเป็น "ทรัพย์" อย่างหนึ่ง ก็เพราะหากบริหารจัดการเงื่อนไขเหล่านี้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมเป็นช่องทางสำคัญอันหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำและเปิดให้ศักยภาพของผู้คนได้พัฒนาสูงขึ้นเป็นอันมาก แต่การบริหารจัดการเงื่อนไขเหล่านี้ในสังคมไทยดำเนินไปอย่างไม่เป็นธรรมและอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องปฏิรูปการบริหารจัดการเงื่อนไขเหล่านี้

ปฏิรูปทุน

แม้ว่าสิ่งที่นำมาใช้เป็นทุนอาจเป็นกรรมสิทธิ์ของบางคน แต่ที่จริงแล้วส่วนใหญ่ของทุนเป็นทรัพยากรของสังคมทั้งหมด หากการบริหารจัดการเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ก็เท่ากับเพิ่มศักยภาพของทุกคนในการลงทุน เพื่อประกอบการหากำไร, เพื่อประกอบการทางสังคม หรือเพื่อลงทุนพัฒนาตนเองและครอบครัว

ปัญหาของการบริหารจัดการทุนในประเทศไทย อาจสรุปได้ดังนี้

  1. บริหารจัดการทุนที่เป็นตัวเงินในลักษณะที่ทำให้คนส่วนใหญ่ ซึ่งบัดนี้ต้องการทุนประเภทนี้เพื่อการผลิตมากขึ้น เข้าไม่ถึง จำต้องอาศัยทุนนอกระบบซึ่งทำให้ยากที่จะประกอบการให้มีกำไรได้ ตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ได้ชัด กรุงเทพมีประชากรประมาณร้อยละ 10 ของประเทศ แต่ได้รับสินเชื่อคิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 74 แรงงานในภาคเกษตรมีอยู่ร้อยละ 38 แต่ได้รับสินเชื่อน้อยกว่าร้อยละ 1

    สถาบันการเงินยังขาดความพยายามที่จะสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ เช่น การปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้รายย่อย ยังคงอาศัยหลักทรัพย์ค้ำประกัน แทนที่จะอิงกับศักยภาพและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ หรือมีกระบวนการเสริมสร้างแรงจูงใจในการชำระคืนของลูกหนี้ ดังนั้นโอกาสที่จะเข้าถึงทุนจึงไปกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย
  2. อันที่จริงคนทั้งประเทศไทยต่างมี "สินทรัพย์" สำหรับประกันเงินกู้อยู่บ้างทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า "สินทรัพย์" ของคนจำนวนมากต้องอาศัยการประเมินที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน เช่นความซื่อสัตย์, ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีซึ่งย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการประกอบการของกลุ่ม, ความรู้ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นสินค้าในตลาดได้ ฯลฯ ตราบเท่าที่สถาบันการเงินไม่สนใจจะพัฒนาวิธีการประเมิน และการทำงานร่วมกันกับลูกค้า ก็ยากที่คนจำนวนมากจะเข้าถึงแหล่งทุนในต้นทุนที่สมเหตุสมผลได้
  3. แหล่งระดมทุนไร้สมรรถภาพที่จะระดมทุนจากสังคมในวงกว้าง, เป็นแหล่งเงินออมที่ปลอดภัย, ให้ข้อมูลแก่สาธารณชนอย่างโปร่งใส ฯลฯ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นเสมือนตลาดเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น
  4. แหล่งทุนที่มีวิธีประเมินความเสี่ยงได้แนบเนียนกว่า เช่นสหกรณ์, กลุ่มออมทรัพย์, กองทุน, ตลอดจนถึงกองทุนที่รัฐจัดตั้งขึ้น ไม่ได้รับการส่งเสริมในทางที่ถูกจากรัฐ
  5. การร่วมทุนที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายไม่แพร่หลาย

ปฏิรูปด้านแรงงาน

สภาพปัญหา

ประเทศไทยปัจจุบันกลายเป็นประเทศธุรกิจอุตสาหกรรมไปแล้ว กำลังแรงงานนอกภาคเกษตร 23 ล้านคนอยู่ในภาคการผลิตนี้ ในจำนวนดังกล่าวเป็นลูกจ้างขายแรงงานภาคเอกชน ประมาณ 11 ล้านคน ในขณะที่ภาคเกษตรมีแรงงานอยู่เพียงประมาณ 15 ล้านคนเท่านั้น (เป็นลูกจ้าง 3 ล้านคน) ลูกจ้างขายแรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ (รายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท) กดดันให้ต้องทำงานนอกเวลาเป็นวันละ 10-12 ชั่วโมง ไม่มีเวลาและกำลังที่จะดูแลบุตรและพัฒนาตนเอง

สภาวะที่ประชากรในวัยแรงงานจำนวนมากของประเทศ มีรายได้ไม่พอยังชีพและไม่มีโอกาสพัฒนาตนเองและครอบครัวต่อไป ก็เป็นปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลานี้ กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงไปอีก

ดังจะสรุปได้ดังนี้

  1. โครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เรามีคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานลดลง อันเป็นผลมาจากนโยบายคุมกำเนิด ประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกลับมีเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานหนึ่งคนมีภาระต้องเลี้ยงดูคนอย่างน้อย 2 คน คือตนเองและคนสูงวัยอีก 1 คน การมีรายได้เพิ่มขึ้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างมาก ทั้งเพื่อสวัสดิภาพของตนเองและประชากรสูงวัยของประเทศ โครงสร้างประชากรเช่นนี้ยังมีผลต่อกองทุนประกันสังคมด้วย เพราะจะมีผู้จ่ายเงินสมทบลดลง แต่กองทุนและสังคมกลับต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการตอบสนองสวัสดิการของผู้สูงวัย
  2. ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศลดการนำเข้าสินค้าและหันมาส่งเสริมตลาดภายในเพื่อรองรับสินค้าของตนเอง เมื่อการส่งออกชะลอตัวลงประเทศไทยก็จำเป็นต้องทำอย่างเดียวกัน อีกทั้งตลาดภายในยังช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอีกด้วย กำลังซื้อในตลาดภายในของไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง หากยกระดับกำลังซื้อนี้ด้วยการเพิ่มค่าจ้างได้ ก็จะมีผลไปถึงแรงงานนอกระบบ เช่น ตุ๊กตุ๊ก, หาบเร่, ธุรกิจห้องแถว ฯลฯ ซึ่งล้วนทำมาหากินกับกำลังซื้อภายในนี้ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน เนื่องจากแรงงานไทยยังต้องอุปการะครอบครัวในชนบท ค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นจึงมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบทด้วย
  3. ไทยต้องไปให้พ้นจากการผลิตสินค้าราคาถูก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของแรงงานไทย นอกจากนี้หากไม่เตรียมตัวด้านแรงงาน การเปิดเสรีอาเซียนใน พ.ศ.2558 จะทำให้แรงงานฝีมือของไทยย้ายไปทำงานต่างประเทศ ในขณะที่แรงงานฝีมือจากประเทศที่จ่ายค่าแรงถูกกว่า เช่น เวียดนามหรืออินโดนีเซียจะเข้ามาแทนที่การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

ข้อเสนอ

การแก้ปัญหาของผู้ขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต้องทำสามด้านคือ เพิ่มค่าจ้าง (เพิ่มรายได้)เพิ่มสวัสดิการ และเพิ่มผลิตภาพ

1) เพิ่มค่าจ้าง ควรทำโดยคำนึงถึงสองมิติ

มิติแรกคือ ความจำเป็นของชีวิต ในส่วนของลูกจ้างไร้ฝีมือและทำงานใหม่ ควรได้รับค่าจ้างที่พอจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างปรกติ อย่างน้อยต้องได้ 250 บาท หรือเดือนละ 250บาทx26วัน คือ 6,500 บาท (เสนอในพ.ศ.2554) ซึ่งตรงกับรายได้จากค่าจ้างบวกกับค่าล่วงเวลาของลูกจ้างในเวลานี้ พวกเขามีโอกาสจะได้ทำงานเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ตรงตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การลดชั่วโมงทำงานลง เพราะไม่ต้องดิ้นรนทำงานนอกเวลา จะทำให้ลูกจ้างมีโอกาสพัฒนาตนเองได้ ที่กล่าวนี้เป็น"ค่าจ้างขั้นต่ำ" ซึ่งหมายถึง ค่าตอบแทนที่ให้แก่แรงงานไร้ฝีมือและเพิ่งเข้าทำงาน นอกจากนี้อัตราค่าจ้างดังกล่าวยังตรงกับมาตรฐานในอนุสัญญาที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว

มิติที่สอง การจ่ายค่าจ้างควรคำนึงถึงค่าจ้างในฐานะที่เป็นค่าตอบแทนแก่ฝีมือการทำงานด้วย ลูกจ้างที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์มากและมีฝีมือดีขึ้น ควรได้รับค่าตอบแทนส่วนที่เป็นฝีมือนี้ด้วย เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ การจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มนี้จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกจ้างพยายามพัฒนาฝีมือของตนเอง ผ่านการศึกษาในระบบ, นอกระบบ, หรือผ่านการทำงานอย่างเอาใจใส ทั้งนี้ควรมีองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ซึ่งได้รับความเชื่อถือ และสามารถประเมินฝีมือแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนี้นอกจากเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของตลาดภายในแล้ว ยังช่วยเพิ่มกองทุนประกันสังคมได้ทันการณ์อีกด้วย

สิทธิของแรงงานต้องได้รับความคุ้มครองอย่างจริงจัง เช่นได้ค่าล่วงเวลา, ได้ค่าชดเชย, ได้เงินทดแทน, ได้รับความปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงาน และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านนี้ ต้องเห็นความสำคัญของสิทธิดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายให้บรรลุผล เพื่อให้ลูกจ้างแรงงานมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนคนในอาชีพอื่น และขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

2) เพิ่มสวัสดิการแรงงาน ควรจัดสวัสดิการแรงงานให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ

  1. การบริการสังคม ได้แก่การศึกษา, สาธารณสุข, ที่พักอาศัย, ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้มีบทบาทหลักในด้านนี้คือรัฐ ภาคนายจ้างและชุมชนจะเป็นฝ่ายเสริม โดยมีส่วนร่วมในการจัดการ
  2. ประกันสังคม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมทุนนิยม ผู้เอาประโยชน์ร่วมสร้างขึ้นกับนายจ้างและรัฐ เพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต ควรสนับสนุนให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภท ทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและอาชีพอิสระ
  3. สังคมสงเคราะห์ แก่ผู้ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือในยามที่เกิดพิบัติภัยต่างๆ นอกจากรัฐมีภาระโดยตรงแล้ว องค์กรทางสังคมต่างๆ ก็อาจเข้าไปมีส่วนร่วมได้มาก

การรวมกลุ่มเพื่อช่วยตัวเอง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของสวัสดิการแรงงาน เช่นการซื้อขายผลผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มความมั่นคงในชีวิตของลูกจ้างแรงงาน ฉะนั้นรัฐและนายจ้างจึงต้องส่งเสริมฐานเศรษฐกิจของแรงงาน เพื่อเสริมสร้างรายได้ที่พอแก่การเลี้ยงชีพ และการพัฒนาตนเองและครอบครัว เช่น สหกรณ์, กลุ่มออมทรัพย์, ร้านค้า, และเครือข่ายการซื้อขายระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบ

รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม และนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงาน เพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงาน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จำกัดวงเงินกู้และมีส่วนบังคับการออมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ การเพิ่มรายได้ของแรงงานยังหมายถึง การมีที่ทำงานและงานซึ่งปลอดภัยมั่นคง ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการหรือ พ.ร.บ.ประกันความปลอดภัยของแรงงาน ที่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน อันเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมแรงงานในระบบ, นอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

3) การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ประกอบด้วยสองด้าน

ในด้านแรก ลูกจ้างแรงงานไทยมีพื้นฐานการศึกษาต่ำ (ประมาณร้อยละ 60 ของแรงงานไทยจบการศึกษาระดับประถมหรือต่ำกว่าร้อยละ 40 จบชั้นมัธยมหรือสูงกว่า ขณะที่ในเวียดนามตัวเลขนี้กลับกัน) จึงควรถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข เกินครึ่งของแรงงานต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อให้พอกิน จึงไม่มีเวลาศึกษาเพิ่มเติม หากรัฐ และนายจ้างร่วมมือกันส่งเสริมให้เปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยเรียนรู้ต่างๆ เพื่อกระจายความรู้ที่จำเป็นแก่แรงงาน (เช่น โรงเรียนสอนภาษาเพื่อรองรับการร่วมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ก็จะช่วยยกระดับการศึกษาของแรงงานได้

ควรจัดสวัสดิการที่พักให้คนงาน ในหรือใกล้ที่ทำงาน นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก (รวมกันประมาณร้อยละ 30 ของรายได้) แล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนงานมีชุมชนของตนเอง และมีเวลามากขึ้นในการศึกษาเพิ่มเติม มีสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนซึ่งแม่สามารถกลับไปให้นมลูกได้ รวมทั้งสะดวกในการให้บริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขด้วย

ในด้านที่สอง คือการเพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่าจ้างดังที่กล่าวแล้ว ภาคเอกชนควรมีบทบาทหลักในด้านนี้ ดีกว่าคอยพึ่งรัฐแต่ฝ่ายเดียว เพราะไม่บังเกิดผลมากนัก ควรลดบทบาทของภาครัฐ ให้เป็นเพียงผู้กำกับดูแล และสนับสนุนรัฐควรจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้เอกชนกู้ไปพัฒนาฝีมือแรงงาน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือเอกชนอาจส่งลูกจ้างไปฝึกอบรมในสถาบันต่างๆ ที่ตรงตามความต้องการของตน ในขณะเดียวกันก็อนุญาตเอกชนที่ลงทุนด้านนี้ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น

นายจ้างจะได้ผลตอบแทนจากการพัฒนาฝีมือแรงงาน ในขณะเดียวกันลูกจ้างแรงงานก็สามารถเลือกงานได้มากขึ้น อันเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของตนโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขการเพิ่มค่าจ้างของอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านายจ้างไทยไม่ได้จ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของแรงงาน ระหว่างค.ศ.2000-2005 ค่าจ้างแท้จริงของแรงงานไทยลดลงทุกปี ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 121.9 ฉะนั้นต้องมีมาตรการที่จูงใจและบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นในภายหน้าด้วย

ในส่วนของแรงงานที่สมัครใจไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณขึ้นมากกว่านี้อีกมาก หลังการเริ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างรัดกุม จึงเสนอว่าต้องจัดตั้งบริษัทกำลังคน เป็นบริษัทกลางที่ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทำหน้าที่ฝึกกำลังคนตามความต้องการของแหล่งงานต่างประเทศ แสวงหาตลาดงานในต่างประเทศ และเป็นผู้จัดส่งคนไปทำงาน รวมทั้งตรวจสอบการทำสัญญาจ้างงานให้เกิดความยุติธรรมแก่แรงงานไทย หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ต้องการไปทำงาน โดยใช้สัญญาจ้างเป็นหลักประกัน ธุรกิจจัดหางานในต่างประเทศต้องเป็นสมาชิกของบริษัทกำลังคน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท ทำให้การป้อนแรงงานแก่ตลาดต่างประเทศมีเอกภาพ เท่ากับเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่แรงงาน และป้องกันการทุจริตคดโกงแรงงานของธุรกิจจัดหางาน

ในส่วนแรงงานข้ามชาติซึ่งมีหลายล้านคนและนับวันจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ ว่าจะเปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานได้จำนวนเท่าไร ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน และต้องได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองไม่ต่างจากแรงงานไทย

4) อำนาจต่อรองของแรงงาน

สิทธิอันพึงมีพึงได้ย่อมเป็นผลเพราะแรงงานมีอำนาจต่อรอง ซึ่งประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกอำนาจต่อรองมาจากฐานความรู้และทักษะ ส่วนที่สองมาจากการจัดองค์กรเพื่อการต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลไทยยังไม่ยอมให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาเลขที่ 87 และ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิการรวมตัวเพื่อการต่อรองของแรงงาน ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอว่า

  1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองโดยเร็ว
  2. รัฐจะต้องให้เสรีภาพ ในการรวมตัวของคนงานกลุ่มต่างๆ ทั้งเป็นการรวมตัวในกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ระหว่างคนงานประเภทเดียวกัน และต่างประเภทกัน ระหว่างคนที่เป็นลูกจ้างและไม่เป็นลูกจ้าง แรงงานต่างประเภทกันรวมกันในองค์กรเดียวกันได้
  3. ปฏิรูประบบการออกเสียงเลือกตั้ง ในระบบไตรภาคี (ลูกจ้าง + นายจ้าง + รัฐบาล) ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คือ 1 คน 1 เสียง โดยเฉพาะในระบบไตรภาคีของกองทุนประกันสังคม ศาลแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะเป็นไตรภาคีที่ทำให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียต่อลูกจ้างโดยตรง
  4. ต้องปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย และให้มีตัวแทนของลูกจ้างจากระบบเลือกตั้งโดยตรง เป็นคณะกรรมการไตรภาคี คอยกำกับดูแลและกำหนดนโยบาย
  5. ปฏิรูประบบการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ลูกจ้าง ที่ทำงานในพื้นที่ใดนานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าวของเขตพื้นที่นั้นๆ ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้าง เลือกตัวแทนของตน ที่เป็นตัวแทนในเขตพื้นที่ที่ทำงานอยู่ และเปิดโอกาสให้ผู้นำของลูกจ้างลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของเขตพื้นที่นั้นๆ
  6. จัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ์แรงงาน โดยนายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีการเลิกกิจการลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย และลูกจ้างมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้
  7. ให้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในศาลแรงงาน

ปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

แม้ว่าสัดส่วนของผลผลิตการเกษตรในปัจจุบันจะเหลือเพียงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่แรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรก็ยังมีสูงถึง 15 ล้านคน (12 ล้านคนทำการผลิตในไร่นา 3 ล้านคนเป็นแรงงานรับจ้างภาคเกษตร) ทั้งนี้ไม่นับประชากรอีกส่วนหนึ่งซึ่งต้องพึ่งพาลูกหลานผู้ทำเกษตรเช่นผู้สูงอายุ ยิ่งไปกว่านี้ แม้รายได้ในครัวเรือนของคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะยังต้องอาศัยเงินสดที่สมาชิกของครัวเรือนซึ่งออกจากไร่นาไปทำงานในอาชีพอื่นส่งมาจุนเจือ แต่ในทางกลับกัน แรงงานจำนวนมากในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ ก็สามารถดำเนินชีวิตไปได้เพราะฝากปากท้องของสมาชิกในครอบครัวส่วนหนึ่ง ไว้กับการผลิตด้านการเกษตรด้วย ดังนั้นจำนวนของคนที่ต้องพึ่งพาการเกษตร –มากบ้าง น้อยบ้าง – จึงมีมากกว่าตัวเลขประชากรในภาคการเกษตรเสียอีก

ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้อยู่ในการทำเกษตรกรรมรายย่อย แต่การทำเกษตรรายย่อยไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ แท้จริงแล้วนโยบายการเกษตรของภาครัฐยังค่อนข้างลำเอียงเป็นอริกับการทำเกษตรรายย่อยด้วยซ้ำ อคติทางวิชาการในประเทศไทยก็คือ เกษตรกรรมรายย่อยเป็นการผลิตที่ล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีทางบรรลุมาตรฐานการครองชีพที่ดีได้ และไม่มีทางอยู่รอดได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่ ปัญหาจึงเป็นแต่การหางานรองรับคนในภาคการเกษตรซึ่งต้องหลุดออกมาจากภาคการผลิตนี้อย่างไร ในความเป็นจริงแรงงานภาคเกษตรก็เริ่มร่อยหรอลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการสืบทอดอาชีพเกษตรของครอบครัวอีกต่อไป

คำถามที่น่าสงสัยก็คือ เกษตรกรรมรายย่อยไม่มีสมรรถนะจะอยู่ได้ด้วยตัวเองจริง หรือเพราะทัศนคติของฝ่ายอำนาจที่รังเกียจเกษตรรายย่อย จึงวางนโยบายที่ขัดขวางบ่อนทำลายเกษตรกรรมรายย่อยกันแน่ หากเกษตรกรรมรายย่อยไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่ เหตุใดประเทศในยุโรปหลายประเทศจึงยังมีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะเศรษฐกิจ, การศึกษา, อำนาจต่อรอง, ฯลฯ ที่ดีเหลืออยู่จำนวนมาก อีกทั้งเป็นภาคการผลิตด้านเกษตรกรรมที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นด้วย

แต่ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว คนที่ต้องพึ่งการเกษตรทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อาจมีมากกว่า 20 ล้านคน เป็นไปได้หรือที่จะถ่ายโอนแรงงาน 15 ล้านคนซึ่งไร้ทักษะไปสู่การผลิตด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงคนอีกหลายล้านที่ต้องพึ่งการผลิตด้านเกษตรกรรมทางอ้อมอยู่

ในขณะเดียวกัน ไม่ควรลืมด้วยว่า ท่ามกลางเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อการผลิตของเกษตรกรรมรายย่อย เกือบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งที่บริโภคภายในและส่งออก ล้วนมาจากเกษตรกรรมรายย่อย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในน้อยประเทศในโลกที่มีสมรรถภาพส่งออกอาหารก็เพราะเกษตรกรรมรายย่อย วัสดุที่ใช้ทำอาหารไทยอันลือชื่อทั่วโลกก็มาจากเกษตรกรรมรายย่อย และจนถึงที่สุดแล้ว วัฒนธรรมไทยที่เรายกย่องกันเช่นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ระเบียบที่ดีของความสัมพันธ์ทางสังคม, ความเคร่งครัดใน ศาสนธรรม ฯลฯ ก็ล้วนมีฐานอยู่บนการผลิตในไร่นาขนาดเล็ก

ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า หลักการสำคัญสุดของการปฏิรูปเกษตรกรรมต้องมุ่งไปที่การปรับปรุงเกษตรกรรมรายย่อย เพื่อให้ประชากรในภาคนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในมาตรฐานการครองชีพที่ดี ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสจะพัฒนาตนเองในทุกด้านในอนาคตไปได้พร้อมกัน หากเกษตรกรรมขนาดเล็กได้รับการสนับสนุนในทางที่ถูกต้องเหมาะสม เกษตรกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของฐานรากทางเศรษฐกิจ, สังคมและการเมืองต่อไป แท้จริงแล้วเกษตรกรรมรายย่อยซึ่งใช้พื้นที่ไม่เกิน 50 ไร่ (ตามข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ของ คณะกรกรมการปฏิรูป) มีผลิตภาพสูง ประหยัดและพึ่งตนเองได้สูง มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาได้ดี และยังช่วยว่าจ้างแรงงานได้มากกว่าเกษตรขนาดใหญ่ เมื่อคิดในเชิงเปรียบเทียบต่อหน่วยพื้นที่

คณะอนุกรรมการฯ ไม่ประสงค์จะขัดขวาง กีดกันการเกษตรเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่, การทำธุรกิจเกษตรเชิงพันธะสัญญา, หรือธุรกิจการเกษตรของบริษัทขนาดยักษ์ แต่ต้องหามาตรการป้องกันมิให้ธุรกิจเหล่านี้เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม ดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ แต่ควรทำธุรกิจในลักษณะที่เอื้อต่อกันและกันระหว่างธุรกิจใหญ่กับเกษตรกรรมรายย่อย

สภาพปัญหา

สภาพปัญหาของเกษตรกรรายย่อยในปัจจุบัน อาจสรุปได้ดังนี้คือ

  1. ไร้อำนาจการต่อรองในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะ หรือการตลาด
  2. ระบบการศึกษาที่จัดอยู่ในขณะนี้มีส่วนในการร่วมบั่นทอนพลังของเกษตรกรรายย่อย นอกจากเนื้อหาไม่มุ่งจะให้ความรู้แก่ผู้เรียนเพื่อไปใช้ในการทำเกษตรกรรมรายย่อยแล้ว การสร้างความรู้ในระดับอุดมศึกษาก็เป็นไปเพื่อรับใช้ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่มากกว่าสร้างความรู้สำหรับการพัฒนาของเกษตรกรรายย่อย
  3. เกษตรกรรายย่อยเข้าไม่ถึงสิทธิและการคุ้มครอง มักถูกละเมิดจนทำให้ไม่สามารถทำอาชีพต่อไปได้
  4. รับความเสี่ยงทั้งในทางการทำเกษตร และในทางธุรกิจแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีกลไกใดๆ ช่วยบรรเทาหรือประกันความเสี่ยงให้เลย
  5. ตลาดสินค้าเกษตร ทั้งผลิตผลและปัจจัยที่ต้องใช้ในการผลิต มีลักษณะผูกขาด จึงไม่ใช่ตลาดเสรี เพราะมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจต่อรองเลย
  6. เกษตรกรมีหนี้สินสูงมาก ทำให้มีภาระด้านต้นทุนการผลิตสูงกว่าที่จะทำกำไรในการประกอบการ
  7. เกษตรกรรมไทยในปัจจุบันไม่ช่วยสร้างความปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม
  8. ระบบการสนับสนุนจากภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งบางครั้งกลับก่อให้เกิดผลร้ายแก่เกษตรกรรายย่อย

