ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ตำนานอุรังคธาตุ

พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ : แคว้นศรีโคตรบูร

ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งประเทศลาว และฝั่งภาคอีสานในประเทศไทย เป็นอาณาบริเวณที่มีความหลากหลายของผู้คนที่อาศัยอยู่ปะปนกันหลายกลุ่มชาติพันธุ์ และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ดังที่พบหลักฐานทางโบราณคดีและตำนานที่แสดงความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นรัฐโบราณ จากข้อมูลในตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม คือหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นได้ว่า ในท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้คนที่มีมาตั้งแต่อดีตในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ต่างได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวที่เป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญ คือ เจดีย์พระธาตุพนม ที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ดังที่ในตำนานอุรังคธาตุได้ระบุถึงเจดีย์พระธาตุพนม ว่า เป็นพระมหาธาตุเจดีย์องค์แรกสุดในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล อีกทั้งพระธาตุพนมยังเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณคือแคว้นศรีโคตรบูร อีกด้วย

ศรีศักร วัลลิโภดม (2533 : 8-32) ได้กล่าวถึงสาระสำคัญในตำนานอุรังคธาตุ ในอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของสภาพภูมิประเทศและการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่เป็นบ้านเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำโขงรวมทั้งภาคอีสานของไทยได้แก่ เมืองศรีโคตรบูร เมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เมืองสาเกตหรือเมืองร้อยเอ็ดประตู เมืองกุรุนทนครหรืออโยธยา เมืองอินทปัฐนคร และเมืองจุลณี บรรดาบ้านเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองหลวงของแคว้นที่สำคัญ ๆ ในยุคโบราณทั้งสิ้น โดยมีสี่เมืองแรกเป็นแว่นแคว้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้

แคว้นศรีโคตรบูร

ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่เขตจังหวัดหนองคายลงไปจนถึงเขตจังหวัดอุบลราชธานี ภูกำพร้าซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งพระธาตุพนมที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในแคว้นนี้มีมีศูนย์กลางของเมืองในระยะแรกตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ใกล้กับลำน้ำเซบั้งไฟซึ่งไหลมาออกแม่น้ำโขงฝั่งตรงกันข้ามกับพระธาตุพนม ในเวลาต่อมาจึงย้ายมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในบริเวณที่ปัจจุบันคือแถบอำเภอธาตุพนม ซึ่งเดิมเรียกชื่อว่า เมืองมรุกขนคร

แคว้นหนองหานหลวง

ตั้งอยู่บริเวณหนองหานสกลนคร เป็นที่ราบลุ่มตอนในของลุ่มแม่น้ำโขงทางฝั่งขวา ในแคว้นนี้มีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้แก่พระธาตุเชิงชุม ที่สร้างครอบรอย พระพุทธบาทไว้ และพระธาตุนารายณ์เจงเวงซึ่งบรรจุพระอังคารธาตุ (เถ้ากระดูก) ของพระพุทธเจ้า

แคว้นหนองหานน้อย

อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของหนองหานหลวง คือ บริเวณ หนองหารกุมภวาปี หรือหนองหารน้อย หรือคือบริเวณอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แคว้นนี้ไม่ได้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง แต่อยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มตอนเหนือของลำน้ำชี หนองหานน้อยเป็นแหล่งต้นน้ำของ ลำน้ำปาว ซึ่งไหลลงไปทางใต้ไปรวมกับลำน้ำชีในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์



แคว้นสาเกต

หรือร้อยเอ็ด มีลักษณะเช่นเดียวกันกับแคว้นหนองหานน้อย คือไม่ได้อยู่ในที่ราบลุ่มของแม่น้ำโขง แต่อยู่ไกลลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ในบริเวณที่มีลำน้ำชีไหลผ่าน เป็นบริเวณที่เป็นเขตจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

ส่วนอีกสามแคว้นคือ แคว้นกุรุทนครหรืออโยธยา แคว้นจุลณี และแคว้นอินทปัฐ เป็นแคว้นที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แคว้น กุรุนทนครหรืออโยธยา อยู่ห่างไปทางตะวันตก แคว้นจุลณีอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขงในเขตตังเกี๋ยของเวียดนามซึ่งในแม่น้ำโขงระยะนั้นคงเป็นเขตแคว้นของพวกเวียดนาม ส่วนแคว้นอินทปัฐนั้นคือ กัมพูชาสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้จากจังหวัดอุบลราชธานีลงไป ชื่อแคว้นอินทปัฐนี้มีกล่าวถึงในตำนานหลาย ๆ เรื่อง เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำ เป็นต้น

ในบรรดาบ้านเมือง หรือแคว้นทั้งหมดนั้น จัดว่าเป็นบ้านเมืองที่มีอายุอยู่ในสมัยเริ่มแรกตามที่มีกล่าวถึงในตำนานอุรังคธาตุ โดยเฉพาะในระยะที่มีการก่อสร้างพระธาตุพนม ระยะต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเมืองขึ้น แต่ว่ามีกล่าวอยู่เฉพะในบริเวณที่อยู่ใกล้กับพระธาตุพนมเท่านั้น คือ แคว้นหนองหานหลวง และแคว้นหนองหานน้อย เกิดน้ำท่วมล่มจม เป็นเหตุให้ผู้คนอพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณหนองคันแทเสื้อน้ำริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคายและเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองศรีโคตรบูร ต่อมาท้องถิ่นบริเวณนี้เจริญขึ้นมาเป็นนครเวียงจันทน์ ในขั้นแรกยังเป็นส่วนหนึ่งของเมืองศรีโคตรบูร แต่ต่อมาเมืองมรุกขนครซึ่งเป็นเมืองหลวงสลายตัวล่มจมไป เวียงจันทน์จึงกลายเป็นเมืองสำคัญของแคว้นขึ้นมาแทน

ตำนานในความหมายของการเป็นรากฐานอารยธรรม
ความสำคัญตำนานอุรังคธาตุ
สาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุ
การลำดับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ช่วงระยะเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน 8 ปี
ช่วงร่วมระยะเวลาเดียวกันกับพระเจ้าอโศก
ช่วงระยะเวลาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ
พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ : แคว้นศรีโคตรบูร
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร
บทส่งท้าย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย