สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ลักษณะสำคัญของลัทธิเผด็จการ
เนื่องจากแนวความคิดตลอดจนความหมายของเผด็จการยังมีข้อโต้แย้งกันมาก
แต่อย่างไรก็ตามเผด็จการไม่ว่าในลักษณะใด ๆ จะมีสิ่งที่ร่วมกันอยู่
ซึ่งพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง
ลัทธิเผด็จการไม่เห็นความสำคัญของความเสมอภาคหรือไม่เชื่อว่าบุคคลมีความเท่าเทียมกัน
ไม่ว่าในด้านชาติกำเนิด การศึกษาและฐานะทางสังคม
ด้วยเหตุนี้ลัทธิเผด็จการจึงแบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้นำ
ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีชาติกำเนิน การศึกษา และฐานะทางสังคมสูง
พวกนี้เป็นพวกที่มีความสามารถในการที่จะค้นพบความจริง ความถูกต้อง
และสร้างสรรค์คุณธรรมความดีให้กับสังคมได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ประชาชนโดยทั่วไป
ซึ่งไร้ความสามารถและไม่อาจที่จะปกครองตนเองได้มักจะดำเนินการใด ๆ
ไปโดยใช้อารมณ์เป็นเกณฑ์
ด้วยเหตุนี้ลัทธิเผด็จการจึงเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องเชื่อฟังผู้นำ
ประการที่สอง
ลัทธิเผด็จการเป็นลัทธิการเมืองที่ไม่ยอมรับว่าประชาชนทั่ว ๆ
ไปเป็นผู้มีเหตุผล ลัทธินี้เชื่อว่าเหตุผลของประชาชนทั่ว ๆ ไป
ไม่สามารถที่จะนำมาแก้ปัญหาของสังคมได้ เพราะแต่ละคนต่างก็ยึดตนเองเป็นหลัก
การใช้เหตุผลเพื่อยุติปัญหาจะนำมาซึ่งความโกลาหล
ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ดังนั้นลัทธินี้จึงสรุปว่าประชาชนทั่ว ๆ
ไปเป็นผู้ที่ไร้เหตุผล ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นต้องไปให้เหตุผลใด ๆ
และประชาชนโดยทั่วไปต้องมีผู้ปกครองเป็นผู้นำให้ความคุ้มครองแก่พวกเขา
ซึ่งผู้นำนี้เองที่จะทำให้ประชาชนมีความก้าวหน้าปลอดภัยและยิ่งใหญ่ได้
ส่วนประชาชนนั้นมีหน้าที่อยู่อย่างเดียว คือ
เชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำโดยถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องกระทำ
ประการที่สาม
ลัทธิเผด็จการให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคลน้อยกว่าอำนาจรัฐ
ประเด็นนี้ เราอาจจะเข้าใจได้แจ่มชัดขึ้น ถ้าเราพิจารณาคำกล่าวของมุสโสลินี
ผู้นำของเผด็จการฟาสซิสต์ตอนหนึ่งที่ว่า
รัฐเป็นนายและเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิตและสังคม นั่นคือ
ลัทธิเผด็จการจะยึดมั่นว่ารัฐเป็นสิ่งสูงสุดที่ประชาชนจะต้องสักการบูชา
และอุทิศตนเองเพื่อความยิ่งใหญ่และความเจริญก้าวหน้าของรัฐ
ประชาชนจะต้องมีภาระที่จะรับใช้รัฐ
ฉะนั้นสิ่งใดที่รัฐกำหนดขึ้นทุกคนที่อยู่ในรัฐก็จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจหลีกเหลี่ยงได้นั่นคือ
รบอบเผด็จการจะเน้นที่อำนาจของรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน
ประการที่สี่
ลัทธิเผด็จการไม่อดทนต่อความคิดที่แตกต่างกัน
อันจะได้มาซึ่งความเห็นพ้อง หรือการเหนี่ยวนำให้ตรงแนวความคิดที่พวกเขายึดถือ คือ
เรื่องอำนาจสูงสุดของรัฐและอำนาจเด็ดขาดของผู้นำที่เป็นตัวแทนของรัฐ
ดังนั้นกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง สมาคมอาชีพ
สหพันธ์-กรรมกรจะต้องเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนผู้นำจึงจะตั้งอยู่ได้
พวกผู้นำลัทธิเผด็จการจะไม่ยอมให้มีฝ่ายอื่นใดเข้ามามีส่วนในการใช้อำนาจและด้วยความกลัวว่าจะมีกลุ่มทางการเมืองอื่นมาแย่งชิงอำนาจ
บรรดาผู้นำเหล่านี้จะพยายามค้นหาและทำลายกลุ่มเหล่านั้นเสียก่อนที่จะเติบโตขึ้นมาและทำลายพวกตนได้
- ความหมายของเผด็จการ
- ลักษณะสำคัญของลัทธิเผด็จการ
- ประเภทของลัทธิเผด็จการ
- เผด็จการอำนาจนิยมกับเผด็จการเบ็ดเสร็จในเชิงเปรียบเทียบ
ที่มา
- วัชระ คลายนาทรและคณะ : สังคมศึกษาสมบูรณ์แบบ
- สุขุม นวลสกุลและคณะ : สังคมศึกษา