ข้อเสนอ

ไร้อำนาจต่อรอง

  1. รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันในทุกรูปแบบ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน, การเรียนรู้ทดลองปฏิบัติ, เผยแพร่ข่าวสารข้อมูล, เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มต่างๆ จนเป็นสหกรณ์ เพื่อต่อรองในตลาด
  2. ใช้มาตรการต่างๆ สนับสนุนให้เกษตรกรเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปที่ดินของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จะทำให้การเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเรื่องไม่ยาก ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของอนุกรรมการฯ จะทำให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาของตนเอง หรือมีอำนาจบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่านี้ในตำบลหรือจังหวัดหรือบางส่วนของเขตลุ่มน้ำเอง เกษตรกรต้องเข้าถึงเครื่องมือการผลิตที่จำเป็น โดยเป็นเจ้าของเองหรือร่วมเป็นเจ้าของในกลุ่มหรือสหกรณ์ ทางด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ จะมีกฎหมายรับรองสิทธิของท้องถิ่นในการเป็นเจ้าของ ในขณะเดียวกันเกษตรกรควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ด้วย
  3. นอกจากเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจจัดการเครื่องมือการผลิตในไร่นาแล้ว เกษตรกรควรเป็นเจ้าของร่วมกันซึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการนำพืชผลเข้าสู่ตลาด เช่นลานตากผลผลิต, โรงเก็บหรืออบผลผลิต, โรงงานแปรรูปขั้นต้น อันเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการนำพืชผลเข้าสู่ตลาดโดยมีพลังต่อรอง แม้ความพยายามของกลุ่มเกษตรกรที่จะเป็นผู้ทำการตลาดเองก็ควรได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน ทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐ
  4. ทรัพยากรพัฒนาการเกษตรต้องไม่อยู่ในมือรัฐฝ่ายเดียว กลุ่มเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ ต้องมีอำนาจตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรส่วนนี้อย่างมีน้ำหนัก

ระบบการศึกษาและเรียนรู้สำหรับเกษตรกรรายย่อย

  1. สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรจากการปฏิบัติจริงในไร่นา เรียนรู้ระบบรวมกลุ่มรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำธุรกิจในระบบตลาด จัดให้เกิดโรงเรียนเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางเลือก ให้กระจายไปตามท้องถิ่นที่มีการทำเกษตรรายย่อยอยู่มาก
    ในขณะเดียวกัน ควรสร้างความรู้ใหม่ที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมรายย่อย ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยของเกษตรกรเอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเผยแพร่นวัตกรรมที่เกษตรกรบางท้องถิ่นค้นพบให้แพร่หลาย สามารถนำมาทดลองใช้ในท้องถิ่นอื่นได้ หากจำเป็นต้องจัดองค์กรรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อการนี้ (เช่นมหาวิทยาลัยเกษตรกร) ก็พึงทำ
  2. ฝึกอบรมทักษะการทำอาชีพเสริม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม เช่นการบำรุงและขยายพันธุ์พืชและสัตว์, การทำธุรกิจ, การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร, การทำหรือซ่อมปัจจัยการผลิตเอง เป็นต้น
  3. ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาด้านเกษตรกรรม โดยผู้สอนต้องรู้บริบทของการทำเกษตรกรรมขนาดเล็ก ให้สอดคล้องกับศาสตร์และศิลป์ของการทำเกษตรตามบริบทของท้องถิ่น และบริบทสากล

สิทธิและการคุ้มครองเกษตรกร

1) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรดังนี้

  • สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะ
  • พัฒนาระบบป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแก่เกษตรกร เช่น การรวมกันกดราคาสินค้า, การขายปุ๋ยและอาหารสัตว์ที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน, โกงค่าแรง, โกงน้ำหนัก, จงใจประวิงเวลารับซื้อ, การอ้างเกณฑ์มาตรฐานนอกเหนือสัญญา ฯลฯ หน่วยงานภาครัฐมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรแต่ละพื้นที่ดำเนินการวางแผน, เตรียมการ, ตรวจสอบ, ติดตาม และแก้ไขการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สิทธิที่จะมีความมั่นคงด้านสวัสดิการ, ค่าตอบแทน และรายได้ที่ยุติธรรม รวมทั้งรายได้พื้นฐาน

ในส่วนของเกษตรกรตามพันธะสัญญา ซึ่งในปัจจุบันถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ควรได้รับการประกันสิทธิและความคุ้มครองดังนี้

  • รัฐสนับสนุนองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านพันธะสัญญา ตลอดจนมีโทรศัพท์สายด่วนให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรเชิงพันธะสัญญาอย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็รับเรื่องราวร้องทุกข์ และพร้อมจะเป็นตัวแทนของเกษตรกรที่ถูกละเมิดสัญญา ต่อสู้ในเชิงกฎหมายเพื่อเรียกค่าชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร
  • ปรับปรุงแก้ไขสัญญาให้มีความเป็นธรรม เช่น บริษัทและเกษตรกรเป็นหุ้นส่วนกัน จึงต้องรับความเสี่ยงเท่ากัน การทำสัญญาต้องมีความโปร่งใส ควรมีพยานรับรู้และฝ่ายเกษตรกรมีสิทธิ์ที่จะถือสัญญาคู่ฉบับไว้ด้วย
  • ต้องมีระบบตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามสัญญา บริษัทผู้ประกอบการเกษตรเชิงพันธะสัญญาต้องจดทะเบียน และแจ้งการทำพันธะสัญญากับหน่วยงานด้านยุติธรรม หน่วยงานของรัฐควรศึกษาวิจัยต้นทุนกำไรของการผลิต เพื่อกำหนดราคาขาย(หรือรับซื้อ)ขั้นต่ำของผลิตผลนั้นๆ
  • ศึกษาพัฒนาระบบกฎหมาย เพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร, บริษัท และภาคีอื่นๆ ภายใต้ระบบเกษตรเชิงพันธะสัญญาให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ในส่วนแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ควรปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้คุ้มครองถึงแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด มีงานทำไม่ถึงปีละ 180 วัน ฉะนั้นหากมีการประกันการมีงานทำก็จะอำนวยประโยชน์แก่คนกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง เช่น รัฐร่วมกับท้องถิ่นประกันว่าคนในวัยแรงงานทุกคนจะมีงานทำปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 180 วัน เป็นต้น

สำหรับแรงงานรับจ้างที่เป็นชาวต่างด้าว ก็ต้องได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านประกันสังคมเท่าเทียมกับแรงงานไทย ยกเว้นหลักประกันการมีงานทำ

หลักประกันความเสี่ยงทางการเกษตร

  1. ให้มีระบบประกันความเสี่ยงหรือประกันผลผลิตการเกษตรในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ได้รับประโยชน์จากการเกษตร คือภาคธุรกิจการค้า, ภาคอุตสาหกรรมเกษตร, สถาบันการเงิน, รัฐบาล และเกษตรกร ต้องร่วมกันลงทุนระบบหลักประกันความเสี่ยง เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ในระยะเริ่มแรก รัฐควรนำภาษีส่งออกสินค้าเกษตรมาสนับสนุน
  2. สร้างหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตขั้นต่ำด้วยวิธีการอันหลากหลาย เช่น สร้างราคาผลผลิตให้เป็นธรรม สร้างรายได้เสริมจากผลิตผลการเกษตรด้วยการบริหารจัดการ ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นต่ำเพียงพอแก่การดำรงชีพ และพัฒนาตนเองต่อไป

ตลาดเสรีที่แท้จริง

  1. รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลงให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการบิดเบือนกลไกราคา ซึ่งมักนำไปสู่การทุจริตฉ้อฉลต่างๆ
  2. จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลาย ตลาดทุกรูปแบบนับตั้งแต่ตลาดนัด, ตลาดสด, ตลาดค้าส่ง ฯลฯ ควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการกระจายสินค้า ทั้งนี้รวมถึงระบบการผลิตและการตลาดที่ผู้บริโภควางแผนร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ ด้วย ลดอำนาจเหนือตลาดด้วยวิธีต่างๆ เช่น พัฒนากลไกตลาดกลางสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ยางพารา ฯลฯ เป็นต้น
  3. การที่ไทยจะเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยแก่โลกได้ จำเป็นต้องมีตลาดภายในที่เข้มแข็งเป็นฐาน ดังนั้นจึงต้องพัฒนาตลาดภายในอย่างจริงจัง เช่น สร้างกลไกที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดจำเพาะ ด้วยการผลิตให้ได้มาตรฐาน ในตลาดสินค้าเกษตรทั่วไป รัฐหรือท้องถิ่นสามารถวางมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารในตลาด เพื่อผลักดันให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการตลาดสินค้าเกษตรได้เอง และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยปรับโครงสร้างให้เป็นอิสระจากกระทรวงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันก็ควรขยายตลาดส่งออกให้กว้างและมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย แต่ก็ต้องหาทางเปิดช่องให้กลุ่มเกษตรกรมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกโดยตรงด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องวางมาตรฐานของผู้ส่งออกที่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง

การจัดการหนี้สินและทุน

  1. เร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ในส่วนที่เป็นหนี้ในระบบ รัฐควรเป็นตัวกลางในการลดหนี้เกษตรกรกับสถาบันการเงิน หากข้อเสนอปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้รับการปฏิบัติตาม สถาบันการเงินย่อมยินดีจะลดหนี้เพื่อสางหนี้เสีย มากกว่ายึดที่ดินของเกษตรกร เพราะข้อเสนอดังกล่าวระบุว่าไม่ให้เปลี่ยนที่ดินเพื่อการเกษตรไปใช้ประโยชน์ทางอื่น นอกจากนี้การสะสมที่ดินก็ไม่อาจทำกำไรได้อีกต่อไป
  2. ให้จัดการหนี้สินกับกลุ่มเกษตรกรแทนบุคคล โดยกลุ่มที่ได้รับการจัดการหนี้ต้องมีแผนการออม และการจัดการการเงินด้วย ในขณะเดียวกันก็ให้การศึกษาเรื่องหนี้และการจัดการทางการเงินแก่ครอบครัวเกษตรกรไปพร้อมกัน
  3. บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพ แต่ก็ต้องจัดการบริหารกองทุนเสียใหม่เพื่อไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการประจำแทรกแซงได้ กองทุนควรมีหน้าที่มากกว่าฟื้นฟูหนี้ เพราะหนี้สินจะหมดไปได้ก็สัมพันธ์กับการพัฒนาเกษตรกรด้วย
  4. เกษตรกรอาจเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น หากปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางหรือบริษัทค้าปัจจัยการผลิต ซึ่งมักจะเรียกดอกเพิ่มขึ้นหรือบังคับซื้อสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม การให้สินเชื่อควรเปลี่ยนจากการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มแทนรายบุคคล โดยทั้งกลุ่มต้องเป็นผู้รับประกันเงินกู้ร่วมกัน
  5. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแหล่งทุนและการจัดการหนี้ของเกษตรกรโดยท้องถิ่น ควรรวมกองทุนประเภทต่างๆ ในหมู่บ้านหรือตำบลเข้าด้วยกัน รัฐอาจให้กู้สมทบโดยปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีพลังพอจะจัดการกับปัญหาได้ เพราะการจัดการหนี้เกษตรกรให้ได้ผลนั้น ท้องถิ่นจะมีความสามารถจัดการได้ดีกว่าหน่วยงานจากภายนอก
  6. ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เน้นภารกิจ ในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดความเสี่ยง ลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเข้าถึงแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมโดยมีเงื่อนไขและความยุ่งยากน้อยที่สุด การบริหารจัดการทางการเงินของเกษตรกร เพื่อมุ่งลดหนี้และหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรรมการบริหารต้องมีตัวแทนของเกษตรกรเข้าร่วมด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่ควรมุ่งขยายฐานลูกค้าเกษตรกรโดยไม่เตรียมลูกค้าของตนให้บริหารจัดการเงินกู้ได้เป็น ต้องไม่ให้สินเชื่อในรูปของปุ๋ยเคมี, ยาปราบศัตรูพืช หรือวัสดุการเกษตรใดๆ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องปล่อยให้ลูกค้ามีอิสระในการเลือก และคงอำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้ออิสระไว้ การให้เงินกู้แก่เกษตรกรต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการประกอบการด้านการเกษตร และช่วงจังหวะของการเก็บเกี่ยวพืชผล ฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยที่พึงคิดจากเกษตรกร จึงควรเป็นอัตราที่น้อยกว่าของลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) หากผิดนัดชำระหนี้เพราะเหตุสุดวิสัย ก็ไม่ควรคิดค่าปรับ แต่ควรเข้าไปช่วยให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขและเยียวยา ทั้งการเกษตรและการบริหารจัดการเงิน ส่วนเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติจนผลผลิตเสียหายสิ้นเชิง ให้ยกเลิกหนี้ทั้งหมด ควรผลักดันให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแหล่งเงินของเกษตรกรตามเจตนารมณ์ จึงไม่ควรอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายของธปท.

ความปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม

  1. กำหนดเป้าหมายลดการใช้สารเคมีการเกษตรให้ชัดเจน เช่น ให้เหลือร้อยละ 50 ใน 5 ปีเป็นต้น
  2. ปฏิรูประบบควบคุมสารเคมี โดยจำกัดการใช้สารเคมี โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนแก่สารที่มีอันตรายมาก เช่น คาร์โบฟูราน, ไดโครโตฟอส, อีพีเอน, และเมโธมีล อีกทั้งห้ามจำหน่ายอย่างเข้มงวด ควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อให้ใช้สารเคมีเกษตร กำหนดมาตรการตรวจสอบการใช้อย่างเคร่งครัด แก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยให้องค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค, ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน, และด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนและยกเลิกวัตถุอันตราย ห้ามแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีส่วนได้เสีย หาทางขจัดการจ่ายเงินในรูปเงินเดือนหรือค่าที่ปรึกษาของบริษัทค้าสารเคมีแก่ข้าราชการ
  3. สนับสนุนระบบเกษตรที่ปลอดภัย โดยส่งเสริมให้เกิดระบบเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 50 ภายในหนึ่งทศวรรษ ให้บริษัทจำหน่ายสารเคมีร่วมรับผิดชอบผลกระทบจากสารเคมี อีกทั้งบริษัทมีหน้าที่ต้องนำภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้แล้วกลับคืน เพิ่มภาษีสารเคมีการเกษตรในอัตราสูง สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรที่ต้องการผลิตอาหารอย่างปลอดภัย กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสินค้าส่งออก สร้างตลาดอาหารปลอดภัยให้ทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจคุณค่าของอาหารปลอดภัย และโทษของอาหารอันตราย

ระบบการสนับสนุนจากภาครัฐ

  1. บูรณาการระบบฐานข้อมูลการเกษตรให้เป็นเอกภาพและเป็นข้อมูลสาธารณะ
  2. ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการให้เกษตรกรต้องพึ่งบริการจากรัฐ มาเป็นการพึ่งตนเอง และพึ่งกันเอง เช่นแทนที่นักวิชาการจะเป็นฝ่ายให้ความรู้แก่เกษตรกร ซึ่งมักเป็นความรู้ที่ทำให้เกษตรกรตกเป็นเบี้ยล่างของบริษัทธุรกิจ มาเป็นผู้จัดการให้เกิดการถ่ายทอดเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทด้านนี้อย่างเข้มแข็ง
  3. ปรับนโยบายการเกษตรให้เป็นอิสระจากการแทรกแซงของกลุ่มทุน ด้วยการทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายเป็นสาธารณะ ที่เกษตรกรและภาคส่วนอื่นๆ อาจมีส่วนร่วมได้
  4. ปรับระบบการบริหารของภาครัฐ ส่วนกลางควรเน้นเฉพาะด้านวิชาการ สามารถให้คำแนะนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับหน่วยงานของรัฐให้มีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประสานข้อมูลและความคิดของภาคส่วนต่างๆ มาปรับเป็นทิศทางและยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศ รวมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานในกรณีที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
  5. ยุบรวมกองทุนสงเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ให้เป็นเอกภาพ ทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์การช่วยเหลือเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารกองทุนได้ด้วยตัวเอง

ปฏิรูประบบภาษี

จุดมุ่งหมายของภาษีคือการเรียกเก็บส่วนแบ่งจากรายได้เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง โดยอาศัยหลักการสองอย่างคือ ผู้มีรายได้มากย่อมได้ประโยชน์จากสังคมมาก ฉะนั้นจึงต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย และสองการเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งจากการเรียกเก็บส่วนแบ่งสูง และจากการนำภาษีไปบำรุงผู้ด้อยโอกาส

เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว มีวิธีการเรียกเก็บซึ่งแตกต่างกันตามแต่สำนักคิดในเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าจะใช้แนวคิดของสำนักใดระบบภาษีในประเทศไทยมีผลให้ผู้มีรายได้น้อยกลับเสียภาษีมากกว่าผู้มีรายได้มาก (โดยสัดส่วนของรายได้) ให้ข้อกำหนดค่าลดหย่อนไว้มากและสลับซับซ้อน ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้และทรัพย์สินมาก ระบบภาษีเช่นนี้จึงยิ่งช่วยถ่างความเหลื่อมล้ำซึ่งรุนแรงในสังคมไทยอยู่แล้วให้กว้างขึ้น

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีฐานภาษีแคบ การเรียกเก็บภาษียังหละหลวม มีการหลบเลี่ยง และมีการยกเว้นการเก็บภาษีหลายประเภท ทำให้สัดส่วนของภาษีต่อจีดีพีของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจำกัดขนาดกลางต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทจำกัดขนาดใหญ่ โดยสัดส่วนของรายได้ เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทจำกัดขนาดใหญ่มากกว่า เช่น การวินิจฉัยให้สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งหาความสม่ำเสมอและหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ตลอดมา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ช่วยสร้างความถาวรยืนนานของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ระบบปัจจุบันก็ยังมีส่วนแบ่งของรายได้และทรัพย์สินที่ไม่ต้องจ่ายให้รัฐ หรือจ่ายน้อยมากอีกหลายประการ เช่นยังไม่มีภาษีทรัพย์สิน, ภาษีมรดก, ภาษีส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital-gain Tax) เป็นต้น

ฉะนั้นหากต้องการบรรเทาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องปฏิรูประบบภาษี

ปฏิรูประบบตลาด

ในทางทฤษฎี กลไกตลาดควรจะเป็นกลไกที่จัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่าระบบตลาดของประเทศไทยยังมีความล้มเหลวในหลายด้าน ดังนี้

  1. ความไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน
  2. ความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มักไม่ถูกคิดรวมเข้าไปในต้นทุนหรือการตัดสินใจทางเศรษฐกิจทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ
  3. การมีอำนาจผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย, เช่น กฎหมายเอื้อให้มีการผูกขาด, การฮั้ว (หรือการสมยอมในการเสนอราคาและการทำธุรกรรมอื่นๆ), การไม่บังคับใช้กฎหมาย, การไม่มีกฎหมายที่ขัดขวางการมีอำนาจเหนือตลาด, การกีดกันคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม, ความรู้และเทคโนโลยีที่สูงกว่าของผู้มีอำนาจเหนือตลาด
  4. ตลาดที่รวมศูนย์เกินไป ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
  5. การกีดกันและไม่พัฒนาตลาดใหม่ๆ ที่เหมาะกับกำลังของคนส่วนใหญ่ที่จะเข้าถึงตลาดโดยตรง นับตั้งแต่ทางเท้าไปจนถึงตลาดพืชผลการเกษตรของท้องถิ่นและการซื้อขายบนอินเตอร์เน็ต

ปฏิรูปด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม

การแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมและการผลิตที่เป็นธรรม ย่อมเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ทุกคนสามารถหาประโยชน์จากกิจกรรมนี้ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เสียเปรียบสามารถใช้สินค้าที่ตนมีหรือผลิตได้ เข้าไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ได้รับผลตอบแทนคุ้มกับการลงทุนลงแรง จึงเป็นการจัดสรรเชิงอำนาจที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างดี
แต่การแลกเปลี่ยนและการผลิตในประเทศไทย กลับเปิดโอกาสให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันมาก ปิดกั้นโอกาสของคนจำนวนมากให้ไม่สามารถเข้าไปแข่งขันและสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับตนขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม


ปฏิรูประบบพลังงาน

แม้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานพอสมควร แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้มีปัญหาอยู่มาก ทั้งในแง่การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและด้านทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเชื้อเพลิงเกือบทั้งหมด มีมูลค่าสูงเกินร้อยละ 10 ของจีดีพี แม้ว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่มีพลังงานหมุนเวียนในธรรมชาติอยู่มาก รวมทั้งโลกปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว แต่เรากลับใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศน้อยมาก อีกทั้งลังเลอย่างหนักที่จะก้าวต่อไปบนเส้นทางของพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย

นอกจากนั้น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผ่านมาก็ยังเป็นไปในลักษณะรวมศูนย์ คือมีการตัดสินใจจากราชการส่วนกลาง และใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการแย่งชิงพื้นที่เกษตรที่ใช้ในการผลิตอาหารเพื่อบริโภค

ระบบพลังงานของไทยเป็นระบบรวมศูนย์ การตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงาน นับตั้งแต่จะใช้และผลิตอย่างไร ใครควรได้ใช้ ภายใต้เงื่อนไขอะไร ล้วนอยู่ในมือของคนเพียงหยิบมือเดียว ด้วยเหตุดังนั้นการบริหารจัดการจึงลำเอียงเข้าข้างภาคการผลิตบางภาค เช่นความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้า 3 ใน 4 มาจากความต้องการของด้านอุตสาหกรรมและบริการ แต่แหล่งที่จะผลิตไฟฟ้ากลับเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน หรือพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างไพศาลแก่คนในพื้นที่ต่างๆ ในขณะที่ไม่มีมาตรการที่จริงจังในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานหรือลงโทษการไม่ประหยัดพลังงาน ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และเพื่อประกันความมั่นคงด้านพลังงานของภาคที่ได้รับการค้ำจุนนี้ จึงคาดความต้องการด้านพลังงานไว้สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ต้องลงทุนเข้าไปในระบบเกินจำเป็น จนกลายเป็นภาระทางการคลังของคนทั้งประเทศ

ระบบรวมศูนย์ด้านพลังงานยังก่อให้เกิดความฉ้อฉลในทุกระดับ นักการเมืองเข้าไปแสวงหาสินบนในโครงการขนาดใหญ่ หรือมิฉะนั้น ก็ใช้มาตรการแทรกแซงราคา เพื่อหาเสียงทางการเมือง ข้าราชการเสนอโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแสวงประโยชน์โดยมิชอบในการประมูลขึ้นไปจนถึงการควบคุมการก่อสร้าง ผู้เชี่ยวชาญซึ่งนั่งในคณะกรรมการมีผลประโยชน์ผูกพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทผลิตพลังงาน นักธุรกิจยัดเยียดโครงการเพื่อแสวงหากำไรจากสัญญาที่รัฐมักเสียเปรียบเสมอ
จำเป็นต้องปฏิรูประบบพลังงานของไทยมาสู่ระบบกระจายศูนย์ดังที่ใช้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนีและเดนมาร์ก (ดูเอกสารภาคผนวกเลขที่ 19 นายเดชรัต สุขกำเนิด เรื่อง "ข้อเสนอการปฏิรูประบบพลังงาน") และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ระบบกระจายศูนย์ด้านพลังงาน จะกระจายการตัดสินใจไปพร้อมๆ กับความรับผิดชอบ และจะไม่ผลักภาระที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปสู่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่การผลิตพลังงานแบบรวมศูนย์ก็ยังมีความสำคัญ และในอนาคตก็จะยังเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตด้านพลังงานของประเทศ แต่จำเป็นที่รัฐต้องเปิดโอกาสและสร้างกระบวนการให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการวางแผนพลังงาน นับตั้งแต่พยากรณ์ความต้องการ ไปจนถึงทางเลือกในการผลิตพลังงาน และการตรวจสอบควบคุม)

ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรเศรษฐกิจ
ทรัพยากรสังคม
ทรัพยากรการเมือง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย