สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

รัฐ (State)

รูปของรัฐบาล (Forms of Government)

2. รัฐบาลแบบประธานาธิบดี (Presidential Government)

รัฐบาลแบบประธานาธิบดีจะมีการแยกผู้ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสัดส่วน โดยไม่มีการแบ่งแยกความรับผิดชอบแต่ละส่วนมีอำนาจที่จะปฏิบัติการโดยเสรี (Discretion) ภายในขอบเขตแห่งการใช้อำนาจอธิปไตยของตน “การปกครองโดยรัฐบาลแบบประธานาธิบดีนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มเป็นชาติแรกและมีอายุนานมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งรัฐบาลแบบประธานาธิบดีของอเมริกานั้นจะมีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะไม่เหมือนประธานาธิบดีประเทศใดในโลกก็ว่าได้ เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีของอเมริกาเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นทั้งประมุขของฝ่ายบริหารซึ่งประเทศอื่น ๆ อาจจะมีประธานาธิบดีแต่ฐานะอาจแตกต่างออกไป เช่น ประธานาธิบดีของอินเดียหรือประธานาธิบดีของฝรั่งเศสทั้งสองประเทศนี้ประธานาธิบดีแตกต่างจากอเมริกา คือ ประธานาธิบดีเหมือนกันรัฐบาลไม่ได้เป็นแบบรัฐบาลประธานาธิบดี
ลักษณะที่สำคัญบางประการของรัฐบาลแบบประธานาธิบดี พอสรุปได้ดังนี้

1. องค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการมาจากเลือกตั้งและการแต่งตั้งโดยแยกสัดส่วนจากกันมาตั้งแต่ต้น คือ

ฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกของรัฐสภาไปทำหน้าที่ออกกฎหมายอย่างเดียว สมาชิกรัฐสภาที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้นจะไม่มีสิทธิได้เป็นฝ่ายบริหารเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนของไทย

ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขนั้น ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จะต้องผ่านการเลือกมาจากพรรคการเมืองแต่ละพรรค เมื่อประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศแล้ว ประธานาธิบดีก็จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแต่งตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นคณะรัฐมนตรี โดยมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Chief Executive) ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดในการที่จะแต่งตั้งใครก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง (แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องฟังเสียงคัดค้านจากสมาชิกด้วย) หากประธานาธิบดีไม่พอใจรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะ ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะปลดออกจากตำแหน่งได้ เพราะถือว่าคณะรัฐมนตรีที่ประธานา ธิบดีแต่งตั้งมานั้นมีฐานะเป็นเพียงผู้ช่วยหรือเลขานุการของประธานาธิบดีเท่านั้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีนี้ไม่มีฐานะเป็นองค์การที่จะทำการพิจารณาตัดสินปัญหา เช่นกับคณะรัฐมนตรีแบบรัฐสภา คณะรัฐมนตรีแบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีจึงมีความรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีแต่ผู้เดียว

ฝ่ายตุลาการ ศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาจะได้มาจากการแต่งตั้ง แต่ในการแต่งตั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยอำนาจมากกว่าหนึ่งหน่วย เช่น ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา จะแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี แต่จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยอำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้วจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต หลักเกณฑ์เหล่านี้ทำให้ศาลเป็นสถาบันอิสระปราศจากการครอบงำโดยอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลจึงทำหน้าที่สองประการคือ ทำหน้าที่พิจารณาอรรถคดีพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาให้เป็นไปอย่างยุติธรรม ประการหนึ่ง และเป็นผู้พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญมีให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารละเมิดอีกประการหนึ่ง

2. ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามส่วน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด คือ แต่ละฝ่ายมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจจะถอดถอนหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารจนทำให้ฝ่ายบริหารลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ฉะนั้นประธานาธิบดีจะอยู่ในวาระจนครบเทอม หรือฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจที่จะยุบสภา สภาจะอยู่ในวาระจนครบเทอมเช่นเดียวกัน ส่วนฝ่ายตุลาการก็มีอิสระในการพิพากษาอรรถคดีได้อย่างอิสระเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามระหว่างองค์กรประธานาธิบดีและองค์กรนิติบัญญัติ ในทางปฏิบัติแล้วยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ เช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะยับยั้งกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมาได้และในทำนองเดียวกันรัฐสภามีอำนาจดำเนินคดีกับประธานาธิบดีด้วยวิธีที่เรียกว่า Impeachment คือ การฟ้องร้องกล่าวหาประธานาธิบดี ซึ่งได้กระทำผิดฐานทรยศต่อประเทศชาติหรือประกอบอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ โดยสภาผู้แทนราษฎรยื่นเรื่องราวต่อวุฒิสภาและวุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดคดีด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3

3. ในทางปฏิบัติงานของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการของรัฐสภา แต่ในกรณีพิเศษประธานาธิบดีสามารถเข้าไปกล่าวคำปราศรัยต่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ทราบนโยบายที่สำคัญ ๆ ของตนเป็นครั้งคราว ในคราวที่มีการประชุมรัฐสภา

ข้อสังเกตที่สำคัญบางประการเกี่ยวกับรัฐบาลแบบประธานาธิบดี คือ

1. รูปรัฐบาลแบบประธานาธิบดี เป็นระบบคานอำนาจ (Balance of Power) กล่าวคือ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ จะแบ่งแยกอำนาจกันเกือบเด็ดขาดหรือเด็ดขาดและมีการตรวจสอบซึ่งกัน (Checks of Balance)

2. ประธานาธิบดี จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นประมุขของประเทศ (Titular Head of State) พร้อม ๆ กันไป

3. ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว สำหรับรัฐมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง (สมาชิกสภาสูงหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)

4. การอยู่ในตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีจะอยู่ไปจนครบวาระของตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงข้างมากหรือน้อยในสภาหรือกลัวถูกยุบสภา

5. เมื่อพิจารณารูปรัฐบาลแบบรัฐสภาและแบบประธานาธิบดีแล้วบางครั้งอาจเกิดความสับสนได้ในกรณีที่ประเทศในระบบรัฐสภามีประมุข (Head of State) เป็นประธานาธิบดี เช่น อินเดีย สิงคโปร์ จะทำให้เกิดความสงสัยว่าเป็นระบบใด วิธีการสังเกตว่าเป็นรัฐบาลแบบใด คือ

5.1พิจารณาว่าประเทศนั้นมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ถ้ามีทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานาธิบดีก็แสดงว่าเป็นแบบรัฐสภา

5.2 พิจารณาว่าประธานาธิบดีมีอำนาจทางการเมืองหรือมีอำนาจทางการบริหารประเทศด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีก็แสดงว่าไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีหรือไม่ใช่รัฐบาลแบบประธานาธิบดี

  1. รัฐสภาแบบรัฐสภา
  2. รัฐสภาแบบประธานาธิบดี
  3. รัฐสภาแบบกึ่งสภาและกึ่งประธานาธิบดี

องค์ประกอบของรัฐ
การกำเนิดรัฐ (Origin of State)
การรับรองรัฐ (Recognition)
รูปของรัฐ (Forms of The State)
รูปของรัฐบาล (Forms of Government)
หน้าที่ของรัฐ (Functions of The State)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย