สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

 ศาสตร์และศิลป์ทางการพูด

โดย : นางสาวทับทิม แท่งคำ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี สถาบันการพัฒนาชุมชน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

เห็นไมค์แล้วขาสั่น มีวิธีแก้ดังนี้

  1. ดื่มน้ำเย็นเล็กน้อยก่อนขึ้นพูด จะช่วยลดความประหม่าได้ส่วนหนึ่ง
  2. พูดกับตัวเองในใจว่า การบรรยายในหัวข้อนี้ฉันรู้ดีที่สุด จะเป็นการให้กำลังใจตนเองได้ในระดับหนึ่ง
  3. เตรียมการพูดให้ดี จะสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง การเตรียมตัวจะช่วยให้เราเกิดความพร้อม ทำให้เราจำเนื้อเรื่องได้ และลำดับขั้นตอนได้อย่างแม่นยำ
  4. มีโอกาสต้องรีบขึ้นเวที ไม่มีใครสามารถว่ายน้ำเป็นโดยไม่ลงไปว่ายน้ำ การพูดต่อหน้าชุมชนก็เช่นกัน ไม่มีใครพูดต่อหน้าชุมชนได้โดยไม่เคยพูดต่อหน้าชุมชนมาก่อน

การที่จะพูดเก่ง พูดเป็น พูดจูงใจคน พูดเพื่อได้ประโยชน์ พูดเพื่อให้ความรู้ จำเป็นต้องมีข้อมูล จำเป็นต้องมีการศึกษา ซึ่งการศึกษานั้นมีอยู่สองประเภทคือ การศึกษาโดยตรงหรือการศึกษาในระบบ และการศึกษาด้วยตนเอง

องค์ประกอบของนักพูดที่ดี

  1. ต้องไม่หยุดนิ่ง มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งความคิด ความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ ต้องหาเพิ่มเติมตลอดเวลา
  2. ต้องเป็นนักฟังที่ดีชอบฟังคนนั้นคนนี้พูด
  3. ต้องเป็นนักอ่าน การอ่านทำให้รู้ข้อมูลมาก และข้อมูลก็ทำให้เราสามารถดัดแปลงใช้ในการพูดได้
  4. ต้องเป็นนักประยุกต์ เวลาฟังรู้อะไรต้องนำมาประยุกต์ใช้
  5. ต้องมีบุคลิกที่ดี ไม่จำเป็นต้องสวยต้องหล่อ แต่เมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณะชน ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า เสื้อผ้า การแสดงออก กริยาท่าทางต้องมั่นใจเชื่อถือได้
  6. ต้องเตรียมตัวดี ทุกครั้งก่อนขึ้นพูดต้องมีการเตรียมตัวที่ดีก่อน ศึกษาว่างานนั้นเป็นงานอะไร ใครเป็นผู้ฟัง และต้องการอะไรจากผู้พูดบ้าง
  7. ต้องรู้จักรับฟัง คำประเมินหรือคำวิจารณ์เหมือนกระจกเงา เพื่อทราบข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาด ผู้ถูกประเมินต้องเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์
  8. ต้องมีใจรัก เมื่อล้มเหลวต้องไม่ท้อแท้ ท้อถอยในกรณีที่พูดแล้วไม่มีคนฟัง คนฟังไม่ตั้งใจฟัง พูดแล้วไม่ได้ดั่งใจ ต้องอนทน

นักพูดชั้นนำไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ย่อมมีวิธีการพูดของตน ซึ่งแต่ละแบบแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป เช่น นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย มีเคล็ดลับคือ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมคำพูด โดยใช้สมุดบันทึกพกติดตัวตลอดเวลา เมื่ออ่านเจอคำพูดที่น่าสนใจก็จะจดบันทึกไว้เป็นข้อมูลสำหรับอภิปรายหรือใช้พูด มีการเขียนโครงเรื่อง ซ้อมพูด อัดเทป เปิดฟังแล้วแก้ไขจนเป็นที่พอใจจึงนำออกไปพูด เห็นได้ว่าการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ละคนจะมีวิธี การคิด การฝึก การปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

การเตรียมตัว

  1. เตรียมใจ ทุกครั้งที่ขึ้นพูดต้องทำจิตใจให้สดชื่น พักผ่อนให้เพียงพอจะทำให้การพูดนั้นออกมาดี
  2. เตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม เช่น ข้อมูลผู้จัด คนฟัง ห้องบรรยาย สถานที่ วิทยากรท่านอื่นๆ
  3. เตรียมเรื่องที่จะพูด ต้องสามารถอธิบายได้ง่าย โดยการสร้างโครงเรื่องเป็นขั้นตอน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย คำนำ เนื้อเรื่อง สรุปจบ “ขึ้นต้นต้องตื่นเต้น กลางต้องกลมกลืน และสรุปต้องจับใจ” ดังนี้
    คำนำ
    หรือการขึ้นต้นที่ดีนั้น ต้องเร้าใจผู้ฟัง เพื่อผู้ฟังจะได้ติดตาม เช่น การขึ้นต้นพาดหัวข่าว การขึ้นต้นแบบบทกวี หรือคำพูดของคนที่มีชื่อเสียง การขึ้นต้นด้วยอารมณ์ขัน
    เนื้อเรื่อง
    หรือการดำเนินเรื่อง ต้องลำดับเรื่องที่จะพูดให้ดี เช่น พูดตามลำดับของเหตุการณ์ เวลา สถานที่ หรือจุดหมายของการพูด แล้วใส่ถ้อยคำ น้ำเสียง ภาษา ท่าทาง สายตา ให้เข้ากับเนื้อเรื่อง
    สรุป หรือลงท้าย ต้องทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจ การสรุปจบที่ดีต้องมีความหมายที่ชัดเจน กะทัดรัด สัมพันธ์กับเรื่องและคำนำ การสรุปจบที่ได้ผล เช่น ฝากให้คิดต่อ จบแบบสรุปความ จบแบบเรียกร้องหรือชักชวน จบแบบคำคม สุภาษิต คำพังเพย

พูดเพื่อได้

คำพูดของเราสามารถทำให้เราได้รับประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เราถูกทำร้ายได้เช่นเดียวกัน เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ เราควรพยายามพูดดีหรือพูดเพื่อให้ได้รับประโยชน์ เช่น

  1. ได้เพื่อน เราจะพูดอย่างไรให้ผู้ฟังมีความรู้สึกที่ดีกับตัวเรา จะพูดอย่างไรให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธาในตัวเรา ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้รับเชิญไปพูดหรือกล่าวอวยพรในงานต่างๆ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้เจ้าภาพเกิดความประทับใจในสิ่งที่เราพูด
  2. ได้ขาย ได้เงิน การพูดดีทำให้เราขายสินค้าได้ ได้รับเงินทองมากมาย เช่น คนขายประกันชีวิต ขายกระดาษแผ่นเดียว ทำไมขายได้ บางคนขายได้จนร่ำรวย เพราะการใช้ปากให้เกิดประโยชน์
  3. ได้ตำแหน่ง อดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่านของประเทศไทย เช่น นายชวน หลีกภัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีส่วนหนึ่งเกิดจากการพูดของท่าน

นักพูดกับการแต่งกาย

นักพูดที่ดีนั้นเครื่องแต่งกายเป็นสิ่งสำคัญมากขณะอยู่ต่อหน้าผู้ฟัง ควรแต่งกายให้สะอาด เรียบร้อย เหมาะสมถูกกาลเทศะ ดังนี้

  1. นักพูดที่ดีควรแต่งกายให้เสมอกับผู้ฟัง หรือไม่ก็ให้เหนือกว่าผู้ฟังเล็กน้อย แต่ถ้าแต่งกายเหนือกว่าผู้ฟังมากเกินไปก็จะเกิดการแบ่งแยก
  2. การแต่งกายแย่กว่าผู้ฟังถือเป็นความผิดร้ายแรง เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติผู้ฟัง ไม่เคารพสถานที่
  3. การใส่เครื่องประดับ ควรพอดีๆ ไม่มากจนเกินไปหรือน้อยเกินไป
  4. รองเท้า ถุงเท้า ต้องมีส่วนสัมพันธ์กัน

การใช้ถ้อยคำ

การใช้ถ้อยคำ คำพูดที่ดีหรือถูกต้องตามหลักเกณฑ์ย่อมแสดงถึง ภูมิปัญญา ชาติกำเนิดการศึกษา การอบรม วัฒนธรรมอันดีงาม การใช้ภาษา ถ้อยคำที่เหมาะสมทำให้ผู้ฟังสามารถวินิจฉัยถึงพื้นฐานการศึกษาของนักพูดได้ บางคนพูดไม่ชัด เช่น ตัว “ร” ออกเสียงเป็นตัว “ล” (โรงเรียนเป็น โลงเลียน ครั้งคราว เป็น ค้างคาว)

นักพูดที่ดี ต้องเป็นนักฟังที่ดี

การเป็นนักพูดที่ดีนั้น เริ่มต้นต้องเป็นคนที่ชอบฟังก่อน เพราะถ้าเราไม่ฟังเราจะไม่มีทางรู้ว่าคนที่พูดเก่งเขาพูดอย่างไร คนพูดไม่เก่งเขาพูดอย่างไร ดังนั้น คนที่พูดเก่งจำเป็นต้องฟังมาก ฟังว่าน้ำเสียงเป็นอย่างไร เนื้อหาดีหรือไม่ ท่าทางการพูดเป็นอย่างไร สำนวนภาษาดีหรือไม่ พูดชัดเจน มีอารมณ์ขันหรือไม่ ต้องฟังนักพูดที่เราชอบบ่อยๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง

เทคนิคเฉพาะตัวเวลาพูด

เทคนิคเฉพาะตัวของนักพูดแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะเอลักษณ์ บุคลิก ท่าทาง น้ำเสียง แต่กล่าวโดยรวมได้ดังนี้

  1. หัวใจสำคัญของนักพูดบางคนอยู่ที่ผู้ฟัง ผู้ฟังเป็นกลุ่มวัยรุ่นต้องพูดสนุกสนาน มีอารมณ์ขัน เพื่อให้เกิดความเร้าใจ ถ้าเป็นนักวิชาการต้องมีสถิติ ทฤษฎีอ้างอิงเวลาพูด ถ้าเป็นผู้สูงอายุควรพูดเรื่องธรรมะแทรก ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานต้องพูดเกี่ยวกับความหวัง อนาคต การทำงานที่ประสบผลสำเร็จ
  2. หัวใจนักพูดบางคนอยู่ที่การยกตัวอย่างมากๆ คนพูดที่ยกตัวอย่างสามารถทำให้คนฟังเข้าใจง่าย เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ถ้าเป็นเรื่องที่แปลกยิ่งทำให้จำได้ดี
  3. หัวใจสำคัญของนักพูดบางคนอยู่ที่อารมณ์ขัน ประโยชน์ของอารมณ์ขันมีดังนี้

    1) ช่วยผ่อนคลายความเครียด
    2) ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
    3) ช่วยสร้างเสน่ห์ในการพูด
    4) ทำให้ชีวิตรื่นรมย์ สังคมน่าอยู่

ปฏิเสธอย่างไร ไม่ให้เสียความรู้สึก

ปราชญ์ผู้หนึ่งได้ให้หลักไว้ว่า คุณสมบัติของนักการพูด นักการทูต นักการเมืองและนักปกครองที่ดีนั้น ต้องไม่พูดคำว่า “ไม่” เพราะคำว่า “ไม่” มักจะก่อให้เกิดศัตรูและทำความไม่พอใจให้แก่ผู้ถูกปฏิเสธ

ฉะนั้นการปฏิเสธคน เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งคำว่า “ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง” หรือ “ได้...แต่”

จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เช่น มีคนมายืมเงินเรา ถ้าเราไม่ให้ ก็จะทำให้ผู้ขอความช่วยเหลือไม่พอใจ แต่ถ้าให้ไปเป็นที่แน่นอนว่าจะไม่ได้คืน ถ้าไม่ให้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจกัน วิธีที่ดีที่สุดคือพูดคำว่า “ได้...แต่” ตัวอย่าง ได้...แต่ เราต้องขอบอกตามความจริงว่า ตอนนี้เงินไม่ได้อยู่ที่เราเพราะเราเป็นคนใช้เงินเก่ง อย่างไรก็ตามเราขอปรึกษาภรรยาก่อน หลังจากนั้นเว้นระยะไป แล้วค่อยบอกเขาว่าตอนนี้ภรรยาก็จำเป็นต้องใช้เงินเหมือนกัน ต้องขอโทษด้วย จะเห็นได้ว่าการพูดลักษณะนี้เราไม่ได้ปฏิเสธทันที แต่เราให้ความช่วยเหลือแล้ว แต่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ภรรยา เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราพยายามให้ความช่วยเหลือแล้ว

การประเมินการพูด

หมายถึง การวิเคราะห์ว่าเราพูดหรือปาฐกถาไปนั้น ต้องแก้ไขอย่างไร ปัจจุบันมีเครื่องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ถ้าเรามีการถ่ายบันทึกภาพการบรรยายของเรา แล้วนำมาประเมินเพื่อหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ท่าทาง กริยา อาการของเราเวลาเราพูดเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่อย่างไร การประเมินการพูด เปรียบได้ดังกระจกเงา ส่องดูการแต่งกาย ส่องดูบุคลิกท่าทาง ดีไม่ดีอย่างไรแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข

อ้างอิง : วาทะ วาที ศาสตร์และศิลป์ทางการพูด
ผู้เขียน : อาจารย์สุทธิชัย ปัญญโรจน์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย