ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พญานาคกับพระพุทธศาสนา

เมื่อนาคอยากเป็นมนุษย์จึงรักษาอุโบสถศีล

เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในเวลาต่อมาก็เกิดวิปฏิสาร คิดว่าประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา เราจักอยู่รักษาอุโบสถกรรม พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์ จักได้แทงตลอดสัจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้ นับจำเดิมแต่นั้น ก็ทรงรักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว พวกนางมาณวิกาตกแต่งกายงดงามพากันไปยังสำนักของพระมหาสัตว์นั้น ศีลของพระมหาสัตว์ก็วิบัติทำลายอยู่เนือง ๆ

จำเดิมแต่นั้นพระมหาสัตว์เจ้าจึงออกจากปราสาท ไปสู่พระอุทยาน นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่าควรที่เราจะออกจากนาคพิภพนี้ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ นับแต่นั้นมาเมื่อถึงวันอุโบสถ พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลก ทรงประกาศสละร่างกาย ในทานว่า “ใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้นจงถือเอาเถิด ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางูก็จงกระทำเถิด” แล้วคู้ขดขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้มรรคาแถบปัจจันตชนบทแห่งหนึ่ง ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมา ในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้วพากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป ชาวปัจจันตชนบทไปพบแล้วคิดว่าคงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ จึงจัดทำมณฑปขึ้นเบื้องบน ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณ แล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้นจำเดิมแต่นั้นมา มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า ทำการบูชาปรารถนาบุตรบ้าง ปรารถนาธิดาบ้าง แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงรักษาอุโบสถกรรมถึงวันจาตุททสีและปัณณรสี ดิถี 14 ค่ำ 15 ค่ำ ก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก ต่อในวันปาฏิบทแรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้เวลาล่วงไปเนิ่นนาน อยู่มาวันหนึ่งนางสุมนาอัครมเหสีทูลถามพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลกเข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น ความจริง มนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากว่าภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วยนิมิตอย่างไร ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้นแก่พวกหม่อมฉันด้วยเถิด พระมหาสัตว์จึงนำนางสุมนาเทวีไปยังขอบสระมงคลโบกขรณีแล้วตรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ ถ้าหากใคร ๆ จักประหารทำให้เราลำบากไซร้ น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไปน้ำจักเดือดพลุ่งขึ้นมา ถ้าหมองูจับเอาไปน้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต พระโพธิสัตว์ตรัสบอกนิมิต 3 ประการ แก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถเสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก นอนเหนือจอมปลวก ยังจอมปลวกให้งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกาย แม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้นก็ปรากฏขาวสะอาดผุดผาดดังพวงเงิน ท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง

อนึ่งในชาดกนี้สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถ ในภูริทัตตชาดก มีขนาดเท่าลำขา ในสังขปาลชาดก มีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง

ในกาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งไปเมืองตักกศิลาเรียนอาลัมภายนมนต์ ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เดินทางกลับบ้านของตนโดยผ่านมรรคานั้นเห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า เราจักจับงูนี้บังคับให้เล่นกีฬาในคามนิคมราชธานีทั้งหลายยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น จึงหยิบทิพโอสถ ร่ายทิพมนต์ ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้า จำเดิมแต่พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์แล้วเกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไปในพระกรรณทั้งสอง เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช พระมหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่านี่อย่างไรกันหนอจึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายในขนดแลไป ได้เห็นหมองูแล้วดำริว่าพิษของเรามากมาย ถ้าเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า แต่เมื่อทำเช่นนั้นศีลของเราก็จักด่างพร้อย เราจักไม่แลดูหมองูนั้น ท้าวเธอจึงหลับพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเศียรไว้ภายในขนด พราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถแล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์ด้วยอานุภาพแห่งโอสถและมนต์ เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้ว ๆ ปรากฏเป็นเสมือนพองบวมขึ้น ครั้งนั้นพราหมณ์หมองู จึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลากลงมาให้นอนเหยียดยาว บีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ จับศีรษะให้มั่นแล้วบีบเค้น พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก ทีนั้นพราหมณ์หมองูจึงพ่นน้ำลายเข้าไปในปากของพระมหาสัตว์ แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์ ทำลายพระทนต์จนหลุดถอน ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกขเวทนาเห็นปานนี้ เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลาย ทรงหลับพระเนตรนิ่งมิได้ทำการเหลียวมองดู



พราหมณ์หมองูคิดว่าเราจักทํานาคราชให้ทุพพลภาพ จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไปคล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า ขยี้กระดูกให้ขยายเช่นอย่างกลายเส้นด้ายให้กระจาย จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า สกลสรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้นมหาทุกขเวทนาไว้ ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่าพระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้วจึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้นแล้วนำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน พราหมณ์หมองูปรารถนาจะให้แสดงท่วงทีอย่างใด ๆ ในประเภทสีมีสีเขียวเป็นต้น และสัณฐานทรวดทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำท่วงทีนั้น ๆ ทุกอย่าง ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่าง พันอย่าง มหาชนดูแล้วชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์ตั้งพัน และเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน แต่ชั้นแรกพราหมณ์หมองูคิดไว้ว่า เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นแล้วคิดเสียว่า ในปัจจันตคามแห่งเดียวเรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้ ในสำนักพระราชาและมหาอำมาตย์ คงจักได้ทรัพย์มากมาย จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่งกับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง บรรทุกของลงในเกวียนแล้วนั่งบนยานน้อยพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก บังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้านและนิคมเป็นต้นโดยลำดับไป แล้วคิดว่าเราจักให้นาคราชเล่นถวายในสำนักของพระเจ้าอุคคเสนแล้วก็จักปล่อยดังนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป พราหมณ์หมองูฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร

นาคราชรำพึงว่าพราหมณ์หมองูนี้ฆ่ากบอยู่บ่อย ๆ เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ เราจักไม่บริโภคกบนั้น แล้วไม่ยอมบริโภค เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์คิดว่าถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้ เราคงจักตายภายในกระโปรงเป็นมั่นคง จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น พราหมณ์หมองูไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู ที่ใกล้ประตูเมืองได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก แม้พระราชาก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่าเจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง เขาทูลสนองพระราชโองการว่าได้พะย่ะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์ ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้

พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า พรุ่งนี้นาคราชจักฟ้อนรำที่หน้าชานชาลาหลวง มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด แล้วในวันรุ่งขึ้น ตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวง และตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า พราหมณ์หมองู นำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตรนั่งคอยอยู่ ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาทแวดล้อมด้วยหมู่มหาชนประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ พราหมณ์หมองูนำพระมหาสัตว์ออกมาแล้วให้ฟ้อนรำถวาย มหาชนพากันดีใจไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พากันปรบมือ โบกธงโบกผ้า แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน ฝนรัตนะเจ็ดประการก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์ เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้นครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์ ตลอดเวลาเหล่านี้พระมหาสัตว์สู้ทนมิได้บริโภคอาหารเลย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย