ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ตำนานอุรังคธาตุถือได้ว่ามีความสำคัญต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน
และบ้านเมืองในบริเวณแอ่งสกลนครเป็นอย่างยิ่ง
เพราะตำนานได้กล่าวถึงภูมิหลังของการเกิดขึ้นของเมืองและสถานที่ต่าง ๆ
ตามภูมิศาสตร์ในตำนาน และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น
ตั้งแต่สมัยตำนานจนถึงสมัยประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง อย่างไรก็ตาม
บทบาทและความสำคัญดังกล่าวได้สืบทอดต่อมายังชุมชน
บ้านเมืองในอาณาบริเวณแอ่งสกลนครในสมัยหลัง ๆ ลงมาอีกด้วย ถึงแม้ว่าเมืองต่าง ๆ
ในปัจจุบัน
ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่เกิดใหม่ภายหลังที่ศูนย์กลางที่เวียงจันทน์จะล่มสลายไปแล้ว
แต่ศาสนสถานสำคัญที่พระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม และที่อื่น ๆ ยังคงมีอยู่
ผู้คนกลุ่มใหม่ที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อเข้ามาตั้งบ้านเมืองในบริเวณแอ่งสกลนคร
ได้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของกลุ่มบ้านเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานอุรังคธาตุ
ลักษณะและความสำคัญของตำนานอุรังคธาตุอีกประการหนึ่งคือ
การประสานความหลากหลายของกลุ่มชนและผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้คติแบบพุทธศาสนา
โครงเรื่องส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนของตำนานพระเจ้าเลียบโลก คือ
พระพุทธองค์เสด็จผ่านมายังดินแดนต่าง ๆ ในแถบอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง
ได้พบกับเจ้าถิ่นดั้งเดิมที่ตำนานกล่าวว่าเป็นนาค ผี หรือยักษ์
และได้ทรงทรมานให้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา
มีการขอประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อสักการะบูชา มีการสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบ
เช่น ที่พระธาตุเชิงชุมที่สกลนคร มีพุทธทำนายถึงการตั้งบ้านเมืองตามสถานที่ต่าง ๆ
กับมีพุทธดำรัสสั่งให้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์เมื่อทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว
โดยบ้านเมืองจะได้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายหน้า
ในตำนานอุรังคธาตุยังกล่าวถึงการที่เหล่านาคและฤๅษีต่างพร้อมใจกันอุปถัมภ์เฝ้าดูแลปกป้องพระพุทธศาสนา
คอยเฝ้าบำเพ็ญเพียรบารมีจนกว่าจะได้บรรลุพระนิพพานในที่สุด
แสดงถึงความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมต่าง ๆ
ที่อยู่ภายใต้จุดมุ่งหมายสูงสุดคือพระพุทธศาสนา
การลดสถานะของความเชื่อดั้งเดิมดังกล่าวนี้จะเห็นได้อีกกรณีของเรื่องแถน
ซึ่งเป็นคติสูงสุดของกลุ่มคนไท-ลาว มาแต่โบราณ
ผู้คนได้รับแนวคิดพุทธศาสนามาผสมผสานให้แถนต้องลดสถานะเป็นเพียงเทพองค์หนึ่งในคติพุทธศาสนา
ทำหน้าที่เฝ้าปกปักรักษาคุ้มครองพุทธศาสนิกชน โดยเปรียบเทียบกับเทวดาในพระพุทธศาสนา
คือ พระอินทร์ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของแถนกับพระอินทร์มีลักษณะคล้ายกัน
หรือกล่าวได้ว่าเป็นคติที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของโลกมนุษย์ และความอุดมสมบูรณ์
ความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ สามารถแบ่งเป็น 3
ระดับ คือ ระดับแรก เครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับรัฐหรือเมืองภายในพื้นที่
ระดับที่สอง
เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองหรือกับอำนาจในท้องถิ่นของคนพื้นเมือง
ระดับที่สาม คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงกับรัฐภายนอก
โดยตำนานสร้างพื้นที่ทางสังคมจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของระบบครอบครัวและเครือญาติ
ดังเนื้อหาเสนอว่าพญาทั้งห้าพระองค์มาสร้างอูบมุงปิดพระธาตุแล้วกลับชาติไปเกิดใหม่อยู่ในเมืองต่าง
ๆ และเป็นพี่น้องร่วมญาติ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. 2521)
พญาทั้งห้าพระองค์กลับมาเกิดใหม่หลายชาติในหลายเมือง
ทั้งเป็นพี่น้องร่วมท้องกันหรือเครือญาติกัน
และการสร้างความสัมพันธ์กันด้วยการแต่งงาน การส่งเครือญาติไปปกครอง
หรือการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
อันเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ร่วมกัน
ส่วนความสัมพันธ์ในระดับผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองนั้น
เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันโดยผลประโยชน์
อำนาจการปกครองตามจารีตความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนา ดังข้อสังเกตจากตำนาน
อุรังคธาตุแสดงให้เห็นว่า บุรีจันอ้วยล้วยแห่งหนองคันแทเสื้อน้ำ
ได้ขึ้นเป็นพญาเพราะได้รับการช่วยเหลือจากนาคและเทวดา แสดงให้เห็นว่า
บุรีจันอ้วยล้วยเป็นผู้กว้างขวาง และมีทั้งพระเดชกับพระคุณต่อนาค
ซึ่งหมายถึงผู้คนในท้องถิ่น โดยมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้นาคอยู่สม่ำเสมอ
ภายหลังเป็นท้าวบุรีจันแล้ว
ทั้งนาคและเทวดาต่างมีบทบาทในการรับผิดชอบดูแลอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายในนครอีกด้วย
โดยให้เทวดาดูแลตั้งแต่คุ้มเหนือไปคุ้มใต้ ส่วนนาคนั้นให้รักษาศรีเมืองทั้งห้าแห่ง
ภายใต้จารีตประเพณีเดิมและพุทธศาสนา
ส่วนเทวดาและนาคคงเป็นข้าราชบริพารและผู้คนพื้นเมืองในท้องถิ่น
ดังนั้นชนพื้นเมืองเดิมในสุวรรณภูมิจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์
ในที่นี้จึงกล่าวได้ว่าภูกำพร้า
ซึ่งเป็นบริเวณสถานที่ตั้งเจดีย์พระธาตุพนม
จึงเป็นทั้งพื้นที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอก
เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะและอาณาบริเวณพรมแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเมืองหรือรัฐโบราณในภูมิภาค
พื้นที่ภูกำพร้าเป็นที่เชื่อมโยงกันของแม่น้ำหลายสาย
เป็นจุดศูนย์กลางร่วมกันของพื้นที่ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ
อุดมมั่งคั่งด้วยแหล่งอาหารจากป่า
เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อทางการค้าขายของเครือข่ายเมืองหรือรัฐโบราณมาตั้งแต่อดีต
(มหาสิลา วีระวงส์. 2535 : 118) จึงกล่าวได้ว่า ภูกำพร้าหรือชุมชนบ้านเมือง
ที่ป็นบริเวณที่ตั้งพระธาตุพนม
เป็นบ้านเมืองที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงกับบ้านเมืองที่อยู่ในบริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและบ้านเมืองที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
รวมทั้งเวียดนามกลาง และอยุธยา
หรือมีสถานะเป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยที่เป็นรัฐแบบจารีต
นอกจากนี้
เรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุยังมีประเด็นที่เป็นการบรรยายให้เห็นสภาพของพื้นที่
ที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพบริเวณภูกำพร้า หรือบริเวณพระธาตุพนม
ที่บรรจุพระอุรังคธาตุว่าเป็นบริเวณพื้นที่ศูนย์กลางบรรจบกันระหว่างแม่น้ำหลายสาย
คือ แม่น้ำโขงทางทิศเหนือและทิศใต้ ลำน้ำก่ำทางทิศตะวันตก
และลำน้ำเซบั้งไฟทางทิศตะวันออก
เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญที่พญาทั้งหลายมาร่วมประกอบพิธีกรรม
สร้างภูกำพร้าให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ พระธาตุพนม
และเชื่อมโยงกับอำนาจของผู้ปกครองที่มีอยู่ในท้องถิ่น
รวมทั้งผู้คนในแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
พญาทั้งห้าพระองค์จึงเป็นตัวแทนอำนาจของเมืองทั้ง 5 คือ ศรีโคตรบูร หนองหานหลวง
(สกลนคร) หนองหานน้อย (กุมภวาปี) อินทปัฐ (เมืองพระนคร หรือกัมพูชา) และเมืองจุลณี
(เมืองเว้ในเวียดนาม)
รวมทั้งยังแสดงให้เห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างพญาเมืองอื่นอีกหลายเมือง
จึงกล่าวได้ว่า
ตำนานอุรังคธาตุเป็นตำนานสำคัญแสดงให้เห็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมผ่านพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางความคิดของคนลุ่มแม่น้ำโขงสมัยโบราณ
ผ่านการเชื่อมโยงความเชื่อดั้งเดิม กลุ่มชนดั้งเดิม และเส้นทางการเดินทาง
การเล่าเรื่องการประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธองค์
คือการสร้างภาพตัวแทนความจริงของการประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาหลักของแต่ละบ้านแต่ละเมือง
เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ภายในของคนกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำโขงสมัยโบราณ สมัยล้านช้าง
จนถึงปัจจุบัน
การอ่านตำนานอุรังคธาตุและศึกษาวิเคราะห์ในมิติสังคมวัฒนธรรม
จึงทำให้ทราบได้ว่า ตำนานอุรังคธาตุมิได้เป็นแต่เพียงตัวบทที่เป็นพุทธตำนานเท่านั้น
แต่ยังมีความหมายของการเป็นภูมิตำนาน หรือเป็นของภูมินาม
และเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์
ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของเครือข่ายความสัมพันธ์ของพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ตำนานในความหมายของการเป็นรากฐานอารยธรรม
ความสำคัญตำนานอุรังคธาตุ
สาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุ
การลำดับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ช่วงระยะเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน 8 ปี
ช่วงร่วมระยะเวลาเดียวกันกับพระเจ้าอโศก
ช่วงระยะเวลาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ
พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ :
แคว้นศรีโคตรบูร
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร
บทส่งท้าย