สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน

ความหมายของชุมชน

ปาริชาติ วลัยเสถียรและคณะ (2543) ได้พยายามศึกษาและรวบรวมความหมายของ “ชุมชน” โดยค้นคว้ารวบรวมจากนักวิชาการหลายท่านดังต่อไปนี้

สัญญา สัญญาวิวัฒน์ (2525) ให้ความหมายว่า “ชุมชน” หมายถึง องค์การทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่งและปวงสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่ได้และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนของตนเองได้

ชยันต์ วรรธนะภูติ (2536) กล่าวถึง “ชุมชน” ในความหมายว่า หมายถึง การอยู่รวมกันของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่ออาศัยทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นในการดำรงชีวิต โดยเหตุที่มีคนกลุ่มดังกล่าวอาศัยอยู่ร่วมกันใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต จึงมีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันขึ้น มีองค์กรหรือสถาบันของชุมชนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ชุมชน หมายถึง สังคมขนาดเล็กในชนบทที่ยังไม่พัฒนาหรือสังคมหมู่บ้านที่สมาชิกของสังคมยังมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และยังสามารถรักษาแบบแผนการดำรงชีวิตบางส่วนได้ และได้ตีความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในระดับเดียวกับคำว่า “สังคมหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นการช่วยให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในระดับ “สังคมหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นการช่วยให้เข้าใจในความหมายของคำว่า “ชุมชน” ในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน ทั้งนี้ เพราะคำว่า “หมู่บ้าน” สื่อความหมายให้เข้าใจถึงการกระจุกตัวของบ้านหลาย ๆ บ้านหรือหลายครัวเรือนในพื้นที่แห่งหนึ่งหรือในระบบนิเวศน์แห่งหนึ่งและเป็นหน่วยสังคมขนาดเล็กที่สุดที่สมาชิกของสังคมพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติและต่อมาภายหลังทางราชการอาจจะกำหนดให้เป็น “หมู่บ้าน” ในความหมายของทางราชการ

กาญจนา แก้วเทพ (2538) กล่าวถึง “ชุมชน” ว่า “ชุมชน“ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตบริเวณเดียวกัน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีฐานะและอาชีพที่คล้ายคลึงกัน มีลักษณะของการใช้ชีวิตร่วมกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปสู่ระดับเครือญาติ จนถึงระดับหมู่บ้านและระดับเกินหมู่บ้านและผู้ที่อาศัยในชุมชนมีความรู้สึกว่าเป็นคนชุมชนเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการดำรงรักษาคุณค่าและมรดกทางวัฒนธรรมและศาสนาถ่ายทอดไปยังลูกหลานอีกด้วย

จิตติ มงคลชัยอรัญญา (2540) กล่าวถึง “ชุมชน” โดยสรุปว่า “ชุมชน” ประกอบไปด้วยระบบความสัมพันธ์ของคน ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ อาชีพ ระบบการเมือง ระบบการปกครอง โครงสร้างอำนาจ รวมถึงระบบนิเวศน์วิทยา สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งระบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีความเชื่อมโยงกันชนิดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

ประเวศ วะสี (2540) ได้ให้ความหมายของ “ชุมชน” โดยเน้น “ความเป็นชุมชน” ว่าหมายถึง การที่คนจำนวนหนึ่งเท่าใดก็ได้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสารหรือรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ มีการจัดการเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน

สำหรับนักวิชาการต่างประเทศ คำว่า Community มีความหมายในภาษาไทยว่า “ชุมชน” ถ้าพิจารณาคำภาษาอังกฤษ “Com” มีความหมาย = together และจะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องใกล้เคียงอีกหลายคำ เช่น Communal ของ ชุมชนเพื่อชุมชน Common = ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย Commune = ความรู้สึกผูกพันธ์ใกล้ชิด

พจนานุกรม Oxford Advanced Learner’s Dictionary English (1994) ได้ให้ความหมายของ ชุมชน ว่าหมายถึง กลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่ง มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน มีศรัทธา ความเชื่อ เชื้อชาติ การงาน หรือมีความรู้สึกนึกคิด ความสนใจที่คล้ายคลึงกัน มีการเกื้อกูลการเป็นอยู่ร่วมกัน

Blaker Brownell (1950) ได้ให้ความหมายของชุมชนไว้หลายประการ ซึ่งสรุปได้ว่า “ชุมชน” คือ การกระทำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นสังคมที่คนรู้จักกันอย่างใกล้ชิดและสนิทสนม

Lofauist (1983) ให้ความหมายในชุมชนว่า “ชุมชน” คือ จิตวิญญาณหรือความรู้สึก เกิดขึ้นเมื่อคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า ความหมายของชุมชนนั้นไม่จำกัดแน่นอนตายตัว อาจพิจารณาได้หลายแง่มุม อาทิ ปรัชญา กายภาพ สังคมวิทยา จิตวิทยา และอาจสรุปได้ว่า “ชุมชน” มีความหมายทั้งรูปธรรมและนามธรรม

1. ในความหมายของชุมชนเชิงรูปธรรมจำกัดอยู่กับความหมายที่ให้ความสำคัญกับอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์หรือบริเวณบ้านเล็ก ๆ ที่มักนึกถึงหมู่บ้านเท่านั้น

2. ในความหมายเชิงนามธรรม “ชุมชน” เป็นคำที่มีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางและใช้ในลักษณะแตกต่างกันออกไป จึงมิอาจกล่าวได้ว่า “ชุมชน” เป็นคำที่มีความหมายแน่นอนตายตัวเพียงประการเดียว การไม่ยึดติดกับความหมายแคบ ๆ ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะช่วยให้เกิดทรรศนะอันกว้างขวางในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้หลายแง่มุมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาแนวคิดและความหมายของชุมชนในทัศนะของการพัฒนาชุมชนก็ควรจะศึกษาถึงความหมายที่เป็นรากฐานและเอื้อต่อการปฏิบัติงานร่วมกันกับสมาชิกของชุมชนต่อไปด้วย

แนวคิดทางสังคมวิทยา
แนวคิดทางมนุษยนิยม
แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนประชาคม
แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนในรูปแบบใหม่
ความหมายของชุมชน
ความหมายของการพัฒนาชุมชน
ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน
จุดมุ่งหมายในการพัฒนาชุมชน
ดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนา
ดัชนีชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย