สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน
ความหมายของการพัฒนา
แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
ความสมดุลของการพัฒนา
ปรัชญาประการที่เจ็ด
ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนประการที่เจ็ด คือ ความสมดุลของการพัฒนา (balance of development) ปรัชญานี้ หมายถึง การพัฒนาและขีดความสามารถของคนในชุมชนนั้น จะต้องเป็นการพัฒนาที่ได้สัดส่วนและควบคู่กันไปทุกด้านตลอดเวลา เช่น การพัฒนาทางด้านวัตถุหรือรูปธรรมต้องไสัดส่วนและควบคู่กับการพัฒนาทางด้านจิตใจหรือนามธรรม และด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะต้องมีความสมดุลกันด้วย กล่าวโดยย่อ ก็คือ มุ่งพัฒนาทุก ๆ ด้าน ไม่สนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
ปรัชญาประการที่เจ็ดนี้ มีรากฐานสืบเนื่องมาจากความเชื่อถือที่ว่า การพัฒนาทางด้านวัตถุหรือรูปธรรมและการพัฒนาทางด้านจิตใจหรือนามธรรม มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนกระทบกระเทือนถึงกันอยู่เสมอ และในทำนองเดียวกัน ประชาชนจะอยู่ดีกินดีได้ก็ต่อเมื่อองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้เกื้อกูลและสมดุลกันไปในแนวทางและทิศทางเดียวกัน
การพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการ และยุทธวิธีหนึ่งที่ทำงานในชุมชนหรือในหมู่บ้าน โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมของคน คือ พัฒนาทางด้านวัตถุ และมีการพัฒนาสภาพจิตใจของคน คือ พัฒนาทางด้านจิตใจควบคู่กันไป เช่น การสร้างถนนสายหนึ่งขึ้นในหมู่บ้านจะต้องเกิดจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในหมู่บ้านนั้น มิใช่เกิดจากความต้องการของนักพัฒนา นอกเหนือไปจากข้างต้นนี้ กระบวนการพัฒนาชุมชนยังช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชุมชนอย่างได้สัดส่วน ไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งโดนเฉพาะอีกด้วย
ในด้านเศรษฐกิจช่วยทำให้ประชาชนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการคมนาคมต่าง ๆ สะดวกขึ้น ในด้านสังคมช่วยทำให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดีขึ้น รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เห็นถึงความสำคัญของครอบครัว หลีกเลี่ยงอบายมุข และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ในด้านการเมืองช่วยทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย รู้จักรักและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของคน ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงใจการเลือกตั้ง รู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันวางแผน และร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของชุมชนส่วนรวมเหล่านี้ เป็นต้น
ความสมดุลของการพัฒนาทางด้านวัตถุและจิตใจ จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางสูงสุดของกระบวนการพัฒนาชุมชน นั่นก็คือ การพัฒนาคน อันหมายถึง การพัฒนาคนให้มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างได้สัดส่วนกัน การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านวัตถุ ส่วนการพัฒนาให้คนมีคุณธรรม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านจิตใจ
อธิบายได้ว่า กระบวนการพัฒนาชุมชน มุ่งพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ (คุณภาพ) และมีความซื่อสัตย์ ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อชุมชนส่วนรวม (คุณธรรม) เช่น ในด้านเศรษฐกิจมีความสามารถเพิ่มผลผลิตต่าง ๆ มากมายทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มิได้มุ่งค้ากำไรจนเกินควร จนทำให้ประชาชนในชุมชนต้องเดือดร้อน ในด้านสังคมรู้จักทำนุบำรุงศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ให้เกียรติและเห็นความสำคัญของสตรี เด็ก และคนชราอย่างจริงใจ
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช้ศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว เช่น ไม่อ้างศาสนาเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือกระทำตัวไปในทำนอง มือถือสาก ปากถือศีล สำหรับด้านการเมือง คือ รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ช่วยกันส่งเสริมป้องกันและรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ไม่แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวทางด้านนี้ เช่น ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งด้วยความสุจริตใจ ไม่ทำการต่อต้านหรือหาทางทำลายผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับตนเอง หรือเมื่อมีโอกาสเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนในสภาระดับต่าง ๆ ก็ไม่มุ่งแสวงหาแต่ประโยชน์ใส่ตัวโดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น
จุดเน้นของงานพัฒนาชุมชนจึงอยู่ที่ว่า การพัฒนาทางด้านรูปธรรมและนามธรรมจะต้องควบคู่กันไปในอัตราที่ได้สัดส่วน ถ้าหากมุ่งพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ก็จะทำให้เกิดผลการพัฒนาชนิดผิดรูปผิดร่าง นอกจากนี้ นักพัฒนาจะต้องมองชุมชนเสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับบุคคล ๆ หนึ่ง และการพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญในกิจกรรมทุกด้านที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ ตามแนวความคิดนี้ ขอบเขตของงานพัฒนาจึงกว้างขวางมาก พาดพิงไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น การพัฒนาชุมชน มิได้มุ่งขจัดปัญหาของชุมชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทำทุก ๆ ด้านไปด้วยกัน การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนที่มีต่อปัญหาเรื่องอื่น จึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหาที่รอบคอบและจะเป็นผลเสียก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าผลดี ยิ่งไปกว่านี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีปัญหาใดในโลกนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ควรให้ความสำคัญในหลาย ๆ ด้านด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การขาดความสมดุลของการพัฒนา นอกจากจะทำให้เกิดช่องว่างของความก้าวหน้า คือ ความเป็นอยู่ของประชาชนแตกต่างกันมากแล้ว ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สมัยใหม่แต่ไม่พัฒนา (modernization without development) อันหมายถึง ชุมชนหรือคนในชุมชนได้รับการพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างมาก
ในขณะที่การพัฒนาทางด้านจิตใจไม่ได้รับการส่งเสริมให้ทัดเทียมกับความเจริญทางด้านวัตถุนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ มีการสร้างตึกสูงมากมาย ขณะที่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่สร้างตึกนั้นปรับตัวเข้าไม่ทันกับความเจริญทางด้านวัตถุที่เกิดขึ้น โดยประชาชนไม่ได้รับการพัฒนาทางด้านจิตใจให้เตรียมพร้อมที่จะรับกับผลกระทบที่ตามมาจากการสร้างตึกนั้น เช่น ประชาชนไม่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการรักษาความสะอาด การทิ้งขยะมูลฝอย หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจถึงระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีศีลธรรม ปัญหาเด่นชัดที่ตามมา ก็คือ ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาจราจร ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น ด้วยสาเหตุเหล่านี้ การพัฒนาชุมชนจึงยึดหลักการที่เรียกว่า มุ่งพัฒนาในทุก ๆ ด้านให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ หรือท่าทีและทัศนคติของประชาชนมีความสำคัญเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุ
ความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคน
การรวมกลุ่ม
ความยุติธรรม
การศึกษา
หลักประชาธิปไตย
ความสมดุลของการพัฒนา
อุดมการณ์ คุณธรรม
จริยธรรมของนักพัฒนา
ความเชื่อของนักพัฒนา