ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ในตำนานอุรังคธาตุ มีการกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธองค์พร้อมพระอานนท์
และหยุดอยู่ที่แคมหนองคันแทเสื้อน้ำ (ริมฝั่งหนองคันแทเสื้อน้ำ)
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน
พระองค์ได้พยากรณ์เรื่องราวของบ้านเมืองที่จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเป็นสองระยะ คือ
ระยะเวลาร่วมสมัยพระเจ้าอโศกของอินเดีย เป็นเวลาของการสร้างเมืองเวียงจันทน์
และเรื่องพระอรหันต์นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่าง ๆ
ของพระพุทธองค์มาประดิษฐานไว้ตามสถานที่ที่พระพุทธองค์เคยกำหนดไว้
มีการกล่าวถึงชื่อของบุคคลสำคัญหลายชื่อในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตามพุทธทำนาย
รวมทั้งการสร้างเมืองที่ดอยนันทกังฮี (คือ เมืองหลวงพระบาง)
โดยอิทธิฤทธิ์ของฤษีตนหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นพุทธทำนายในช่วงระยะเวลาล่วงหน้าต่อไปอีก
(พุทธศตวรรษที่ 20 จนถึงสิ้นพุทธกาล
ที่มีช่วงระยะเวลาตอนหนึ่งคาบเกี่ยวอยู่กับประวัติศาสตร์ลาวล้านช้าง)
ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ปรากฏชื่อของบุคคลสำคัญอีกหลายชื่อ
ซึ่งเป็นการกลับชาติมาเกิดใหม่ตามผลกรรมที่เคยทำไว้
เรื่องราวที่เป็นพุทธทำนายในส่วนนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนโมลี
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ ในหนังสืออุรังคธาตุ
หรือตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร)ว่า
เป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
(พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา). 2537)
เรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุต่อจากนั้น
เป็นการเล่าเรื่องพระพุทธองค์ได้เสร็จล่องใต้ผ่านตามสถานที่ต่าง ๆ
ซึ่งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำโขง และเกิดเป็นนิทานปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้น ๆ
(ตามแนวเขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ลงไปทางใต้)
และทรงพำนักที่ดอยกัปปนคีรีหรือภูกำพร้า (คือ บริเวณที่ตั้งพระธาตุพนม)
พญาศรีโคตรบูรได้มานิมนต์พระพุทธองค์เข้าไปรับบิณฑบบาตรที่ในเมือง
และทรงถือบาตรของพระพุทธองค์มาส่งยังภูกำพร้า
โดยได้ตั้งอานิสงส์ความปรารถนาที่จะเข้าสู่พุทธภูมิเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคต
ในครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสพยากรณ์แก่พระอานนท์ถึงอนาคตของพญาศรีโคตรบูรว่า
จักได้ไปเกิดที่เมืองร้อยเอ็ดชาติหนึ่ง และจะได้ไปเกิดเป็นพญา
สุมิตตธรรมวงศาที่เมืองมรุกขนครอีกชาติหนึ่ง
ในชาตินี้จึงจะได้ประดิษฐานพระอุรังคธาตุไว้ที่ภูกำพร้า ซึ่งคือพระธาตุพนม
จากนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับ โดยที่แวะเมืองหนองหานหลวง
เทศนาธรรมให้พญาสุวรรณภิงคารฟัง พร้อมประทับรอยพระบาทไว้ แล้วเสด็จไปยังดอยลูกหนึ่ง
ทรงเรียกพระมหา กัสสปะมาจากนครราชคฤห์ (หมายถึง อินเดีย)
สั่งเสียว่าเมื่อพระองค์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ให้นำพระ อุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก)
มาไว้ที่ภูกำพร้า แล้วเสด็จไปที่ภูกูเวียน (คือ บริเวณภูพาน เขตจังหวัดอุดรธานี)
ในตอนนี้มีเรื่องแทรกที่เป็นนิทานปรัมปราถึงเหตุที่ทำให้เรียกพื้นที่แห่งนั้นว่า
ภูกูเวียน
ในครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับไปกดรอยพระบาทไว้ที่ดอยนันทกังฮี
และพยากรณ์ว่าเวียงที่หนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์สมัยพระเจ้าอโศก) นั้นว่า
ภายหลังจะเสื่อมสูญไป ในกาลต่อไปจึงมีพญาตนหนึ่ง (หมายถึง
พระเจ้าฟ้างุ้ม-กษัตริย์ราชอาณาจักรลาวล้านช้าง)
จะมาทำนุบำรุงและประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้เจริญขึ้นในที่นี้ (คือ เมืองหลวงพระบาง)
และภายหลังเมืองแห่งนี้จะเสื่อมลง
พระพุทธศาสนาจะกลับไปเจริญรุ่งเรืองขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์สืบต่อไป
ตำนานในความหมายของการเป็นรากฐานอารยธรรม
ความสำคัญตำนานอุรังคธาตุ
สาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุ
การลำดับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ช่วงระยะเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน 8 ปี
ช่วงร่วมระยะเวลาเดียวกันกับพระเจ้าอโศก
ช่วงระยะเวลาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ
พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ :
แคว้นศรีโคตรบูร
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร
บทส่งท้าย