สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน

ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคน

ปรัชญาประการที่สอง

ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนประการที่สอง คือ ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคนที่ว่า “คนเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ดีที่สุด” (Highest potential developing animal) ปรัชญาประการนี้ หมายความว่า ในบรรดาทรัพยากรทั้งหลายในโลก คนสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชนได้มากที่สุด ถ้าได้รับการพัฒนาที่ถูกต้อง จะสามารถดึงเอาความสามารถภายในตัวคนออกมาใช้ประโยชน์ได้ และถ้ามีการเปรียบเทียบกับความสามารถในการพัฒนาของคนกับสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ ที่พัฒนาได้ เช่น ช้าง ม้า ลิง เป็นต้น แล้วคนจะเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ดีที่สุด

การที่คนเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ดีที่สุดนั้น สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่า “ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายนั้น คนสามารถพัฒนาให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมให้อยู่ในตัวได้มากที่สุด” ในขณะที่สัตว์โลกอื่น ๆ ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีเท่า สาเหตุประการหนึ่งของการที่คนเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ดีที่สุด ก็เพราะว่า คนมีสมองมากกว่าสัตว์อื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ได้มีการเปรียบเทียบสมองของคนกับลิง ปรากฏว่า “สมองของคนโดยเฉลี่ยแล้วมี 1,450 ลูกบาศก์เซนติเมตร ขณะที่สมองของลิงกอริลลามีโดยเฉลี่ย 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร ลิงชิมแปนซี 404 ลิงอุรังอุตัง 395 และชะนี 128 … กะโหลกศีรษะของคนโดยประมาณแล้วมีความจุมากกว่าของลิงขนาดใหญ่ 3 เท่าตัว …” (Ralph L. Beals and Harry Hoijer, 1965 : 50)

ยิ่งไปกว่านั้น การที่สัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า ลิง และสุนัข ได้รับการฝึกหรือพัฒนาให้ฉลาดและมีความสามารถมากขึ้น ผู้ที่ทำการฝึกสัตว์เหล่านั้น ก็คือ คนนั่นเอง นอกจากนี้คนสามารถเข้าร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ชุมชนได้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การสร้างถนนสายหนึ่งขึ้นในหมู่บ้าน การที่คนเข้ามาช่วยกันคิด วางแผน ตัดสินใจ ร่วมกันก่อสร้าง ตลอดจนร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนกระทั่งสร้างถนนเสร็จ เช่นนี้ถือว่า คนสามารถพัฒนาให้มีคุณภาพขึ้นได้ โดยคนสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำงานจนบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ในเวลาเดียวกัน คนก็สามารถพัฒนาให้เกิดจิตสำนึกในการเสียสละ โดยยอมเสียสละกำลังกาย ความสุขส่วนตัว มาช่วยกันสร้างถนนด้วยความซื่อสัตย์ อดทน และยอมสละกำลังเงินเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างจริงใจและจริงจัง สิ่งเหล่านี้ อาจถือได้ว่าคุณธรรมในตัวคนได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้นบ้างแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชุมชนใด ในเมืองหรือในชนบท รวยหรือจน การศึกษาสูงหรือต่ำ จะมีพลังความสามารถในเรื่องความเป็นผู้นำ ความคิดริเริ่ม และความคิดใหม่ ๆ ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวหลังความสามารถนี้ สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีโอกาสได้รับการพัฒนาโดยการกระตุ้นเตือน ยั่วยุ ชี้แนะ ส่งเสริมอย่างถูกวิธีถูกทางและอย่างเหมาะสมกับผู้รับ ก็สามารถที่จะดึงเอาพลังความสามารถนี้ออกมาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตนเองและส่วนรวมได้

ปรัชญาประการนี้ ถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน โดยนักพัฒนาจะต้องมีความศรัทธาเป็นพื้นฐานอยู่เสมอว่า คนทุกคนนั้นพัฒนาได้ คนทุกคนล้วนมีพลังความสามารถอยู่ในตัว และเป็นธรรมดาที่บางคนมีพลังความสามารถที่มองเห็นหรือแสดงออกได้อย่างชัดเจน ขณะที่บางคนพลังนั้นไม่อาจมองเห็นได้ แต่ก็ไม่เป็นการลำบางจนเกินความสามารถของนักพัฒนาที่จะพยายามดึงเอาพลังความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมาใช้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนได้ โดยอาจใช้วิธีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเป็นกลุ่มและอาศัยกิจกรรมเป็นเครื่องมือกระตุ้นในการดึงพลังความสามารถออกมาจากประชาชน เป็นต้น

เมื่อคนเป็นสัตว์โลกที่พัฒนาได้ และพัฒนาได้ดีที่สุดอีกด้วย เช่นนี้ การพัฒนาความสามารถของคนนั้นจะต้องเป็นไปอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ เพราะความสามารถของคนเมื่อมีโอกาสได้พัฒนาและถูกนำออกมาใช้ อาจเปรียบเสมือนพลังนิวเคลียร์ คือ มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ความสำคัญจึงอยู่ที่พลังความสามารรถนั้น จะถูกนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์หรือทางทำลาย สิ่งนี้เป็นบทบาทและหน้าที่ของนักพัฒนาที่จะต้องใช้วิธีการให้ถูกต้องและเหมาะสม ในการดึงพลังนั้นออกมาและพัฒนาพลังนั้นให้ใช้ประโยชน์แต่ในทางสร้างสรรค์เท่านั้น

ความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคน
การรวมกลุ่ม
ความยุติธรรม
การศึกษา
หลักประชาธิปไตย
ความสมดุลของการพัฒนา
อุดมการณ์ คุณธรรม จริยธรรมของนักพัฒนา
ความเชื่อของนักพัฒนา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย