ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ตำนานอุรังคธาตุ

บทส่งท้าย

เมื่อนำสาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุตามการรับรู้ของชาวบ้าน ที่อธิบายความเป็นมาของพระธาตุพนม ทำให้เข้าใจได้ถึงวิธีคิดของชาวบ้านซึ่งเป็นสังคมชาวพุทธ ที่ได้นำแบบแผนที่เป็นชุดความรู้ และความเชื่อตามแนวพุทธศาสนามาเป็นกรอบในการสร้างตำนานเพื่อเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของพระธาตุพนม ว่ามีแบบแผนในการสร้างตำนานที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ที่มีต้นแบบมาจากลังกา ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโดยรวมจะเห็นได้ว่า สาระที่สำคัญที่สุดของตำนานอุรังคธาตุ คือการเล่าเรื่องในลักษณะที่เป็นศาสนประวัติ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่การเล่าเรื่องประวัติการสร้างพระธาตุพนม ว่าเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่มีอายุเก่าที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งยังมีลักษณะของการเล่าเรื่องประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนาเมื่อแรกเริ่มในดินแดนราชอาณาจักรลาว-ล้านช้าง ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงอาณาบริเวณภูมิภาคอีสานที่อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงด้วย


อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุยังมีลักษณะเฉพาะของความเป็นท้องถิ่นอยู่ค่อนข้างมาก เรื่องเล่าจากตำนานอุรังคธาตุ ได้นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กับเวลาและสถานที่ที่มีอยู่จริง ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของโครงเรื่องในตำนานอุรังคธาตุในมิติด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม พบได้ว่าเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ มีแก่นเนื้อหาที่สำคัญใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1). มีเนื้อหาอธิบายสภาพทางภูมิศาสตร์และอาณาบริเวณสถานที่ โดยเฉพาะสถานที่ในการรับรู้ของกลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างตำนาน ซึ่งในที่นี้คือดินแดนในราชอาณาจักรลาวล้านช้าง ดินแดนในราชอาจักรไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน และรวมถึงอาณาบริเวณบ้านเมืองที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง 2). มีเนื้อเรื่องในลักษณะของการสร้างบ้านแปงเมือง หรือการแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นมาและการตั้งหลักแหล่งของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงเรื่องราวของแหล่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อแบบดั้งเดิม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคติในพุทธศาสนา 3). เป็นการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองกับผู้คน และกับโบราณวัตถุสถานที่เนื่องในศาสนา โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และการสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์ให้เป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง ซึ่งในที่นี้คือการประดิษฐานพระอุรังคธาตุที่พระธาตุพนม และ 4). เป็นการแสดงรายละเอียดเกี่ยวที่เกี่ยวกับการลำดับเครือญาติ หรือการลำดับสกุลวงศ์ของเจ้าเมือง หรือที่เรียกว่าตำนานเมือง ซึ่งในที่นี้คือการลำดับพระราชวงศ์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของตำนานอุรังคธาตุ ทำให้เห็นได้ว่าตำนานคือชุดความรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อสังคม ในขณะเดียวกันตำนานอุรังคธาตุยังมีความหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของสังคม กล่าวได้ว่าเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุคือภาพสะท้อนของสังคม ทั้งในส่วนที่เป็นค่านิยม ความคิด และความเชื่อของผู้คนในสังคม และที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่เกิดจากรากเหง้าของความเป็นท้องถิ่น และความป็นพื้นบ้านพื้นเมืองอย่างแท้จริง

เรื่องราวและเหตุการณ์ในตำนานอุรังคธาตุได้แสดงให้เห็นว่า ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐโบราณ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะกันทางความเชื่อสองกลุ่มใหญ่ คือ ความเชื่อเรื่องนาคและวิญญาณนิยม ที่เป็นความเชื่อดั้งเดิม กับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง สถานที่ต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาท ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่คนในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติครอบครองอยู่แล้ว การประทับรอยพระพุทธบาทและการร่วมฐาปนาพระอุรังคธาตุของเจ้าเมืองทั้งหลาย มีความหมายถึงการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทับซ้อนพื้นที่สาธารณะ ที่มีความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แต่ละรัฐโบราณในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงต่างก็มีการสร้างเครือข่ายทางสังคมร่วมกัน ด้วยการเป็นเครือญาติกัน สร้างความเชื่อร่วมกัน หรือสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของของผู้คนและบ้านเมืองจากตำนานอุรังคธาตุ พบว่าสาระสำคัญของตำนานได้ให้ความสำคัญกับพระธาตุพนมในสถานะของการเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระ อุรังคธาตุ ว่า เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของมหาชน และเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง อุรังคนิทานได้กล่าวถึงเส้นทางเสด็จของพระพุทธเจ้ามายังดินแดนในบริเวณสองฟากฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง โดยเสด็จผ่านมายังแว่นแคว้นต่าง ๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เส้นทางดังกล่าวมีความหมายแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยเริ่มจากบริเวณเมืองเวียงจันทน์ตลอดลงมาสู่เมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขงและบริเวณภาคอีสานของไทย เช่น เมืองศรีโคตรบูรหรือเมืองมรุกขนคร เมืองหนองหานหลวง เมืองพานที่ภูกูเวียน เป็นต้น หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ตำนานอุรังคธาตุคือหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อ และความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะในส่วนที่เนื่องในพุทธศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อใหม่ ที่เจ้าเมืองของรัฐโบราณในแถบลุ่มแม่น้ำโขงรับมาประสมประสานเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มาก่อน และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นรากฐานทางอารยธรรมของผู้คนในภูมิภาคอีสาน และบริเวณใกล้เคียงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนานในความหมายของการเป็นรากฐานอารยธรรม
ความสำคัญตำนานอุรังคธาตุ
สาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุ
การลำดับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ช่วงระยะเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน 8 ปี
ช่วงร่วมระยะเวลาเดียวกันกับพระเจ้าอโศก
ช่วงระยะเวลาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ
พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ : แคว้นศรีโคตรบูร
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร
บทส่งท้าย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย