ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ความแตกต่างระหว่างเครื่องรางของขลังและพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีสิ่งที่สำคัญที่สุด 3 ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เปรียบได้เป็น พระรัตนตรัย ความหมายคือ แก้ว 3 ประการ หรือ แก้ว 3 ดวง
เป็นของวิเศษที่มีค่ามาก หรือประเสริฐที่สุด รวมเรียกว่าเป็นสรณะ ความหมายคือ
ที่พึ่ง
สรณะในพุทธศาสนา มีความหมาย คือ ที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวและกำจัด ทำลาย
ความทุกข์และกิเลสที่เศร้าหมอง
เพราะพระพุทธเจ้าต้องการกำจัดทำลายภัยและความทุกข์ของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายด้วยการสั่งสอนให้คนเราเข้าไปหาในสิ่งที่เป็นประโยชน์และออกจากสิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์
พระธรรมนั้น เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
เพื่อให้มนุษย์ได้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ให้เข้าใจและรู้จักความทุกข์
เพื่อหลุดพ้นจากมันได้ และพระสงฆ์ เผยแพร่ศาสนาและคำสอนแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป
ให้เข้าใจถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
พุทธศาสนานั้นให้ความคุ้มครอง กำเลสกิเลสในใจที่หม่นหมอง
และช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องหวาดกลัวภัยอันตรายต่างๆ
ซึ่งการที่เราจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้นั้น
จะต้องมีจิตใจศรัทธาเลื่อมใสและประพฤติต่อพระรัตนตรัยด้วยความศรัทธาเลื่อมใสทั้งทางกาย
ทางวาจาและทางใจ มีจิตใจระลึกอยู่เสมอ
การที่เราระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่เสมอจะสามารถช่วให้เรามีความสุขและยังสามารถปกป้องคุ้มครองภัยเราได้อีกด้วย
การที่คนเราจะได้รับสิ่งที่เป็นมงคลหรือความสุขความเจริญนั้น เราไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งของหรือเครื่องรางใดใด เพียงแค่เรานำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาปฏิบัติโดยตรงเราก็สามารถมีความสุขความเจริญและสำเร็จในสิ่งที่ต้องการได้
ส่วนเครื่องรางของขลังนั้น เกิดขึ้นจากความไม่รู้และความหวาดกลัวต่อภัยอันตรายของมนุษย์ จึงพยายามแสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยวให้กับตนเอง เพื่อที่จะขจัดความกลัวนั้น อาจมีวิธีการมากมายหลายอย่าง แต่ในทางไสยศาสตร์ซึ่งมุ่งในทางฤทธิ์เดช เวทมนตร์คาถา ดังนั้น การมีเครื่องรางของขลังจึงเป็นการเชื่อถือในเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ โดยออกแบบ คิดค้นวิธีการ และสรรพคุณของเครื่องรางของขลังตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งเครื่องรางของขลังนี้จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ถึงจะเป็นรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากพุทธศาสนา แต่หัวใจหรือหลักของเครื่องรางของขลังชิ้นนั้น ก็จะมีคำสอนทางพุทธศาสนากำกับเป็นลักษณะของคาถา หรือ วิธีใช้อยู่เสมอ
ดังนั้น การที่สังคมโดยรวมสรุปว่า คนที่เชื่อถือในเรื่องเครื่องรางของขลังนั้นงมงาย ไร้เหตุผล ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่นับถือเครื่องรางของขลังนั้นก็ยังมีจิตใจระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสำคัญ ส่วนการนับถือเครื่องรางของขลังในรูปแบบต่างๆ เช่น ปลัดขิก หรือ ตะกรุด เป็นต้นนั้น เป็นเพราะความผสมผสานกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อของกลุ่มหลายกลุ่ม
สรุปได้ว่าความแตกต่างระหว่างการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง กับการยึดถือหลักเครื่องรางของขลังเป็นที่พึ่งนั้น อยู่ที่เราสามารถเข้าถึงพระรัตนตรัยได้ในระดับใด เพราะพระรัตนตรัยนั้นเป็นเครื่องระลึกให้เราดำรงชีวิตในลักษณะที่เราสามารถพัฒนากายและจิตใจของเราให้บริสุทธิ์และสะอาด แต่การยึดถือเครื่องรางของขลังเป็นที่พึ่งนั้น เราต้องยึดถือในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก ต้องปฏิบัติตามหลักของเครื่องรางของขลังอย่างเคร่งครัด เป็นความหลงที่ทำให้เราติดอยู่กับสิ่งนั้น เป็นการยากที่เราจะสามารถพัฒนากายและจิตใจของเราให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น เครื่องรางของขลังจงไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องรางของขลังกับพระพุทธศาสนา
ความสำคัญและประโยชน์ของการมีเครื่องรางของขลังในสังคมไทย
ความแตกต่างระหว่างเครื่องรางของขลังและพุทธศาสนา
สาเหตุที่ทำให้คนในสังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังฯ
ผลกระทบของเครื่องรางของขลังที่มีต่อสังคมไทย