สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา

ทฤษฎีโครงสร้าง

(Structural Theory)

นักวิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนมักจะกล่าวอ้างว่า วัฒนธรรม สังคมวิทยา และดินฟ้าและอากาศเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความด้อยพัฒนา เอลสวอร์ธ ฮันติงตัน (Ellsworth Huntington) กล่าวว่า ประชาชนในเขตร้อนจะมีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจด้อยกว่าประชาชนในเขตอบอุ่น จูริอุส เอช โบค (Julius H. Boeke) กล่าวทำนองเดียวกันว่า ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาจะไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงานและไม่สนองตอบสิ่งจูงใจทางด้านการเงิน จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นทวิภาค กล่าวคือ มีภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่และภาคเศราฐกิจดั้งเดิมอยู่ควบคู่กันไปโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกัน การพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่แผ่กระจายออกไปจากภาคสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าเพราะสภาพของท้องถิ่นไม่เหมาะสม

โครงสร้างทวิภาคดังกล่าวนี้มีลักษณะหลาย ๆ ด้านประกอบกัน คือ

1. สภาวะที่แตกต่างกันระหว่างความเด่น (superior) กับความด้อย (inferior) อยู่ด้วยกันในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดในเวลาเดียวกัน เช่น มีวิธีการผลิตที่ทันสมัยในเมืองกับวิธีการผลิตที่เก่าแก่โบราณในชนบทหรือมีผู้นำที่มีการศึกษาสูงและร่ำรวยกับมวลชนที่ไม่รู้หนังสือที่ยากจนหรือมีประเทศอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งร่ำรวยกับประเทศเกษตรกรรมที่ยากจนและด้อยพัฒนาอยู่ด้วยกัน

2. การมีลักษณะตรงกันข้ามของสภาพการณ์ดังกล่าวในข้อแรกอยู่ด้วยกันนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อยาวนาน ไม่ใช่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงหรืออยู่ในขั้นของการพัฒนาหรือเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่จะสามารถทำให้ดีขึ้ไนด้ภายในเวลาช่วงหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกันอันยาวนานอย่างไม่เท่าเทียมกันหรือไม่มีความเสมอภาคกันอย่างยากที่จะทำให้หมดสิ้นไปได้

3. องศาแห่งความเด่นกับความด้อยที่มีอยู่นั้น นอกจากจะยังไม่มีวี่แววที่จะทำให้หมดไปได้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็วได้แล้ว ยังทำท่าว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เช่น คนรวยก็ดูเหมือนจะยิ่งร่ำรวยขึ้นในขณะที่คนจนก็ยิ่งจนลงทุกวัน

4. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแห่งความเด่นกับปัจจัยของความด้อยมีลักษณะที่อธิบายได้ว่าปัจจัยแห่งความเด่นมิได้ทำให้ปัจจัยของความด้อยดีขึ้นเลย หากจะมีอยู่บ้างก็มีเพียงเล็กน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามมีแต่จะทำให้เลวลงยิ่งขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วหรือคนร่ำรวยแล้วยิ่งพัฒนาและร่ำรวยยิ่งขึ้นนี้ มิได้มีส่วนทำให้ประเทศด้อยพัฒนาหรือคนจนมีสภาพหรือฐานะดีขึ้นแต่ประการใดเลย แต่กลับทำให้ด้อยพัฒนาหรือยากจนลงไปอีก

นอกจากนี้ ไมเคิล พี โทดาโร (Michael P. Todaro) ยังได้แบ่งแนวคิดทวิภาคนี้ออกเป็นทวิภาคระหว่างประเทศ (international dualism) ทวิภาคภายในประเทศ (domestic dualism) ดังต่อไปนี้

  1. ประเทศที่แข็งแรงและมีอำนาจย่อมสามารถควบคุมและจัดการกับทรัพยากรและตลาดสินค้าต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองได้
  2. การแผ่ขยายของการควบคุมครอบครองระบบเศรษฐกิจโดยนายทุนข้ามชาติทางการลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ
  3. ประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยมีสิทธิพิเศษที่จะเข้าถึงวัตถุดิบที่หายากขาดแคลนได้
  4. การนำออกซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมจากประเทศพัฒนาแล้ว
  5. เสรีภาพสำหรับปรเทศอุตสาหกรรมในการบังคับขายสินค้าขายของตัวเองไปยังตลาดที่เปราะบางในประเทศโลกที่สามอยู่เบื้องหลังกำแพงภาษีขาเข้าสำหรับบริษัทข้ามชาติที่ผูกขาด
  6. การถ่ายทอดระบบการศึกษาที่ล้าสมัยและไม่เกี่ยวข้องให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ถือว่าการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของกระบวนการพัฒนา
  7. ความสามารถของประเทศร่ำรวยที่สามารถแยกแบ่งความพยายามที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมของประเทศยากจนโดยอาศัยการทุ่มเทสินค้าเข้าไปขายในราคาต่ำมาก (Dumping’s cheap products) เพื่อควบคุมและครอบครองตลาด
  8. ทฤษฎีและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอันตรายอย่างน่าสะพรึงกลัว คือ การทำให้ประเทศโลกที่สามติดอยู่ในกรอบที่มีเพียงสินค้าพื้นฐาน (Primary product) เป็นสินค้าออกอันจะมีรายได้จากสินค้าส่งออกเหล่านี้ลดลงเรื่อย ๆ
  9. นโยบายการให้ความช่วยเหลือที่น่ากลัวซึ่งเป็นการช่วยทำให้โครงสร้างทวิภาคทางเศรษฐกิจภายในมีอยู่ต่อไป ตลอดไปอย่างขมขื่น
  10. การสร้างผู้นำในประเทศด้อยพัฒนาให้มีความซื่อสัตย์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางอุดมการณ์ต่อโลกภายนอกทั้งด้านทุนนิยมและสังคมนิยม
  11. การถ่ายทอดวิธีการที่ไม่เหมาะสมของการฝึกอบรมความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
  12. ประเทศร่ำรวยมีความสามารถใช้เงินเป็นเหยื่อล่อเอาคนที่มีความรู้ไปจากประเทศด้อยพัฒนา
  13. ผลการโฆษณาสินค้าฟุ่มเฟือยให้แก่ผู้มั่งคั่งร่ำรวยได้ใช้ทั้งภายในประเทศของตัวเองและนอกประเทศ ซึ่งก็คือ ประเทศด้อยพัฒนาได้รู้ได้เห็นเป็นตัวอย่างและเป็นการทำลายศีลธรรมด้วย เช่น ในทางภาพยนตร์และแมกกาซีน เป็นต้น

ทวิภาคภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าจากประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตรกรอาศัยอยู่ในชนบทที่กระจัดกระจายมีรายได้น้อย ส่วนคนจำนวนน้อยที่มีรายได้สูงอาศัยอยู่ในเมืองมีสิทธิหลาย ๆ อย่าง มีอำนาจ อยู่ในย่านที่เจริญและสะดวก ในขณะเดียวกัน ก็มีสลัมจำนวนมากล้อมรอบอยู่โดยมีพลเมืองรายได้น้อยอาศัยอยู่อย่างแออัดไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยที่ดี ทวิภาคภายในนี้อาจแบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ

  1. ทวิภาคทางเศรษฐกิจ (Economic dualism) ได้แก่ การมีอยู่ของสภาพทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมโบราณสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองกับภาคเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่มีตลาดซื้อขายสินค้า
  2. ทวิภาคทางสังคม (Social dualism) มีความแตกต่างกันด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของคนแตกต่างทางด้านโครงสร้างทางสังคม (Social Structure) ตลอดจนพฤติกรรมของคนแตกต่างกัน
  3. ทวิภาคทางเทคโนโลยี (Technological dualism) มีความแตกต่างกันในเรื่องภาคแรงงานของคนแบบดั้งเดิมและไม่มีทักษะ (labour-intensive) กับภาคการใช้เครื่องยนต์เครื่องจักรที่ทันสมัยก้าวหน้า
  4. ทวิภาคทางภูมิภาค (Regional dualism) มีความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทหรือระหว่างพื้นที่ ๆ เจริญก้าวหน้าทันสมัยมีความสะดวกต่าง ๆ กับพื้นที่ด้อยพัฒนา ซึ่งขาดแคลนทั้งความสะดวกสบายและบริการต่าง ๆ ทวิภาคลักษณะนี้อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของทวิภาคทางเศรษฐกิจได้

เจ้าตำรับทฤษฎีโครงสร้างอีกคนหนึ่ง คือ เบริท เอฟ โฮเซลิทซ์ (Bert F. Hoselitz) กล่าวไว้ในเชิงต้นแบบว่า ประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วมีช่องว่างที่แตกต่างกันในด้านปทัศถานทางสังคม (social norms) ซึ่งมีผลการกำหนดและแจกจ่ายหรือกระจายบทบาทต่าง ๆ ของคนในสังคม ดังนั้น การพัฒนาจึงจำเป็นต้องมีการแผ่กระจายที่ก้าวหน้าของทัศนคติและสถาบันสมัยใหม่ให้ทั่วถึง

ทฤษฎีการพัฒนา
กลุ่มทฤษฎียุคก่อนสมัยใหม่
ทฤษฎีในสมัยอาณานิคม
ทฤษฎีสมัยใหม่
แนวความคิดกระแสหลักหรือปฏิฐานนิยม
ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย
ทฤษฎีโครงสร้าง
ทฤษฎีการแปลงรูป
ทฤษฎีการแผ่กระจาย
ทฤษฎีการพัฒนาทวิภาค
ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม
ทฤษฎีความเป็นเหตุเป็นผล
ทฤษฎีการแก้ปัญหา
ทฤษฎีการสะสมทุน
ทฤษฎีแรงผลักดันสำหรับการพัฒนา
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างสมดุล
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างไม่มีดุลยภาพ
ทฤษฎีจักรวรรดินิยม
ทฤษฎีพึ่งพา
ทฤษฎีความด้อยพัฒนา
ทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน
ทฤษฎีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สรุปเกี่ยวกับแนวความคิดและทฤษฎี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย