สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
ทฤษฎีทางการพยาบาล
อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
โอเร็ม ได้นำแนวคิดในการดูแลตนเองมาใช้ในการเรียนการสอน การปฏิบัติ การบริหาร และการวิจัยทางการพยาบาล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 และขยายแนวคิดไปยังการดูแลครอบครัว ชุมชน และสังคม จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องจากแนวคิดของโอเร็ม ชี้ให้เห็นว่าในสภาพของสังคมปัจจุบัน บุคคลมีอิสระ มีสิทธิในการดูแลตนเอง บุคคลต้องมีวุฒิภาวะในการรับผิดชอบตนเอง และดูแลตนเองอย่างมีความสุข หากบุคคลไม่สามารถดูแลตนเองได้สมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการดูแลตนเองตามความเหมาะสม
โอเร็มกล่าวว่า การพยาบาลเป็นการบริการทางสุขภาพในการดูแลช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพให้สามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยใช้ศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งเทคโนโลยีในการดูแลช่วยเหลือ
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการดูแลตนเองในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
1. หลักการตามแนวคิดทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม
การประยุกต์ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็มในการพยาบาลสุขภาพจิต และจิตเวชนั้น ก็คือ การจัดดำเนินการให้ผู้รับบริการ ทั้งบุคคล ครอบครัว และชุมชน ได้ใช้ความสามารถในการดูแลตนเองในการส่งเสริมสุขภาพจิต ป้องกันปัญหาทางจิต ดูแลช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และชุมชนเมื่อมีปัญหาทางจิต Viola Duft (1990) ได้เสนอหลักการพยาบาลตามแนวคิดทฤษฎีของโอเร็มไว้ ดังนี้
เน้นการดูแลสุขภาพของแต่ละคน โดยเน้นที่การคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีของบุคคล และครอบครัว โดยพยาบาลประเมินความสามารถของบุคคลในการดูแลตนเอง และดำเนินการสนับสนุนศักยภาพการดูแลตนเองทางสุขภาพ
ความต้องการที่เป็นสากลของบุคคล เช่น ความต้องการอากาศ อาหาร และน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของบุคคล การมีกิจกรรมกับการพักผ่อนต้องสมดุลกัน ความต้องการด้านร่างกายและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็เป็นความต้องการของทุกคน
การประเมินความต้องการตามพัฒนาการ เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นกับทุกคน
บุคคลในวัยใดวัยหนึ่ง อาจเกิดความล้มเหลวในการพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ
หรือสติปัญญาได้
ความต้องการการดูแลสุขภาพในภาวะเบี่ยงเบน อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ
หรือวงจรชีวิต ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการใช้ยา
การดูแลตนเองเป็นความสามารถของบุคคลแต่ละคน ในการเริ่มต้นทำกิจกรรมดูแลตนเองเพื่อรักษาชีวิต สุขภาพและความสุขสมบูรณ์อาจกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพยาบาล ยกเว้นว่าเขาเหล่านั้นขาดความรู้ ขาดแรงจูงใจ และทักษะความพร่องในการดูแลตนเอง เกิดขึ้นเมื่อการกระทำไม่สามารถตอบสนองบุคคล เมื่อนั้นพยาบาลจำเป็นต้องให้การดูแล
เมื่อเกิดสภาวะพร่องในการดูแลตนเอง พยาบาลจะต้องตัดสินใจใช้ระบบการพยาบาลอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมในการช่วยเหลือดูแลผู้รับบริการ ในขณะเดียวกัน ผู้รับบริการจะได้รับอิสระในการดูแลตนเองทันทีที่เขาสามารถดูแลตนเองได้
ถ้าบุคคลไม่สมารถปฏิบัติในการดูแลตนเองได้
อาจเนื่องมาจากสภาวะทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
พยาบาลจะช่วยเหลือชดเชยในสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการระบบการพยาบาลแบบชดเชยให้บางส่วนเป็นลักษณะหนึ่งซึ่งพยาบาลกับผู้รับบริการจะร่วมกันพยาบาล
โดยพยาบาลหรือผู้รับบริการบุคคลใดก็ได้ที่จะมีบทบาทส่วนใหญ่
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้รับบริการ ความรู้และแรงจูงใจ
แม้ผู้รับบริการสามารถ หรือกระทำกิจกรรมการดูแลตนเองได้
แต่ยังต้องการการสนับสนุนหรือการสอนหรือสนับสนุนการเรียนรู้
พยาบาลก็ควรจัดให้ผู้รับบริการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การใช้ยา
ซึ่งควรจัดขึ้นเป็นประจำโดยการให้ความรู้ และกระทำในลักษณะสอนแบบสนับสนุน
2. การใช้กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็มสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน ดังนี้
การประเมินสภาวะผู้ป่วย แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นของการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมทุกด้านที่มีความสัมพันธ์กับตัวผู้ป่วยเพื่อให้ทราบถึงความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลตนเอง ข้อมูลที่ควรจะต้องสืบค้นในขั้นนี้ก็คือ
- ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการดูแลตนเองโดยทั่วไป โดยพิจารณาถึงสภาพโครงสร้างทั่วไปของผู้ป่วย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อม ตลอดจนระยะพัฒนาการของผู้ป่วย
- ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเบี่ยงเบนทางสุขภาพทั้งในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
- ข้อมูลและกิจกรรมที่จะตอบสนองความต้องการการดูแลตนเองของผู้ป่วย
การวิเคราะห์ข้อมูล ในขั้นนี้เป็นขั้นของการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ พยาบาลจะนำมาตรวจสอบความสมบูรณ์ ดังนี้
- ความถูกต้องชัดเจน ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง เชื่อถือได้เพียงใด ถ้าไม่แน่ใจต้องทบทวนสอบหาเพิ่มเติม
- ความครบถ้วน ข้อมูลที่ได้เพียงพอเพื่อการระบุความต้องการการดูแลตนเองของผู้ป่วยได้ถูกต้อง
การวินิจฉัยทางการพยาบาล
พยาบาลเป็นผู้กำหนดสภาวะความต้องการการช่วยเหลือในการดูแลตนเองของผู้ป่วย จากข้อมูลที่ได้รวบรวมและวิเคราะห์มาแล้วเป็นอย่างดี จึงกำหนดเป็นข้อความที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนการพยาบาล เป้าหมาย และกิจกรรมการพยาบาลต่อไป ข้อวินิจฉัยการพยาบาลในแนวคิดของโอเร็ม จะเป็นข้อวินิจฉัยในลักษณะ ดังนี้
ผู้ป่วยขาดความสามารถในการดูแลตนเองด้านใดและระดับใด เช่น การปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเอง การแสวงหาความรู้ในการดูแลตนเอง อาจระบุรายละเอียด เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้
ระบุสาเหตุของความไม่สามารถในการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองนั้น ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เนื่องจากมีอาการหูแว่วตลอดเวลา
บางครั้งอาจระบุตามระดับของอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งเป็นการประเมินข้อมูลในเบื้องต้น เช่น ผู้ป่วยวิตกกังวลสูง ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้
การวางแผนการพยาบาล เป็นการวางแผนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ช่วยตนเองได้ โดยเน้นการช่วยเหลือ 3 ระดับ คือ การช่วยเหลือเพื่อทดแทนทั้งหมด หรือการช่วยเหลือเพื่อทดแทนบางส่วน หรือการช่วยเหลือเพื่อประคับประคอง การกำหนดกิจกรรมการพยาบาลจะมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยในการดูแลตนเองทุกด้าน เมื่อต้องกำหนดเป็นแผนการพยาบาล ควรมุ่งหลักการตามความสำคัญของปัญหา นั่นคือ มุ่งที่ความต้องการการดูแลตนเองที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อพ้นจากอันตราย ความต้องการการดูแลตนเองที่จำเป็นเพื่อความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย และความต้องการการดูแลตนเองที่เน้นการพัฒนาสุขภาพเพื่อความสุขสมบูรณ์
ความต้องการการดูแลตนเองที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อพ้นจากอันตราย เป็นความต้องการการดูแลตนเองในภาวะที่กระทบถึงสภาพทางสรีรวิทยา เช่น ภาวะขาดอาหาร ภาวะหลงผิด ประสาทหลอน จนเป็นอันตรายต่อตนเอง เช่น ทำร้ายร่างกายตนเอง เป็นต้น พยาบาลควรกำหนดเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถรับประทานอาหารได้ ระมัดระวังตนเองหรือสามารถหาแหล่งช่วยเหลือเมื่อตนเองอยู่ในภาวะภาวะอันตราย เช่น การสื่อสารให้ผู้อื่นทราบว่าไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เพื่อให้ผู้อื่นช่วยเหลือได้ทัน
ความต้องการการดูแลตนเองที่จำเป็นเพื่อความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย เป็นการดูแลตนเองที่มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในการดำเนินชีวิต และการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
ความต้องการการดูแลตนเองที่เน้นการพัฒนาสุขภาพเพื่อความสุขสมบูรณ์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ป่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองในการดำเนินชีวิตและการปรับตัวในสังคม การปรับตัวเข้ากับญาติ การปรับตัวในการทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข การกำหนดกิจกรรม พยาบาลสามารถกำหนดกิจกรรมตามสภาพปัญหาความต้องการการดูแลตนเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยการประยุกต์หลักการพยาบาลจิตเวช ดังนี้
1) หลักการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัด
2) หลักการสอนและการให้คำปรึกษาเพื่อการปรับตัวที่เหมาะสม
3)
การจัดโอกาสและประสบการณ์ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และปรับพฤติกรรมตนเองในสถานการณ์ต่าง
ๆ อย่างเหมาะสม
4) การใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
5) ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจให้ข้อมูลย้อนกลับตลอดจนการเสริมแรงอย่างเหมาะสม
การปฏิบัติการพยาบาลตามแนวคิดของโอเร็ม เป็นการปฏิบัติการพยาบาล โดยพยาบาลใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เรียนรู้มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย พัฒนาความสามารถในการดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งโอเร็มเน้นการปฏิบัติการในการช่วยเหลือ ดังนี้
การกระทำให้หรือการปฏิบัติกิจกรรมทดแทนผู้รับบริการโดยตรง (Acting for doing for another) เป็นกิจกรรมที่พยาบาลเป็นผู้จัดกระทำหรือปฏิบัติต่อผู้ป่วยโดยตรง
การแนะนำและชี้แนะ (Guiding and directing)
พยาบาลเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจและปฏิบัติกิจกรรมดูแลตนเองได้
การจัดหาและช่วยเหลือทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ (Providing physical or
psychological support) พยาบาลเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ
ปกป้องผู้ป่วยให้พ้นจากภยันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ลดภาวะเครียดในการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองจนมั่นใจในการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองได้ด้วยตนเอง
การจัดทำ และคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความสามารถ (Proving and maintaining an environment that support personal development) พยาบาลเป็นผู้จัดหาและเตรียมสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ตลอดจนหาวิธีการสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้ป่วยพัฒนาความสามารถของตนเองในการดูแลตนเองที่เหมาะสม
การสอน (Teaching) พยาบาลจัดสภาพการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ป่วยทั้งด้านความรู้ และทักษะในการดูแลตนเองเพื่อการสร้างชีวิตที่มีความสุข
พยาบาลปฏิบัติการพยาบาลตามแผนการพยาบาลที่กำหนด โดยเริ่มต้นที่การพิจารณาแผนและเป้าหมายที่กำหนด และมุ่งที่ตัวผู้ป่วยในขณะนั้นว่ามีความพร้อมเพียงใด การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลทุกขั้นตอนควรมุ่งที่พฤติกรรมของผู้ป่วยขณะนั้นว่า ต้องการการดูแลตนเองในรูปแบบใด พยาบาลพิจารณาสถานการณ์และปฏิบัติการด้วยการใช้ความคิดพิจารณา และการสังเกตอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน
หลักการปฏิบัติการพยาบาลต่อผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ จำเป็นต้องใช้ทักษะการสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดทุกขั้นตอนตามสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละราย ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พยาบาลอาจต้องมีการปรับแผนเมื่อสถานการณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วม และยอมรับจะได้ผลดีกว่าการปฏิบัติด้วยตนเองโดยลำพังทั้งหมด
การประเมินผลการพยาบาล พยาบาลรวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอน นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบก่อนและหลังการปฏิบัติ หากพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ต้องย้อนกลับมาทบทวนข้อมูลและเหตุการณ์ใหม่ โดยมีการเริ่มต้นรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล และวางแผนการพยาบาลใหม่ที่ตอบสนองกับสภาพปัญหาที่ค้นพบใหม่
ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง
(Kings Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่
ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน