สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน
ความหมายของการพัฒนา
แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา
อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
สรุปเกี่ยวกับแนวความคิดและทฤษฎี
จากที่กล่าวมาในส่วนที่เกี่ยวกับแนวความคิดและทฤษฎีการพัฒนาพอสรุปได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ คือ จากทฤษฎีอาณานิคมมาสู่แนวความคิดใหม่ของการพัฒนานั้นไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างมีเหตุผล แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางผลประโยชน์และการรวมกลุ่มกันของประเทศต่าง ๆ เริ่มจากสหรัฐอเมริกาได้กำหนดแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศให้เงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1950
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีการต่อต้านการเป็นอาณานิคมของประเทศเมืองขึ้นทั้งหลายและประเทศอุตสาหกรรมก็ยินยอมผ่อนปรนประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ ๆ เพื่อผลทางการเมือง ดังนั้น ทฤษฎีการพัฒนาสมัยอาณานิคมที่ว่า ไม่สามารถเอาชนะความด้อยพัฒนาได้ จึงหมดไปและมีความคิดเห็นในแง่ดีเกิดขึ้น
กล่าวคือ ปัญหาของการพัฒนามีอยู่ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและด้อยพัฒนา และเชื่อว่าความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป จึงทำให้ต้องมีการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเข้าไปสู่แนวทางที่เชื่อว่าจะเอาชนะความด้อยพัฒนาได้ตามกลุ่มของประเทศที่แบ่งกันอยู่สองฝ่าย คือ ก) ประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งมีประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกเป็นตัวแบบ นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย และ ข) ประเทศโลกที่สอง ซึ่งอาศัยประเทศสังคมนิยมเป็นตัวแบบ นำโดยประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งเรียกว่า ทฤษฎีจักรวรรดินิยม
ภายหลังจากการขัดแย้งกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออกทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและแบ่งเป็นกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกเป็นโลกที่หนึ่งและสังคมนิยมเป็นโลกที่สอง จึงทำให้เกิดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีการประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1955 ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนิเซีย มีความมุ่งหมายที่จะเป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า โลกที่สาม เข้ามามีบทบาทอยู่ในแนวความคิดและทฤษฎีการพัฒนาในกระบวนการแสวงหาอาณานิคมอีกยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปี ค.ศ. 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจรจากันระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ นโยบายการผูกขาดของกลุ่มประเทศขายน้ำมันโอเปก และการเจรจากันในเรื่องการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกเสียใหม่ ทำให้กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพิ่มขึ้นเป็น 77 ประเทศ และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้น มีวิธีการแก้ปัญหาที่พอเป็นไปได้มากขึ้นและมีบทบาทต่อแนวความคิด และทฤษฎีการพัฒนาดังกล่าวมา แต่ก็ยังไม่มีพลังต่อรองอย่างแท้จริงคงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรมตลอดมาโดยมิได้มีความเข้าใจในเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงของทางสังคมภายในประเทศของตัวเองเท่าใด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าทฤษฎีการทำให้ทันสมัยล้มเหลวตามที่เห็นกันอยู่ในประเทศโลกที่สามว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและทางสังคมไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม แม้จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แต่ก็ส่งผลประโยชน์ให้กับคนส่วนน้อยในสังคมเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นการเป็นประชาธิปไตยก็คงยังมีปัญหามากมาย ในทางเศรษฐกิจก็เช่นกันยังไม่เป็นไปตามนักทฤษฎีได้กล่าวไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่กระจายผลการพัฒนาไปสู่ประชาชนผู้ยากจนทั้งหลายในชาติ ทฤษฎีการทำให้ทันสมัยมีอิทธิพลอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงประมาณปี ค.ศ. 1970 ซึ่งได้ลดความนิยมลงตลอดมา แต่ปัจจุบันนี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรูปของการศึกษานโยบายสาธารณะ การตัดสินใจและการเลือกอย่างมีเหตุผลหรือการเลือกสาธารณะและมีการเพิ่มกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การกระจายรายได้และการช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐาน รวมทั้งการแก้ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นที่ยังคงยึดแนวทางหลักของทฤษฎีการทำให้ทันสมัยอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วเช่นเดิม
การต่อต้านและการวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดและทฤษฎีการทำให้ทันสมัยมีมากมาย มีทั้งนักวิชาการสายยุโรป สายลาตินอเมริกา และกลุ่มนักวิชาการด้านความด้อยพัฒนา นักวิชาการเหล่านี้เห็นว่าทฤษฎีการทำให้ทันสมัยมีปัญหามากมายหลายอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว เช่น แทนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแต่กลับทำให้คนยากจนยิ่งขึ้น จึงได้เสนอให้เปลี่ยนกรอบแนวความคิดและการแก้ปัญหาของประเทศโลกที่สามเสียใหม่ตามแนวความคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีพึ่งพา ทฤษฎีความด้อยพัฒนา ทฤษฎีระบบโลก ทฤษฎีมาร์กซิสต์แนวใหม่ และทฤษฎีการค้ากับต่างประเทศ เป็นต้น นักวิชาการที่ต่อต้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นว่าการปฏิบัติตามทฤษฎีการทำให้ทันสมัยควรจะศึกษาให้รู้ถึงพัฒนาการของประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยว่า มีลักษณะและกรบวนการขั้นตอนอย่างไร เพื่อจะเลียนแบบได้อย่างถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
ในช่วงปี ค.ศ. 1977-1981 มีการประเมินแนวความคิดและทฤษฎีพึ่งพา โดยนักวิชาการหลายคนสรุปได้ว่าหลักการทั่วไป ทฤษฎีพึ่งพาไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีเหตุผล และน้ำหนักพอจะเป็นทฤษฎีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการวิจารณ์ของ เดวิด บูธ เมื่อปี ค.ศ. 1988 ดังนั้น ในปลายทศวรรษ 1980 จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดและทฤษฎีการพัฒนาที่มีอยู่อย่างรุนแรงโดยนักวิชาการชื่อดังคนหนึ่ง เช่น แมนเฟรดนิตส์ นิคอส มูเซลิส เดิค เมสสเนอร์ ได้กล่าวถึงการสิ้นหวังของทฤษฎีการพัฒนาและความล้มเหลวของทฤษฎีการพัฒนาซึ่งเขียนโดย เอลมาร์ อัลท์วาเทอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1989
นอกจากนั้น ยังมีการถกเถียงกันและเรียกร้องให้ทบทวนแนวความคิดเก่าเพื่อปฏิเสธแนวความคิดที่ล้าหลังมีการวิจารณ์โครงการให้มีความช่วยเหลือต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนก็ยังยืนยันแนวความคิดและกระบวนทัศน์เดิมอยู่อย่างเหนียวแน่นและกล่าวด้วยว่า ตัวแบบของประเทศโลกที่หนึ่งจะได้รับความสนใจแผ่ขยายมากขึ้น ประกอบกับการล่มสลายของประเทศสหภาพโซเวียตจึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ผันแปรตามไปด้วย ทั้งยังจะหันมาสู่แนวทางการพัฒนาที่เป็นแบบโลกที่หนึ่งมากขึ้น แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ เป็นต้นว่า การใช้แนวทางวิเคราะห์รัฐศาสตร์เศรษฐกิจและแนวทางพัฒนาความคิดและทฤษฎีการพัฒนาจากนโยบายทางสังคมสาขาต่าง ๆ เช่น แนวความคิดที่จะให้สตรีมีสิทธิและบทบาทเท่าเทียมกับบุรุษ และแนวความคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การถกเพียงกันในเรื่องทฤษฎีการพัฒนาหรือการที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับทฤษฎีบางอย่างหรือที่เก่าว่าล้าสมัยใช้ไม่ได้นั้น ควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกด้านทุกมุมอย่างเป็นระบบและมองทั้งในด้านจุลภาคและมหภาค เพื่อจะได้วิเคราะห์อย่างถูกต้องเฉพาะเป็นเรื่องทางสังคมศาสตร์ซึ่งมีตัวแปรทั้งภายในและภายนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีความลึกซึ้งไปในขอบเขตความสัมพันธ์ของระบบมากกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
ทฤษฎีการพัฒนา
กลุ่มทฤษฎียุคก่อนสมัยใหม่
ทฤษฎีในสมัยอาณานิคม
ทฤษฎีสมัยใหม่
แนวความคิดกระแสหลักหรือปฏิฐานนิยม
ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย
ทฤษฎีโครงสร้าง
ทฤษฎีการแปลงรูป
ทฤษฎีการแผ่กระจาย
ทฤษฎีการพัฒนาทวิภาค
ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม
ทฤษฎีความเป็นเหตุเป็นผล
ทฤษฎีการแก้ปัญหา
ทฤษฎีการสะสมทุน
ทฤษฎีแรงผลักดันสำหรับการพัฒนา
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างสมดุล
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างไม่มีดุลยภาพ
ทฤษฎีจักรวรรดินิยม
ทฤษฎีพึ่งพา
ทฤษฎีความด้อยพัฒนา
ทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน
ทฤษฎีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สรุปเกี่ยวกับแนวความคิดและทฤษฎี