สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การควบคุมทางสังคม

การขัดเกลาทางสังคม

ในหนังสือเรื่อง "สังคมและวัฒนธรรม" บทที่ 3 การขัดเกลาทางสังคม โดย รศ. สุพัตรา สุภาพ ได้กล่าวถึงการขัดเกลาทางสังคม (socialization) มีข้อความบางตอนดังนี้

1. ความมุ่งหมายของการขัดเกลาทางสังคม อาจแบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ

  • ปลูกฝังระเบียบวินัย (Basic Discipline) ระเบียบวินัยเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กลุ่มได้กำหนดไว้ เป็นการฝึกให้มีความอดกลั้นที่จะทำตามความพอใจของตนเองเพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า เช่น เด็กไม่น้อยไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่ต้องพยายามเรียนเพราะพ่อแม่บังคับหรือเรียนเพราะอยากได้ความรู้ หรือเป็นทหารต้องฝึกอย่างหนักจะได้เป็นทหารที่มีสมรรถภาพ สามารถป้องกันประเทศได้ดี เป็นต้น

    ระเบียบวินัยจึงมีผลต่อบุคลิกลักษณะและความประพฤติของบุคคล โดยบุคคลจะเกิดความเคยชินและจะทำไปโดยไม่รู้ตัว เช่น เคยตื่นแต่เช้า พอถึงเวลาจะตื่นขึ้นไม่ว่าอยากตื่นหรือไม่ก็ตาม หรือคนที่เคยรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลางจะเกิดความเคยชินและหากไม่มีช้อนกลางจะรับประทานไม่ค่อยลง เป็นต้น
  • ปลูกฝังความมุ่งหวัง (Aspiration) ความมุ่งหวังช่วยให้บุคคลมีกำลังใจทำตามระเบียบวินัยต่าง ๆ เช่น อยากได้ปริญญา ก็ต้องเรียนหนังสือ อยากได้เลื่อนขั้นก็ต้องขยันทำงาน ส่วนมากมักจะมุ่งหวังในสิ่งที่สังคมยกย่องหรือถือว่าดีงาม จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรามีกำลังใจ หรือบังคับตัวเองให้ปฏิบัติตามระเบียบวินัยไม่ว่าจะพอในหรือไม่ก็ตาม เพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนเองหวังไว้
  • สอนให้รู้จักบทบาทและทัศนคติต่าง ๆ (Social Roles and Supporting Attitudes) เป็นการรู้จักแสดงบทบาทอย่างเหมาะสมตามวาระและโอกาสต่าง ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะบทบาทของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน จึงควรที่จะเรียนรู้และทำตามบทบาทของตนให้ดีที่สุด เช่น นายกับลูกจ้าง นักเรียนกับครู ต่างมีบทบาทต่างกัน มีกฎเกณฑ์ ท่าที บุคลิกภาพ ลักษณะต่างกันออกไป เช่น ครูต้องมีเมตตาอดทนต่อการดื้อรั้นของเด็ก เป็นนักเรียนต้องตั้งใจเรียน ไม่เกียจคร้าน เป็นพ่อต้องเลี้ยงลูก เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ อบรมสั่งสอนด้วยการทำตัวให้ดีที่สุด เป็นพนักงานขับรถต้องรู้กฎจราจร เป็นนายต้องเฉลียวฉลาด รู้จักสั่งงาน เป็นต้น
  • สอนให้มีทักษะ (Skills) เป็นการเตรียมบุคคลให้มีความชำนาญเฉพาะอย่าง เช่น การประกอบอาหาร การเขียนจดหมาย การใช้โทรศัพท์ การเป็นวิศวกร การเป็นแพทย์ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การสั่งอาหาร เป็นต้น เพื่อสังคมจะได้รับประโยชน์จากสมาชิกในหลาย ๆ ด้าน เรื่องทักษะนี้เป็นสิ่งที่มีการเน้นและขัดเกลาในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่เจริญแล้วหรือล้าหลังก็ตาม โดยในสังคมที่ล้าหลังจะเรียนรู้ด้วยการลอกเลียนแบบหรือสัมผัสกับชีวิตจริง เช่น ล่าสัตว์ ทอผ้า ทำนา เป็นต้น ส่วนในสังคมที่เจริญแล้วจะสอนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ด้วยการเรียนจากสถาบันต่าง ๆ เช่น แพทย์ วิศวะ พยาบาล จิตวิทยา ช่างกล ช่างไม้ เป็นต้น ทำให้บุคคลมีความถนัดเฉพาะอย่างในการที่จะประกอบอาชีพหรือช่วยเหลือกันต่อไป เช่น เจ็บป่วยก็ไปหาหมอ รถเสียก็ต้องหาช่างแก้ไข อยากสร้างบ้านก็ต้องหาสถาปนิก เป็นต้น หรือสอนกันเองในครอบครัว เช่น แม่สอนลูกให้ทำกับข้าว เย็บเสื้อผ้า พ่อสอนให้ซ่อมเครื่องใช้ ทำนา ทำไร เป็นต้น

 

2. ตัวแทนของการขัดเกลาทางสังคม มีอยู่ 6 กลุ่ม คือ

  • สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานที่ขัดเกลามนุษย์ให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรืออะไรถูกอะไรผิด เป็นต้น เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างลึกซึ้ง และมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ทัศนคติ และความประพฤติของเด็กเป็นอย่างยิ่ง
  • กลุ่มเพื่อน เป็นกลุ่มที่มีอายุระดับใกล้เคียงกันโดยอาจจะรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อนธรรมดาจนถึงชมรม สมาคมที่ตนสนใจ เช่น เพื่อนร่วมชั้น ชมรมฟุตบอล เนตบอล สมาคมนักเรียนเก่า ฯลฯ
  • โรงเรียน โรงเรียนเสมือนเป็นบ้านที่สองของเด็กในการที่จะได้รับความรู้ความคิดต่าง ๆ และวิชาการต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญในเรื่องการให้การขัดเกลาแก่เด็ด ตลอดจนทำให้เด็กมีโอกาสพบปะสมาคมกันเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการขัดเกลาของโรงเรียนอาจจะ ไม่ตรงกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กเลยสับสนไม่ทราบว่าของใครจะถูกกว่ากัน เช่น แม่ว่าอย่าง ครูว่าอีกอย่าง ครูว่าผิด แม่บอกว่าถูก ครูว่าไม่ดี พ่อแม่ว่าดี เป็นต้น อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ สอนในลักษณะที่เป็นทฤษฎีหรืออุดมคติจนเกินไป อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ปฏิบัติในชีวิตจริง เช่น ทำดีได้ดี แต่เด็กเห็นคนทำชั่วได้ดี ส่วนคนทำดีได้ชั่ว เด็กอาจจะเสื่อมศรัทธาได้
  • กลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีคุณค่าหรือระเบียบกฎเกณฑ์ไปตามอาชีพของตน เช่น ครูต้องสอนลูกศิษย์ด้วยความเมตตา นักสังคมสงเคราะห์ไม่เปิดเผยความลับของผู้มารับการสงเคราะห์ แพทย์รักษาคนไข้ด้วยจรรยาบรรณ ไม่เห็นแก่เงิน เป็นต้น แต่ละอาชีพจึงมีบุคลิกภาพแตกต่างกันไป เช่น ตำรวจก็แตกต่างจากแพทย์ นางพยาบาลก็แตกต่างจากพ่อค้า ครูแตกต่างจากวิศวกร
  • ตัวแทนศาสนา เป็นตัวแทนที่ขัดเกลาคนหรือแนะแนวทางให้คนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อเป็นเป้าหมายในการกระทำ โดยเฉพาะศาสนาพุทธได้สอนให้คนเราไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะหลายสิ่งในโลกไม่มีความแน่นอน จึงต้องยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม มีศีลธรรม จริยธรรม และความประพฤติในทางที่ถูกที่ควร
  • สื่อมวลชน สื่อมวลชนเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ นวนิยาย วรรณคดี เป็นต้น ซึ่งมีส่วนในการขัดเกลาทางสังคมแก่มนุษย์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ความคิด ความเชื่อแบบของความประพฤติ เพราะสื่อมวลชนมีทั้งการให้ความรู้และความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะอิทธิพลของสื่อมวลชนที่สำคัญคือการให้ข่าวสาร ข่าวสารนี้มักเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารนนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ และผู้จัดทำ มีส่วนช่วยครอบครัว โรงเรียนในการขัดเกลา เช่น หนังสือพิมพ์เสนอข่าวเด็กเรียนดี พ่อแม่อาจจะสั่งให้ลูกอ่านเพื่อเป็นการเอาเยี่ยงอย่าง หรือครู ปัจจุบันก็สั่งให้นักเรียนตัดข่าวเก็บข่าวมารายงานหน้าชั้นหรือติดที่บอร์ดหน้าห้อง หรือกลุ่มเพื่อนเห็นแฟชั่นแปลก ๆ ใหม่ ๆ อาจจะลอกเลียนแบบไปก็ได้เพื่อให้เข้าสมัยนิยม

    อิทธิพลของสื่อมวลชนนี้จะมีมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของครอบครัวว่าได้สอนลูกมาให้รู้จักเหตุและผล หรือเลือกเฟ้นข่าวสารต่าง ๆ ได้แค่ไหน หรือขึ้นอยู่กับเจตคติของแต่ละบุคคลต่อสิ่งที่ตนได้รับ

ตัวแทนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในการหลอมหล่อบุคลิกภาพของบุคคลตามที่สังคมต้องการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. จากเรื่องย่อข้างบนทำให้ทราบว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากอย่างยิ่งในการอบรมเลี้ยงดูบุตร การเลี้ยงดูบุตรต้องใช้ความอดทน ความมานะอย่างสูง เพราะ เด็กจะมีการเลียนแบบพ่อแม่ อย่างลูกสาวก็จะเรียนแบบแม่ ลูกชายจะเรียนแบบพ่อ ถ้าพ่อแม่ใช้คำหยาบลูกก็จะใช้คำหยาบด้วย พ่อแม่สกปรก เกียจคร้าน ลูกก็จะเลียนแบบอย่างนั้น
  2. ในการเลี้ยงดูจะต้องให้ความรักความอบอุ่นกับเด็ก การสร้างกิจกรรมร่วมกันกับเด็ก ให้เวลากับลูกอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กรักในสถาบันครอบครัว ปัญหาการฆ่าตัวตายก็จะลดลง เพราะเด็กได้รับคำปลอบประโลมจากพ่อแม่ ได้รับการให้กำลังใจเพื่อทำให้เขาสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไม่ย่อท้อ
  3. ตามทฤษฎีของอีริคสัน (Erikson's theory) จะพบว่าในขั้นที่ 3 (Initiative Versus Guilt) ช่วง 3-5 ปี และในขั้นที่ 4 (Industry Versus Inferiority) ช่วง 6-12 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มพัฒนาความคิดเรื่องความรู้สึกบาป พัฒนาความรู้สึกขยันและ ความรู้สึกด้อย จึงเป็นช่วงที่ควรเอาใจใส่เด็กเป็นพิเศษ
  4. โรงเรียนและผู้ปกครองของเด็กควรจะมีการร่วมกันพัฒนาเด็กในด้านจิตใจเพื่อให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ เป็นคนเก่งด้วยปัญญา มีคุณภาพ เป็นคนดีด้วยคุณธรรม และมีสุขภาพ มีความสุขในสังคม กล่าวอย่างสั้น ๆ คือ ให้เป็นคนเก่ง คนดี มีสุข
  5. การลงโทษที่รุนแรงเกินไป และขาดการชี้แจง จะทำให้เด็กเข้าใจผิดคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก การลงโทษที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพ่อแม่ จะทำให้เด็กสับสน ไม่รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ อันจะนำไปสู่การกระทำผิดได้
  6. ความแตกแยกของครอบครัว อันเกิดขึ้นจากการหย่าร้างการแยกกันอยู่หรือการตายจากไปของบิดามารดาจะมีผลต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กเป็นอย่างยิ่งซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
  7. โรงเรียนไม่ควรจะปลูกฝังเด็กให้เป็นคนรักการเรียนแต่ควรปลูกฝังให้เด็กเป็นคนที่รักจะทำความดีด้วย ดังพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเยาวชนในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้คือ "ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี"
  8. ศาสนาเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนมีศีลธรรม จริยธรรม รู้สำนึกในผิดชอบ-ชั่วดี จึงควรให้มีหลักสูตรการสอนศาสนาในระดับปริญญาตรีด้วย
  9. ศาสนาใดก็ตามนอกจากจะมีหน้าที่สอนให้คนทำดีแล้วยังต้องส่งเสริมสนับสนุนกันและกันดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ศาสนาใด ๆ จะมีชื่อว่าอะไรก็ตาม ต้องส่งเสริมสนับสนุนกันเพื่อความเป็นอยู่เป็นปึกแผ่นของสังคม ฉะนั้นที่ศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทยปรองดองกันดีพอสมควรเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้บ้านเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุขได้"
  10. ช่วงชีวิตวัยใด ๆ ก็ตามอย่าเป็นคนที่ มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ มองแคบ คือ มัวแต่มองกันไปมองกันมาอยู่ข้างในกลุ่มตัวเอง เหมือนกับไก่ในเข่งที่เขาจะเอาไปทำเครื่องเซ่นไหว้ตอนตรุษจีนก็ยังตีกันอยู่ในเข่ง ถ้ามองกว้างออกไปภายนอก จะเห็นสภาพความเป็นไป มองเห็นปัญหาของมนุษยชาติ มองเห็นปัญหาของโลก คิดใกล้ คือ คอยรอ คอยตามรับจากเขา จึงคิดใกล้หรือคิดสั้น ไปหยุดไปตันแต่ที่เขาทำเท่านั้นเอง เราไม่คิดเลยหน้าไปไกลกว่าเขา ใฝ่ต่ำ คือ หวังลาภยศ มุ่งจะหาวัตถุบำรุงบำเรอความสุขและความลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่กับการเสพอามิส

ที่มา :
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์
4 มีนาคม 2541

ภาวะสังคมในสหรัฐอเมริกา
ภาวะวิกฤตทางสังคมไทย
วิกฤตสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์และทางออก
การขัดเกลาทางสังคม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย