สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สามก๊ก

อิทธิพลที่มีต่อวรรณกรรมอื่น

๑) ลีลาคำประพันธ์ สำนวนสามก๊กมีแบบเฉพาะ ผู้อ่านมักจำสำนวนได้ ที่แปลกไปจากนิยายอื่นคือ ไม่มีเครื่องหมายคำพูดกำกับคำสนทนา นักประพันธ์ยุคหลังพยายามเลียนแบบ เช่น ยาขอบเขียน “ผู้ชนะสิบทิศ” ลพบุรี เขียน “จมื่นด้งนคร” อุษา เข็มเพชร เขียน “ขุนทวน”

๒) สำนวนโวหาร เพราะความคมคายและกะทัดรัดจึงมีผู้นิยมเลียนแบบกันมาก นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการเขียนสำนวนร้อยแก้ว

๓) เนื้อเรื่อง ปรากฏว่านิทานในยุคหลังมีอิทธิพลของสามก๊กแทรกอยู่ทั่วไป เช่น สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีตอนนางระเวงเผาทัพ คล้ายตอนโจโฉแตกทัพเรือ ตอนฤๅษีห้ามสุดสาครถอดเสื้อหนังเสือ ก็คล้ายกับกวนอูไม่ยอมถอดเสื้อตัวเก่า และตอนสุวรรณมาลีถูกอาวุธก็ใช้วิธีผ่าตัด เหมือนตอนกวนอูถูกเกาทัณฑ์

๔) การสวมลักษณะตัวละคร ตัวละครเด่นๆ ในสามก๊ก เช่น เล่าปี่ ขงเบ้ง กวนอู ล้วนมีลักษณะความดีเฉพาะตัวต่างๆ กัน ตัวเอกในนิทานไทยสมัยต่อมาได้รับอิทธิพลจากบุคลิกภาพของตัวละครเหล่านั้น เห็นได้โดยทั่วไป เช่น พระอภัยมณีมีลักษณะคล้ายเล่าปี่ ใจอ่อน มักสงสารศัตรู นางวารี วาจาคมคายเหมือนขงเบ้ง อุศเรนตายด้วยอาการคล้ายจิวยี่ นอกจากนี้ตัวละครในเรื่องผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ อาจเทียบเคียงได้กับตัวละครหลายตัวในสามก๊ก

๕) การเกิดวรรณคดียุคหลัง สามก๊กเป็นจุดตั้งต้นให้มีการถ่ายทอดพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยอีกมาก ทำให้วงวรรณกรรมไทยมีปริมาณหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสามก๊กสำนวนต่างๆ เกิดขึ้นอีกมาก ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น สามก๊กฉบับวณิพก (ยาขอบ) เบ้งเฮก โจโฉนายกตลอดกาล (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) อินไซด์สามก๊ก (อ.ร.ด.) สามก๊กฉบับร้านกาแฟ (นายหนหวย) สามก๊กฉบับพิศวาส (สุทธิพล นิติวัฒนา) เป็นร้อยกรองก็มี เช่น งานของขุนวิจิตรมาตรา เป็นต้น (สมพันธุ์ : ๘๔-๘๕)

ความเป็นมา
ประวัติผู้แต่ง
ตัวละคร
เรื่องย่อ
คุณค่าด้านสังคม
คุณค่าของกวีนิพนธ์
อิทธิพลที่มีต่อวรรณกรรมอื่น
สำนวนโวหารบางตอน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย