ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เครื่องรางของขลัง

สาเหตุที่ทำให้คนในสังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง นอกจากการนับถือพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว

เพราะความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์นั้นมีมานานก่อนที่ศาสนาต่างๆจะถือกำเนิด ในยุคก่อนที่พุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าจะเกิดนั้น ศรัทธาหรือความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ได้ครอบงำจิตใจของคนทั่วไปมาก่อนแล้ว แต่ละคนต่างชาติ ต่างภาษา และต่างเผ่าพันธุ์ ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์แตกต่างกันไปในแบบของตนเอง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ยังไม่ได้ใช้ปัญญา แต่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ได้กระจ่างขึ้นเมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้าถือกำเนิดขึ้น พระพุทธเจ้าได้แสดงความจริงให้ทุกคนได้เกิดปัญญา ไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับเครื่องรางของขลัง หรือไสยศาสตร์

ชาวไทยพุทธในปัจจุบันนั้น แม้ว่าจะเป็นชาวพุทธ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกนั้น มักจะพึ่งพาไสยศาสตร์ พิธีกรรม และมักมีความเชื่อในเรื่องคำทำนายทายทักของคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของความศรัทธาและความเชื่อ เพราะในชนบทหรือในท้องถิ่นต่างๆนั้นยังมีความเชื่อและศรัทธาในเครื่งรางของขลังอยู่มาก

และเนื่องจากเรื่องของศรัทธาที่มีต่อศาสนานั้น เป็นเรื่องของนามธรรม สามารถสัมผัสได้ด้วยใจของผู้ที่ศรัทธาเท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสทางกายได้ ซึ่งเรื่องของชาตินี้ ชาติหน้านั้นเราไม่มีทางรู้ว่ามีจริงหรือไม่ หรือว่าเรื่องของกรรมดีและกรรมชั่ว ถึงแม้ว่าคนเราจะยึดถือและปฏิบัติตามพระรัตนตรัยนั้นแต่ยังต้องพึ่งพาเครื่องรางของขลัง เป็นเพราะว่าเครื่องรางของขลังนั้นมีตัวตนและสัมผัสได้ ซึ่งคนเราจะเชื่อในเรื่องสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ง่ายมากกว่า ซึ่งเครื่องรางของขลังนั้นสามารถสัมผัสได้ทั้งทางกายและทางใจ



ในปัจจุบันนั้นเมื่อเราเกิดมาเราก็เป็นพุทธศาสนิกชนตามบิดามารดาของเรา เราจะอ้างว่าเราไม่มีโอกาสที่จะเลือกศาสนาที่เราต้องการนับถือ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า พุทธตามทะเบียน ซึ่งไม่เป็นความจริง ในตอนเด็กเราอาจจะไม่มีโอกาสเลือก แต่เมื่อโตแล้วเมื่อเราศรัทธาหรือมีความเชื่อในศาสนาใด เราสามารถที่จะเลือกได้ เพราะการที่เราเป็นพุทธศาสนิกชนตามบิดาและมารดาโดยปราศจากความเลื่อมใสอย่างแท้จริงนั้น น้อยคนนักที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาด้วยใจที่ศรัทธาจริงๆ ส่วนใหญ่จะนับถือกันตามประเพณี และบรรพบุรุษ แต่เครื่องรางของขลังนั้นเป็นศรัทธาส่วนตัวที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เราเชื่อหรือว่าเลื่อมใสได้ ถ้าเราไม่เชื่อด้วยประสบการณ์และความเชื่อของเราเอง

เมื่อกล่าวในแง่ของชาวพุทธในสังคมไทยนั้น ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง มีหลากหลายความคิด คือ มีทั้งที่เชื่อในเครื่องรางของขลัง ปฏิเสธไม่เชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง ผู้ที่สะสมเครื่องรางของขลังเพื่อเป็นศิลปะและการศึกษา ผู้ที่หวังได้รายได้จากเครื่องรางของขลัง คือ ทำเป็นการค้า ซึ่งเมื่อเราศึกษาดูจะพบว่า ตั้งแตในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังมาช้านาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ในสมัยอยุธยานั้น อิทธิพลความเชื่อในเรื่องเวทมนตร์คาถา ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ได้ปรากฎชัดเจนในสมัยอยุธาตอนปลาย เช่น ในเรื่องของพระอาจาย์ธรรมโชติ อาจารย์ของชาวบ้านบางระจัน หรือ นายฤกษ์ที่คนในสมัยนั้นเชื่อว่าเค้ามีความขลังให้คุมทัพเรือไปรบกับพม่า เป็นต้น

ต่อมในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงสงครามโลก ก็มีการแจกเครื่องรางของขลัง ทำให้ความเชื่อเครื่องรางของขลังมีอิทธิพลสูงยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ท่ผู้ที่ได้รับแจกเครื่องรางของขลังได้รับ ความเชื่อเครื่องรางของขลังสืบเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในสังคมที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วในสังคมไทย เพราะปรากฎการณ์ทางสังคมที่คนไทยเชื่อถือเครื่องรางของขลัง ทั้งที่เป็นเรื่องนอกพุทธศาสนานั้น สอดคล้องไปตามลักษณะของสังคมพุทธที่ให้อิสระและเสรีภาพทางความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล ทั้งการเชื่อเครื่องรางของขลังในสังคมไทยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดาและไม่เสียหาย เพราะแม้ว่าจะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ แต่คนไทยก็ถือว่าพุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านาน จึงสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนได้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควรที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้หลุดจากความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีไป

ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องรางของขลังกับพระพุทธศาสนา
ความสำคัญและประโยชน์ของการมีเครื่องรางของขลังในสังคมไทย
ความแตกต่างระหว่างเครื่องรางของขลังและพุทธศาสนา
สาเหตุที่ทำให้คนในสังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังฯ
ผลกระทบของเครื่องรางของขลังที่มีต่อสังคมไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย