สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

รัฐ (State)

การรับรองรัฐ (Recognition)

การรับรองรัฐเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองเพราะว่ารัฐทุกรัฐ อยู่ในสังคมโลก จำเป็นจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐอื่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐอื่นให้ความเห็นชอบหรือเห็นว่ารัฐนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงให้การรับรองและการรับรองเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐหนึ่งที่ให้แก่รัฐหนึ่ง การรับรองรัฐจึงมิได้เกิดขึ้นโดยการบังคับ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่ารัฐใดที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐอื่นจะไม่มีสภาพความเป็นรัฐ แต่อาจจะมีผลกระทบเฉพาะด้าน การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศได้ ในปัจจุบันการรับรองรัฐมักจะถือเอาตามค่ายลัทธิการเมืองหรือค่ายผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลักโดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องหรือคุณสมบัติที่แท้จริงเท่าไรนัก เช่น กรณีประเทศกัมพูชาฝ่ายโลกเสรีรับรองรัฐบาลของเขมรสามฝ่าย ซึ่งเจ้านโรดมสีหนุเป็นหัวหน้า แต่ฝ่ายค่ายคอมมิวนิสต์รับรองรัฐบาลของฮุนเซน ที่มีเวียตนามหนุนหลัง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าในบางครั้งการรับรองรัฐก็มิได้คำนึงถึงคุณสมบัติที่ถูกต้องเท่าไรนัก แต่ด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

จรูญ สุภาพ กล่าวถึงการรับรองรัฐไว้ 2 ประเภท คือ

1. การรับรองโดยพฤตินัยหรือตามข้อเท็จจริง (De Facto) เป็นการรับรองในฐานะที่รัฐนั้นได้เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง มีคุณสมบัติของรัฐโดยครบถ้วน ซึ่งอาจจะทำให้รูปของการประกาศรับรองการติดต่อค้าขายระหว่างกัน แต่ยังไม่มีการับรองในรูปของกฎหมาย คือ การให้สัตยาบัน ซึ่งหมายความว่ารัฐใหม่อาจจะเกิดขึ้น แต่รัฐอื่นยังสงสัยในลักษณะบางประการของรัฐใหม่ จึงเพียงแต่ให้ความยินยอมหรือรับรองว่ารัฐนั้นมีจริง จึงมิได้รับรองในทางกฎหมายที่เป็นลักษณะถาวรดังกล่าว

2. การรับรองโดยนิตินัยหรือตามกฎหมาย (De Jure) คือ การรับรองเป็นทางการและเป็นการถาวร (Permanent) เป็นการรับรองต่อสภาพความถูกต้องของรัฐ ซึ่งประเทศที่ให้การรับรองจะต้องมีความมั่นใจว่าประเทศที่เกิดขึ้นใหม่นั้นมีสภาพที่ถูกต้องครบถ้วนบริบูรณ์ แต่การรับรองรัฐโดยกฎหมายนี้มิได้หมายความว่า รัฐที่ให้การรับรองรัฐอื่นนั้นจะมีความเห็นชอบกับลัทธิการปกครองของรัฐนั้นด้วย เช่น ประเทศไทยให้การรับรองประเทศเวียตนามก็มิได้หมายความว่า ไทยเห็นชอบกับลัทธิการปกครองของเวียตนาม ซึ่งจะเห็นได้ว่า การรับรองกับการเห็นชอบเป็นคนละเรื่องกัน แต่การรับรองโดยนิตินัยนั้นอาจจะทำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

2.1 การรับรองระหว่างรัฐต่อรัฐ กล่าวคือ มีความสัมพันธ์ติดต่อทางการทูต มีสถานทูต มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตระหว่างกัน

2.2 การรับรองจากองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) กล่าวคือ องค์การระหว่างประเทศรับรองโดยยอมรับเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ เช่น องค์การสหประชาชาติ

การรับรองรัฐทั้ง 2 ประเภทนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น รัฐที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของรัฐอื่นมีอิสระในการปกครองตนเองหรือรัฐที่แยกตัวออกจากกันเป็นอิสระในการปกครอง เช่น ประเทศปากีสถานแยกออกจากอินเดีย หรือรัฐที่เปลี่ยนแปลงจากลัทธิการปกครองหนึ่งไปสู่ลัทธิการปกครองอีกลัทธิหนึ่ง เช่น โซเวียตเปลี่ยนจากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแบบสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ประเทศไทยเปลี่ยนจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นแบบประชาธิปไตย และประเทศลาวเปลี่ยนจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น ประเทศเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากรัฐอื่น ๆ ในโลก การได้รับการรับรองจากนานาประเทศนั้นย่อมมีประโยชน์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม คือ ประโยชน์ในแง่สิทธิทางการเมือง การได้รับความเคารพอำนาจอธิปไตย การทำสนธิสัญญาในด้านต่าง ๆ กับรัฐอื่น การแลกเปลี่ยนซื้อขายทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทางด้านศิลปะวัฒนธรรมกับรัฐอื่น ๆ

องค์ประกอบของรัฐ
การกำเนิดรัฐ (Origin of State)
การรับรองรัฐ (Recognition)
รูปของรัฐ (Forms of The State)
รูปของรัฐบาล (Forms of Government)
หน้าที่ของรัฐ (Functions of The State)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย