สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิถีโลก

เอกสารประกอบการสอนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป

วิวัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ และ การเมืองการปกครองของสังคมโลก
สภาพปัจจุบันของสังคมโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การปรับตัวของไทยในสังคมโลก
บรรณานุกรม

ปัญหาและการแก้ปัญหาสังคมของโลก

ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลก

ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลกเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ที่สำคัญได้แก่

1. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครอง

ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครองที่มีความชัดเจนกันมากที่สุดคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่าง 2 ลัทธินี้รุนแรงจนทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มประเทศขึ้นมาในโลกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโลกเสรี และ กลุ่มโลกคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่สำคัญ คือ

1.1 ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต

ซึ่งเกิดจากความเชื่อในลัทธิการเมือง ที่แตกต่างกันการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นลัทธิการเมืองที่เชื่อในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การมีส่วนในการปกครองตนเอง ถือว่าประชาชนคือองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการปกครอง ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเชื่อในเรื่องความเสมอภาค และเชื่อว่ารัฐเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการปกครองส่วนประชาชนนั้นจะต้องเชื่อฟังรัฐ ปรัชญา ของการปกครองแบบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนถือว่าเสียงประชาชนคือ เสียงสวรรค์และรัฐบาลมีอำนาจอยู่ในวงจำกัดส่วนปรัชญาของการปกครองแบบเผด็จการหรือระบบคอมมิวนิสต์ ถือว่า อำนาจคือความถูกต้อง ซึ่งเป็นการจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ และหากเชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องทำลายระบอบประชาธิปไตย ทั้งสองค่ายต่างจึงพยายามล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สหรัฐอเมริกากับสภาพโซเวียตนั้นไม่สามารถต่อสู้กันได้ ไม่ว่าจะขัดแย้งกันเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมาก หากเกิดการต่อสู้รบระหว่างสองประเทศนี้เมื่อใด ก็หมายถึงสงครามล้างโลก ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงต้องหันมาใช้วิธีการ “สงครามเย็น” ต่อสู้กันแทน ทำให้สังคมในช่วงเวลา 50 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงสงครามเย็นตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทที่ 2

1.2 ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ในช่วง วันที่ 6 - 9 มิถุนายน ค.ศ.1989 นักศึกษาปัญญาชนจีนได้ก่อการประท้วงรัฐบาลจีนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน รัฐบาลจีนส่งทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาอย่างโหดร้ายทำให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทางยุโรปตะวันตกได้กล่าวโจมตีประท้วงจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและคว่ำบาตรทางการเศรษฐกิจกับจีน โดยงดส่งเครื่องมือสื่อสาร เรดาร์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอื่น ๆ อันมีผลต่อการพัฒนาจีน ส่วนจีนก็วิเคราะห์ว่าต้นเหตุของการล่มสลายของโซเวียต และประเทศยุโรปตะวันออก สหรัฐอเมริกามีส่วนพัวพัน เป็นเหตุให้จีนหันไปมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย และเพิ่มความสัมพันธ์ กับประเทศกลุ่มโลกที่สามมากขึ้น
แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครอง อาจใช้วิธี ดังนี้

1) การใช้มาตรการขององค์การสหประชาชาติ

องค์การสหประชาชาติได้เข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยวิธี การต่าง ๆ ดังนี้

(1) การจัดตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา ดังเช่น ในกรณีของประเทศกรีซเมื่อถูกคุกคามจากประเทศแอลเบเนีย ยูโกสลาเวีย และบัลแกเรียที่เป็นบริวารของสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ.1946 คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้เข้าไปแทรกแซงและศึกษาสถานการณ์ และรายงานว่าทั้งสามประเทศเป็นฝ่ายผิด ที่เข้าไปก่อความวุ่นวายในประเทศกรีซ ต่อมาก็ได้ลงมติให้ประณามการกระทำของทั้งสามประเทศ เมื่อถูกกดดันจากประชาคมโลกจึงทำให้แอลเบเนีย ยูโกสลาเวีย และบัลแกเรีย จึงต้องยุติการแทรกแซงในกรีซ

(2) การจัดการเจรจา องค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตขึ้นหลายครั้ง เช่นการเจรจาแก้ปัญหาเพื่อยุติสงครามเกาหลี ใน ค.ศ.1951 การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาในสงครามเวียดนามระหว่างทศวรรษที่ 1960 และทศวรรษที่ 1970 การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาสงครามในกัมพูชา ใน ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้น

(3) การใช้มาตรการทางทหาร ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ปฏิบัติการในเกาหลี ในระหว่าง ค.ศ. 1950- 1953 เมื่อเกาหลีเหนือซึ่งปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ส่งกองทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 เข้าโจมตีเกาหลีใต้ องค์การสหประชาชาติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังหลัก ได้ส่งกองทัพกว่า 35 ประเทศเข้าไปปกป้องเกาหลีใต้ให้คงดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้ สหประชาชาติยังใช้มาตรการทางทหารในสงครามอ่าวเปอร์เซียในต้นทศวรรษ 1990 เพื่อกดดันให้อิรักถอนทหารออกจากคูเวต

2) การใช้มาตรการการเจรจาของคู่กรณี

เป็นการเจรจากันระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตที่เริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายจากการเผชิญหน้า โดยมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นปัจจัยหนุนสหรัฐอเมริกา จึงได้ปรับนโยบายใหม่จากแนวคิดที่ว่า ถ้ามีการรุกรานจากสหภาพโซเวียตแต่เพียงเล็กน้อย สหรัฐอเมริกาจะตอบโต้อย่างรุนแรงทุกเรื่องมาเป็น การจำกัดการตอบโต้การรุกรานจาก สหภาพโซเวียตเป็นเรื่อง ๆ เป็นผลให้สหภาพโซเวียตเปลี่ยนนโยบายตาม ในที่สุดทำให้อภิมหาอำนาจทั้งสองสามารถบรรลุถึงข้อตกลงในการจำกัดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ได้ในระดับหนึ่ง หรือกรณีความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ที่ดำเนินมากว่า 50 ปี โดยผู้นำของทั้งสองประเทศได้จัดประชุมสุดยอดที่เมืองเปียงยางเมื่อต้นปี ค.ศ. 2000 ส่งผลให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลายความตึงเครียดและอาจนำไปสู่การรวมประเทศในที่สุด

3) การรวมกลุ่มของประเทศโลกที่สาม

เป็นความพยายามรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพโซเวียต และเพื่อสลัดให้หลุดพ้นจากการเป็นเครื่องมือของอภิมหาอำนาจทั้งสอง เริ่มโดยนายกรัฐมนตรีเนรูห์ แห่งอินเดีย ประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่ง อียิปต์ และประธานาธิบดีตีโต้ แห่งยูโกสลาเวียเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประชุมขึ้นที่กรุงเบลเกรดประเทศยูโกสลาเวีย โดยมีประเทศกลุ่มโลกที่สามเข้าร่วมประชุม 25 ประเทศเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(Non Alignment)ขึ้นใน ค.ศ.1961จากนั้นก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกใน ค.ศ. 1994 เป็นลำดับที่ 109 หลักการของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คือ การให้แต่ประเทศสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นอิสระ ปลอดจากการครอบงำของสองอภิมหาอำนาจเพื่อสันติภาพ และเป็นพลังถ่วงดุลของอภิมหาอำนาจทั้งสอง การตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นมีผลให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตลดความรุนแรงลงด้วย

2. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดน

ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องดินแดน มีมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ที่นับเป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่

1) ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ ดินแดนปาเลสไตน์เคยเป็นของชาวฮิบรู หรือชาวยิว มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล เมื่อโมเสสพาผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน ในดินแดนที่ “พระเจ้าประทานให้” ต่อมาชาวโรมัน เรืองอำนาจจึงได้กวาดต้อนชาวยิวไปใช้งานทั่วจักรวรรดิโรมัน และกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ชาวยิวมักจะถูกเจ้าของประเทศกดขี่ข่มเหง และถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอสงครามสงบฝ่ายชนะสงคราม จึงได้อพยพชาวยิวกลับมาตั้งถิ่นฐานที่ปาเลสไตน์ประกอบกับมีขบวนการไซออนนิสม์ (ZIONISM) ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย เพื่อจัดตั้งรัฐของชาวยิวในปาเลสไตน์ ทั้ง ๆ ที่ในระยะแรกได้มีข้อตกลงให้แยก ปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน คือรัฐของชาวยิวส่วนหนึ่งและรัฐของชาวปาเลสไตน์อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่าย ก็ไม่พอใจเพราะทำให้ชาวปาเลสไตน์ซึ่งอาศัยอยู่ต้องกลายเป็นผู้ไร้ดินแดน ต้องลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดน ทั้งยังขอความช่วยเหลือจากชาวอาหรับที่อยู่ใกล้เคียงโจมตีขับไล่ชาวอิสราเอลออกไป และตั้งกองกำลัง ขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มกันยายนทมิฬ กลุ่มฮาร์มาซที่ปฏิบัติการรุนแรง แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มองค์การปลดแอกปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization : PLO) ที่มีนายยัสเซอร์ อาราฟัต เป็นผู้นำ ส่วนกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น เลบานอน อิรัก ซีเรีย ที่มีอียิปต์เป็นผู้นำกลุ่มได้รวมกำลังทำสงครามกับอิสราเอลหลายครั้งแต่ไม่เคยเอาชนะได้ กลับต้องเสียดินแดนให้อิสราเอลมากขึ้นที่สำคัญคือ ฉนวนกาซา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) แม้ปัจจุบันนี้ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ก็ยังดำเนินอยู่

2) กรณีอิรักยึดครองคูเวต ในปี ค.ศ. 1990 อิรักโดยการนำของ ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซนได้ส่งกองกำลัง เข้ายึด คูเวต โดยอ้างว่าคูเวตลักลอบขโมยน้ำมันของอิรักและละเมิดข้อตกลงในการผลิตน้ำมัน ที่แท้จริงแล้วอิรักต้องการผนวกดินแดนคูเวตมารวมกับตน เนื่องจากอิรักประสบปัญหาเศรษฐกิจมีหนี้สินมากมายจากสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน การผนวกคูเวตจะทำให้อิรักได้ครอบครองแหล่งน้ำมันที่สำคัญของโลก

3) ปัญหาการแย่งชิงดินแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ทั้งสองประเทศมีปัญหาในการแย่งชิงแคว้นแคชเมียร์ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากการแบ่งดินแดนเป็นสองประเทศใน ค.ศ. 1947 ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิด การสู้รบกันหลายครั้งทั้งอินเดีย และปากีสถานต่างอ้างสิทธิเหนือแคว้นแคชเมียร์ เพราะเป็นดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลามผูกพัน และอยากรวมกับปากีสถาน แต่เจ้าผู้ครองนครและคนระดับสูงเป็นฮินดูผูกพันและอยากรวมตัวกับประเทศอินเดีย

แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดน

ส่วนใหญ่อาศัยบทบาทขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ คือองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหน่วยงานคณะมนตรีความมั่นคง และการดำเนินการของเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหลัก ดังเช่น

1) กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1948 สหประชาชาติให้แยกปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน คือ รัฐของชาวยิว และรัฐของชาวปาเลสไตน์เพื่อกันคู่กรณีออกจากกัน แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มประเทศอาหรับ

ใน ค.ศ. 1967 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้วางหลักการสำคัญใน การยึดครองหลังสงครามหกวัน และให้มีการรับรองรัฐต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง แต่มตินี้ก็ไม่สามารถบรรลุผล เพราะประเทศกลุ่มอาหรับไม่ยอมรับรองรัฐอิสราเอล และอิสราเอลเองก็ไม่ถอนกำลังออกจากเขตยึดครอง

ใน ค.ศ. 1974 องค์การสหประชาชาติจึงมีมติว่าประชาชาติปาเลสไตน์ ประมาณ 7 แสนคน ที่ลี้ภัยอยู่นอกดินแดนปาเลสไตน์ มีฐานะความเป็นประชาชาติ มีสิทธิ์ที่จะกลับคืนถิ่นฐานมีสิทธิที่จะได้คืนทรัพย์สินและมีสิทธิจัดการปกครองตนเองได้

ใน ค.ศ. 1977 สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างอียิปต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลวาร์ ซาดัต ที่เป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล จนสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคืออียิปต์ถูกต่อต้านจากประเทศอาหรับหัวรุนแรง และประธานาธิบดีอัลวาร์ ซาดัต ก็ถูกสังหารโดยคนอียิปต์เองที่ไม่พอใจการกระทำของอัลวาร์ ซาดัต

ใน ค.ศ. 1988 ผู้นำขบวนการ พี แอล โอ คือนายยัสเซอร์ อาราฟัต ได้จัดประชุมสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ทั่วโลก ประกาศตั้งประเทศปาเลสไตน์โดยถือเอาฉนวนกาซา และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน เป็นที่ตั้งประเทศและประกาศเลิกใช้วิธีการรุนแรง และการก่อการร้าย ต่อมาประเทศปาเลสไตน์ได้รับ การรับรองจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 30 ประเทศแต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นผลเพราะดินแดนที่จะเป็นที่ตั้งของประเทศปาเลสไตน์ยังถูกยึดครอง โดยกำลังทหารอิสราเอล

ด้วยความพยายามของทุกฝ่าย ทั้งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาและประเทศ ต่าง ๆ จึงทำให้สันติภาพเริ่มปรากฏขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี ยิสซัคราบิน ของอิสราเอลและนายยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำชาวปาเลสไตน์ ได้ทำสัญญาสันติภาพในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1994 โดยอิสราเอลยอมรับการเกิดรัฐปาเลสไตน์ และสัญญาว่าจะถอนกำลังทหารจากเขตยึดครอง เป็นผลให้ทั้งสองคนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่สันติภาพก็เริ่มเกิดปัญหาอีก เมื่อยิสซัคราบิน ถูกสังหาร โดยนักศึกษาหัวรุนแรงชาวยิว ที่ไม่พอใจสัญญาสันติภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้นำคนใหม่ ที่ไม่เห็นด้วยกับสัญญาสันติภาพ คือ นายเบนจามิน เนทันยาฮู ขึ้นบริหารประเทศ สัญญาสันติภาพจึงไม่ได้รับการสนองตอบจากอิสราเอล จนเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในปัจจุบัน

2) กรณีอิรักยึดครองคูเวต ในปี ค.ศ. 1990 นั้น องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาหรับเองเห็นว่าอิรักเป็นผู้ผิด จึงได้มีการเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตแต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากอิรัก องค์การสหประชาชาติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำจึงใช้มาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1990 โดยการเรียกร้องให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติยุติการค้าขาย และการติดต่อทางธุรกิจกับอิรัก การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้จะสร้างปัญหาให้กับ อิรักแต่ไม่มากพอที่จะทำให้อิรักถอนกำลังทหารจากคูเวตได้ เนื่องจากมีบางประเทศไม่ให้ความร่วมมือที่สำคัญคือ ประเทศจอร์แดนที่มีพรมแดนติดต่อกับอิรักยังเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกของสินค้าจำเป็น

องค์การสหประชาชาติ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ จึงได้ใช้มาตรการทางทหารโดยกำหนดว่าหากอิรักยังคงยึดครองคูเวตต่อไปแล้ว ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 องค์การสหประชาชาติจะใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ แต่ประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน ก็ยังคงดื้อแพ่ง เพราะเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะใช้สิทธิยับยั้ง(Veto) อันจะมีผลให้ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้แต่สหภาพโซเวียตแสดงความไม่เห็นชอบด้วยทางการงดออกเสียงเท่านั้น ดังนั้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 กองทัพขององค์การสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงได้เข้าโจมตีกองทัพอิรักด้วยประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ทำให้อิรักต้องถอนทหารออกจากคูเวตในที่สุด และต้องเซ็นสัญญาสันติภาพที่เหมือนเป็นมาตรการลงโทษอิรักมีสาระสำคัญว่า อิรักจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้คูเวต อิรักต้องยอมรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันที่องค์การสหประชาชาติกำหนด อิรักจะต้องถูกจำกัดเขตปฏิบัติการทางทหาร อิรักจะต้องให้เจ้าหน้าที่ สหประชาชาติ (UNSCOM) เข้าไปตรวจสอบอาวุธ จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างสหประชาชาติกับอิรักจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าแนวทางแก้ไขดังกล่าว จะสามารถทำให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตได้ แต่ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดการเผชิญหน้ากับอิรักอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา และเนื่องจากอิรักมักจะละเมิดข้อตกลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง และเป็นภัยต่อมนุษยโลก จึงทำให้เกิดปัญหากับองค์การสหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา

3) กรณีการแย่งชิงดินแดน ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ใน ค.ศ. 1948 คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสหประชาชาติสำหรับปากีสถานและอินเดีย (United Nation Commission for Pakistan and India : UNCPI) ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ซึ่งมีหน้าที่สังเกตการณ์และทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาแคว้นแคชเมียร์ แต่การไกล่เกลี่ยก็ไม่สำเร็จ คณะมนตรีความมั่นคงจึงได้ตั้งผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศเข้าควบคุมสถานการณ์ พิจารณาเรื่องการพักรบและการถอนทหาร แต่ไม่สำเร็จอีกใน ค.ศ. 1949 องค์การสหประชาชาติจึงได้แจ้งให้คู่กรณีแก้ปัญหา โดยการเจรจาแต่ก็ไม่สำเร็จอีก เพราะอินเดียไม่ยอมรับ “การลงประชามติ” ของประชาชนในแคชเมียร์

ใน ค.ศ. 1957 คณะมนตรีความมั่นคงได้เตรียมการให้มีการลงประชามติโดยมีองค์การ สหประชาชาติควบคุม แต่การลงประชามติก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้เพราะอินเดียไม่ให้ความร่วมมือ จนเกิดสงครามอีกใน ค.ศ. 1964 – 1965 องค์การสหประชาชาติจึงเข้ายุติสงคราม และได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อมิให้เกิดการสู้รบอีก เช่น การกำหนดไม่ให้ทั้งสองประเทศเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในแคว้น แคชเมียร์แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร จึงทำให้ปัญหายังคงอยู่ตลอดมา ล่าสุดก็ได้เกิดการสู้รบกันอีก ใน ค.ศ. 1998 จนถึงปัจจุบัน

3. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง อันเป็นผลมาจาก

ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ดังเช่น กรณีสังหารหมู่ชาวยิวในเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือกรณีความขัดแย้งกรณีคนผิวดำกับคนผิวขาว หรือแม้กระทั่งคนผิวสีเดียวกัน แต่ต่างเชื้อชาติ ที่สำคัญได้แก่

1) ความขัดแย้งในเมียนมาร์ ประเทศพม่าหรือที่เรียกว่าเมียนมาร์ในปัจจุบันประกอบด้วยประชาชนกลุ่มใหญ่ 4 เชื้อชาติ คือ คนพม่าแท้ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และมอญ ก่อนที่อังกฤษจะมอบเอกราชแก่พม่า ได้จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองในอนาคต จนเกิดข้อตกลงปางหลวงขึ้น สาระสำคัญ คือทุกกลุ่มจะได้รับเอกราชโดย เท่าเทียมกัน การร่วมสร้างข้อตกลงนี้เอง ทำให้อูอองซาน ผู้นำการต่อสู้คนสำคัญที่สุดของพม่าถูกฆาตกรรมโดยกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรง เป็นผลให้อูนุ ผู้นำขบวนการชาตินิยม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และมอญ ไม่สามารถก่อตั้งประเทศและประกาศเอกราชได้ ต้องตกเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ใน สหภาพเมียนมาร์ จึงได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาร์ โดยกะเหรี่ยงยึดที่มั่นบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ไทยใหญ่ยึดที่มั่นบริเวณรัฐฉาน (Shan State) และมอญยึดที่มั่นบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดความไม่สงบอยู่เสมอมา จนทุกวันนี้

2) ปัญหาความขัดแย้งในยูโกสลาเวีย ประเทศยูโกสลาเวีย ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ คนส่วนใหญ่คือ ชาวเซิร์บ ที่มีอำนาจปกครองและบริหารประเทศมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นอกจากชาวเซิร์บแล้วมีชาวสโลวัก ชาวโครแอท ชาวมุสลิม และชาวเคิร์ดเชื้อสายแอลเบเนีย เดิมประเทศยูโกสลาเวียปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต เมื่อโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 กระแสชาติพันธุ์นิยม และกระแสประชาธิปไตยได้แพร่เข้ามายังประเทศยูโกสลาเวียส่งผลให้ชนชาติต่าง ๆ ประกาศแยกตัวเป็นอิสระเริ่มจาก โครเอเชีย สโลเวเนีย มาซิโดเนียและบอสเนีย การแยกตัวของบอสเนีย ได้นำไปสู่การสู้รบที่รุนแรง

แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ อาจมีแนวทางแก้ปัญหาได้ดังนี้

1) กรณีความขัดแย้งในเมียนมาร์ปัญหาการต่อสู้ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ในเมียนมาร์ไม่ได้รับความสนใจแก้ปัญหาจากสังคมโลกเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่จากสภาพการสู้รบดังกล่าวทำให้แต่ละฝ่ายต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานระดับนานาชาติ เข้าไปแก้ไข ยังคงปล่อยให้เป็นเรื่องการเมืองภายในของเมียนมาร์ต่อไป จนชาวกระเหรี่ยงต้องเข้ามายึดสถานที่ ราชการในประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปแก้ไขปัญหา ถึงกระนั้นก็ไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ ทั้งนี้เพราะเมียนมาร์ถือว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ

2) กรณีความขัดแย้งในยูโกสลาเวียปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติในประเทศยูโกสลาเวีย ในระยะแรกสหประชาชาติเพียงแต่จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และหน่วยบรรเทาทุกข์เข้าไปช่วยเหลือสังเกตการณ์เท่านั้นเพราะรัฐบาลกลางของยูโกสลาเวียที่เป็นชาวเซิร์บ ประกาศว่าเป็นเรื่องภายในของยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะการปราบปรามประชาชนชาวมุสลิม ในแคว้นบอสเนีย จนกระทั่งเมื่อมีการรับรองประเทศบอสเนียจากกลุ่มประเทศยุโรปที่มีกลุ่มประชาคมยุโรปเป็นตัวตั้งตัวตี จึงทำให้องค์การสหประชาชาติมีสิทธิตามบทบัญญัติที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ โดยการตั้งคณะกรรมการสันติภาพขึ้นแต่รัฐบาลเซิร์บก็ไม่ยอมรับ ยังคงสังหารคนมุสลิมอย่างทารุณต่อไป

ต่อมาองค์การสหประชาชาติ ได้ขอให้องค์การนาโตส่งกองกำลังเข้ารักษาสันติภาพในยูโกสลาเวีน ขณะเดียวกันก็จัดการเจรจา โดยตัวแทนของรัฐบาลเซิร์บและตัวแทนของประชาชนชาวมุสลิม จากการเจรจานานนับปี ในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้ โดยรัฐบาลกลางชาวเซิร์บของยูโกสลาเวียยอมรับการแยกตัวของประเทศบอสเนีย

ใน ค.ศ. 1998 องค์การสหประชาชาติ และองค์การนาโต ที่รักษาความสงบอยู่ใน ยูโกสลาเวีย ก็ต้องแก้ปัญหาอีก เมื่อเกิดกรณีแยกตัวของประชาชนเชื้อสายแอลเบเนีย สงครามล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหม่จึงได้เริ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีสโลโบดาล มิโลเซวิซ ไม่ยอมรับข้อเสนอให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจากองค์การ สหประชาชาติและองค์การนาโตที่ยื่นคำขาดให้ยุติการทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ รัฐบาลกลางเซิร์บกลับไม่ปฏิบัติตามองค์การนาโตจึงได้ใช้กองกำลังทหารโจมตีทิ้งระเบิด ยูโกสลาเวียในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1999 ปัจจุบัน ยูโกสลาเวีย ได้แยกออกเป็น 5 ประเทศ คือ บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา โครเอเชีย สโลเวเนีย มาซิโดเนีย เซอร์เบียและมอนเตเนโกร

4. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา

ความขัดแย้งในเรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศ ดังนี้

1) ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม ในประเทศอินเดียที่มีชาวฮินดู กับชาวมุสลิมขัดแย้งกันอยู่ก่อนแล้วและทวีความรุนแรงมากขึ้นในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้กระทั่งในการต่อสู้เพื่อเอกราชของขบวนการชาตินิยมชาวฮินดู ที่นำโดยมหาตมะคานธี กับขบวนการชาตินิยมของมุสลิมที่มีโมฮัมเหม็ดอาลี จินนาห์ เป็นผู้นำ ก็มีแนวทางที่แตกกันและไม่สามารถประสานการต่อสู้ร่วมกันได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ได้เตรียมมอบเอกราชแก่อินเดีย แต่ก็ตระหนักดีว่าหากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาก่อน อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อมีการเจรจาที่จะมอบเอกราชให้อินเดีย ใน ค.ศ. 1945 อังกฤษ จึงยอมให้สันนิบาตมุสลิมส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาด้วย สันนิบาตมุสลิมที่มีโมฮัมเหม็ดอาลี จินนาห์ เป็นผู้นำ เรียกร้องที่จะมีประเทศของตนเองแยกออกมาจากประเทศอินเดียได้สำเร็จและ นำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายจนทุกวันนี้

2) ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู ในประเทศศรีลังกาที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหลนับถือพระพุทธศาสนา ส่วนคนกลุ่มน้อยคือชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู เป็นอีกดินแดนหนึ่งที่เป็นผลจากการใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ของอังกฤษ หลังจากได้รับเอกราช ศรีลังกาใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ เนื่องจากประชากรสิงหลที่เป็นชาวพุทธ มีจำนวนประมาณ 70% จึงสามารถ ผูกขาดอำนาจการปกครองตลอดมา ทำให้คนทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดูได้พยายามรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลชาวพุทธ เพื่อแยกตนไปตั้งรัฐใหม่ขึ้นเอง โดยการใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกที แกนนำสำคัญของขบวนการชาวทมิฬฮินดู คือ กลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” โดยยึดแนวทางใช้ความรุนแรง เช่น การลอบสังหาร การก่อวินาศกรรม การวางระเบิด จากการโจมตีครั้งใหญ่ ในค.ศ.1998 ได้สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายรัฐบาลมากมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าขบวนการของชาวฮินดูในศรีลังกาได้รับความช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากอินเดีย

แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา มีแนวทางได้ดังนี้

1) กรณีความขัดแย้งระหว่างฮินดูกับชาวมุสลิม ก่อนมอบเอกราชนั้นอังกฤษได้มีความพยายามแก้ปัญหาของคนฮินดูและมุสลิมมาตลอด แต่เหตุการณ์กลับรุนแรงมากขึ้นทุกที จนในที่สุดเห็นว่าไม่มีทางสำเร็จ จึงยอมรับแนวคิดการแบ่งประเทศของสันนิบาตมุสลิม ได้มีการแยกประเทศปากีสถานออกจากอินเดียในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 โดยได้แยกดินแดนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก คือแคว้น ปัญจาบ อัสสัม เบงกอล สินธุ บาลูจิสถานและมณฑลเล็กๆ ทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ผลจากการที่คานธียินยอมในข้อตกลงครั้งนี้ทำให้คนฮินดูหัวรุนแรงไม่พอใจมาก ในที่สุดเขาจึงถูกสังหารโดยเด็กหนุ่มชาวฮินดู นำความเศร้าสลดแก่ชาวฮินดูเป็นอย่างยิ่ง แม้จะแก้ปัญหาโดยการแบ่งแยกดินแดน และการปกครองขาดจากกันระหว่าง ชาวฮินดูและชาวมุสลิมแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ยังคงอยู่ อินเดีย และปากีสถานกลายเป็นประเทศคู่ขัดแย้ง จนต้องทำสงครามกันอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยัง มีความขัดแย้งอยู่เสมอมา

2) กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและ ชาวฮินดูในศรีลังกาส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลศรีลังกาเอง เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศใน ค.ศ. 1964 รัฐบาลศรีลังกาที่มีนางศิริมาโว บันดาราไนยะเก เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตกลงกับรัฐบาลอินเดีย แต่ศาสนาที่แตกต่างกันทำให้ชน 2 กลุ่มในศรีลังกามีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และไม่สามารถเข้ากันได้ ข้อตกลงนี้จึงทำให้ชาวทมิฬฮินดู ต่อต้านเพราะ ไม่ต้องการกลับอินเดียที่พวกเขาอพยพมา และไม่ต้องการอยู่ใต้การปกครองของชาวสิงหลที่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้น จึงเพิ่มความรุนแรงในการต่อสู้มากขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลอินเดียยังไม่ให้ความร่วมมืออย่างแท้จริง ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในศรีลังกาคงจะยุติลงยาก (มนัส ธัญญเกษตร และคนอื่น ๆ 2542 : 178 – 189)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจการเมือง การปกครอง ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และดำเนินเรื่อยมา แท้ที่จริงแล้วได้มีความพยายามที่จะแก้ไขอยู่ ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 แม้แต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) ก็ได้หาวิธีการที่จะทำให้สังคมโลกดำเนินวิถีทางสังคมการเมืองเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน เพื่อลดปัญหาการขัดแย้ง จึงได้จัดวาง ระเบียบโลกใหม่ (New World Order ) ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การค้าเสรีและสิ่งแวดล้อม

ประชาธิปไตย ในทุกประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของตนเองว่าอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจของประชาชนเสมอ การแสดงออกของอำนาจอธิปไตยมีหลายอย่าง เช่น การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย การตัดสินปัญหาสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

สิทธิมนุษยชน ประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดสันติภาพ และความผาสุกขึ้นในสังคมระหว่างประเทศ
การค้าเสรี คือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงในการค้า จะปล่อยให้การค้าดำเนินไปเองโดยปราศจากการกีดกัน

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจร และวัฏจักรที่เกี่ยวกันไปทั้งระบบเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในโลกอย่างมีความสุข การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงโดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากที่สุด เพื่อยกระดับ “คุณภาพแห่งชีวิต”

ปัญหาและการแก้ปัญหาทางสังคมของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก
ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลก
บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย