สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน
ความหมายของการพัฒนา
แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
การศึกษา
ปรัชญาประการที่ห้า
ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนประการที่ห้า คือ การศึกษา (Education) การพัฒนาต่าง ๆ จะเจริญก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ การศึกษานับว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมอยู่มาก การศึกษาหรือกระบวนการให้การศึกษา (Educational Process) จะช่วยดึงพลังความสามารถของคนซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในให้ออกมา จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนส่วนรวมได้ ทั้งยังช่วยยกมาตรฐานและส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนให้สูงขึ้นอีกด้วย การศึกษามีความสัมพันธ์ต่อการพัฒนาอย่างมาก ถ้าสมาชิกในชุมชนมีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงแล้ว การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นย่อมมีมาก เพราะการถ่ายทอดวิชาความรู้และการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ย่อมมีมากและง่ายกว่าในชุมชนที่สมาชิกในชุมชนยังไม่มีการศึกษาหรือโดยเฉลี่ยแล้วการศึกษาอยู่ในขั้นต่ำ การศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพฤติกรรมของมนุษย์ นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความรอบรู้ ทัศนคติ ทักษะ และมูลเหตุจูงใจในสิ่งที่เขาทำอยู่
ปรัชญาประการนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า คนแต่ละคน ถ้าให้โอกาสแล้วย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ เปลี่ยนแปลงความประพฤติ และพัฒนาขีดความสามารถให้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมสูงขึ้นได้ สรุปก็คือ คนนั้นสั่งสอนได้ และการศึกษาจะช่วยให้คนได้มีความรู้ ความคิด รู้จักใช้สมองเพื่อประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม
ในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยทั่วไป จะเผชิญอยู่กับปัญหาหลักที่เหมือน ๆ กัน คือ ปัญหาความไม่รู้ ปัญหาความยากจน ปัญหาเฉื่อยชาเฉยเมย และปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชน ปัญหาเหล่านี้เรียกว่า วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย ซึ่งนับว่า เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ในการที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการนั้น จำเป็นจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของปัญหาทั้ง 4 ประการว่า สามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันได้อย่างไร และถ้าจะหาทางแก้ไขแล้วจะต้องพิจารณาว่าปัญหาใดควรได้รับการแก้ไขก่อนเป็นพื้นฐาน เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เหลือต่อไป
ถ้าพิจารณากันโดยหลักการแล้วจะเห็นได้ว่า เราไม่สามารถแก้ไขความยากจน ปัญหาความเจ็บป่วย หรือปัญหาความเฉยเมยเฉื่อยชาได้ ถ้าหากประชาชนยังอยู่ในภาวะของความไม่รู้หรือขาดการศึกษา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชน เพราะการศึกษานั้นมุ่งที่จะพัฒนาคนทั้งในด้านสมอง ความคิด จิตใจ และการกระทำ ซึ่งจะออกมาในรูปของการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ได้รับการศึกษาได้พัฒนาความคิด ความสามารถในการพัฒนาตนเองและชุมชนต่อไป
การพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการให้การศึกษา โดยวิธีร่วมปรึกษาหารือกัน (Non-Directive Education) ปราศจากการบังคับจิตใจกัน การให้การศึกษาโดยวิธีนี้เป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนาคนให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งถือเสมือนเป็นสื่อหรือแบบฝึกหัดในการพิจารณาคนให้ได้คิดพิจารณาว่า เขามีปัญหาอะไร พัฒนาอะไร ด้วยวิธีใด การกระทำเช่นนี้ ช่วยให้สมองของคนเกิดการพัฒนา การให้การศึกษาตามหลักการพัฒนาชุมชนจะต้องสอดคล้องกับความต้องการ ความปรารถนา และความสนใจ รวมทั้งความสามารถในการรับของประชาชนด้วย เช่น การให้การศึกษาในด้านการเกษตร การอนามัย การช่างชนบท และการสุขาภิบาล เป็นต้น จุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนรู้จักช่วยตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง การให้การศึกษาแก่ประชาชนในชุมชนจะเป็นการช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนโดยให้ประชาชนคิดและทำการปรับปรุงความเป็นอยู่ของตนเอง
ความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคน
การรวมกลุ่ม
ความยุติธรรม
การศึกษา
หลักประชาธิปไตย
ความสมดุลของการพัฒนา
อุดมการณ์ คุณธรรม
จริยธรรมของนักพัฒนา
ความเชื่อของนักพัฒนา