สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

กฎหมาย (Law)

ที่มาของกฎหมาย

กฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ของสังคมโลกปัจจุบันนี้ ย่อมจะมีที่มาหรือที่เกิดแตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็เพราะว่ากฎหมายที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นจะใช้บังคับได้ตลอดนานเท่านานไม่ กฎหมายย่อมจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นบ้างและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนั้นการเจริญเติบโตของสังคม สภาพทางการเมืองเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในสังคมก็ล้วนแต่เป็นแหล่งที่เกิดขึ้นของกฎหมายด้วยเช่นกัน นักนิติศาสตร์ได้ศึกษาถึงแหล่งที่มาของกฎหมายอย่างกว้าง และในที่สุดสามารถสรุปได้ว่าในปัจจุบันนี้มีแหล่งที่มาของกฎหมายอยู่ 10 ทางด้วยกัน คือ

1. ขนบธรรมเนียม (Custom)
2. การออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislation)
3. คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Decree)
4. คำพิพากษาของศาล (Judicial Decisions)
5. บทความทางวิชาการกฎหมาย (Commentaries)
6. รัฐธรรมนูญ (Constitution)
7. สนธิสัญญา (Treaties)
8. ประมวลกฎหมาย (Codification)
9. ประชามติ (Referendum)
10. หลักความยุติธรรม (Equity)

จากแหล่งที่มาทั้ง 10 ข้างต้นนี้สามารถที่จะให้คำอธิบายเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ คือ

1. ขนบธรรมเนียม ขนบประเพณี ธรรมเนียมประเพณี จารีตประเพณี ทั้งสามคำนี้เป็นคำที่เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าจะกล่าวโดยความหมายแล้วก็ได้ในลักษณะเดียวกัน คือ แบบแผนแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมหรือกระสวนพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงอนุชนรุ่นหลัง ฉะนั้นแบบแผนของพฤติกรรมที่กล่าวถึงนี้ได้รับการยอมรับนับถือเป็นแบบฉบับปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานโดยเฉพาะในสังคมชนบทนั้นได้ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดมากในบางสังคม เมื่อปฏิบัติสืบทอดกันมาด้วยความเชื่อที่แนบแน่นโดยมีแบบแผนที่มั่นคงก็จะถือว่า ถ้าใครปฏิบัติผิดหรือฝ่าฝืนในบางประเพณีก็จะถูกลงโทษโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การไม่คบค้าสมาคมด้วย (การคว่ำบาตร) การคาดโทษ การกล่าวติฉินนินทาและการให้ขอขมา เป็นต้น แต่จารีตประเพณีบางอย่างได้ยึดถือปฏิบัติเคร่งครัดยิ่งกว่านั้นอีก เช่น จารีตประเพณีการไม่แต่งงานกับบุตรบุญธรรม หรือจารีตประเพณีที ่มารดาบิดาจะต้องเลี้ยงดูบุตร จารีตประเพณีเหล่านี้เมื่อปฏิบัตินานเข้าสังคมส่วนใหญ่เกิดการยอมรับ และในที่สุด ขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณีอันนี้ได้ตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน

2. การออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นที่มาของกฎหมายโดยตรงในประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการจะตรากฎหมายประเภทไหนอย่างไร สามารถที่จะตรากฎหมายออกมาใช้เองได้ตามขบวนการแห่งการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในสมัยโบราณบางประเทศที่ปกครองในระบบกษัตริย์และกษัตริย์ได้ตรากฎหมายออกมาใช้ในการปกครองประเทศ ก็จัดว่าเป็นที่มาของกฎหมายโดยตรงเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันนี้พระมหากษัตริย์เพียงแต่มีภาระหน้าที่ทรงให้คำปรึกษาแนะนำหรือยับยั้งตามสมควรเท่านั้น ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง

3. คำสั่งของฝ่ายบริหาร ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับของไทยได้ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไว้ในการออกคำสั่ง ออกพระราชกำหนด ออกพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับได้ ทั้งนี้เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารประเทศได้อย่างคล่องตัว คือในบางช่วงของการบริหารประเทศจะไม่มีการประชุมสภาเพราะปิดสมัยประชุม เมื่อไม่มีการประชุมสภาการผ่านร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จะนำออกมาบังคับใช้ย่อมจะไม่มี แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลอาจมีความจำเป็นในอันที่จะออกคำสั่ง ออกพระราชกำหนดหรือออกพระราชกฤษฎีกามาใช้เพื่อให้แก้สถานการณ์บางอย่างหรือให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อจะไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้นแก่ประชาชนและประเทศชาติ เช่น การออกคำสั่งเพื่อคุมสินค้าบางประเภทที่จะไม่ให้ผู้ค้าเอากำไรเกินควร เช่น ควบคุมราคาน้ำมันหรือควบคุมสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคบางชนิดที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของประชาชน หรือบางครั้งรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายมาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี รัฐบาลก็สามารถออกพระราชกำหนดมาใช้ก่อนได้ แต่เมื่อมีการประชุมสภาฝ่ายบริหารจะต้องนำพระราชกำหนดนั้นเข้าสู่สภาเพื่อให้สภานิติบัญญัติรับรอง ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาเห็นชอบด้วย พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับต่อไป แต่ถ้าหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นชอบด้วย พระราชกำหนดนั้นก็จะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่สภานิติบัญญัติหรือรัฐสภาไม่เห็นชอบนั้น ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คำสั่ง พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด เป็นต้น ที่ออกโดยฝ่ายบริหารก็สามารถเป็นกฎหมายได้

4. คำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลก็เหมือนกฎหมายของแผ่นดิน เพราะคำพิพากษานั้นได้มาจากขบวนการยุติธรรม โดยคำพิพากษาของศาลสูงสุด (Supreme Court) นั้นหมายความว่า ผู้พิพากษาของศาลได้นำเอาคำพิพากษาของศาลทั้งเก่าและใหม่มาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีใหม่ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันกับคำพิพากษาที่ได้เคยตัดสินไว้แล้วเป็นเครื่องมือหรือเป็นหลักแห่งการวินิจฉัยที่เกิดขึ้นใหม่นั้น เช่น ในประเทศอังกฤษเป็นประเทศซึ่งใช้หลักคำพิพากษาของศาลเหมือนกับกฎหมายถือหลักนี้มาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นคำพิพากษาทุกคดีของประเทศอังกฤษไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ตุลาการเมื่อพิจารณาพิพากษาคดีจะนำคำพิพากษาที่มีอยู่แล้วในอดีตที่ใกล้เคียงกันมาประยุกต์เปรียบเทียบ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาไปแล้วนั้นคือแหล่งที่มาของกฎหมาย

5. บทความทางวิชาการกฎหมาย บทความข้อเขียนของนักวิชาการที่ได้แสดงความคิดเห็นของตนรวมทั้งการวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องของความยุติธรรมว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำหรือสิ่งนี้จะเป็นอย่างนั้นสิ่งนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้ บทความเหล่านั้นอาจจะเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรงหรือผ่านสื่อมวลชนไปสู่หน่วยอำนาจนิติบัญญัติ และเมื่อผู้เกี่ยวข้องหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาไตร่ตรองแล้วเห็นว่า บทความหรือข้อความทางวิชาการด้านกฎหมายนั้นมีเหตุผลและหลักการที่ดีแล้วก็สามารถที่จะนำบทความนั้นไปเป็นสาเหตุของการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาใช้ได้ เช่น บทความเกี่ยวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือบทความเกี่ยวกับการเสนอให้มีการกำหนดเขตการปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น เมื่อรัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาบทความดังกล่าวนี้แล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์มีเหตุผลอันสมควร ทั้งสองฝ่ายนั้นสามารถเสนอพระราชบัญญัติเข้าสู่สภาได้ และ เมื่อทั้งสองสภาเห็นชอบด้วยก็จะเป็นกฎหมายใช้บังคับได้

6. รัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นแม่บทของกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศทั้งหมด ฉะนั้นการบัญญัติกฎหมายใด ๆ ออกมาใช้ควบคุมความประพฤติการปฏิบัติสมาชิกในสังคมจะต้องทำไปตามกระบวนการหรือวิธีการออกกฎหมายที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายของรัฐจะกระทำไปโดยละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้

7.สนธิสัญญา การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในสังคมโลกนี้ การติดต่อสัมพันธ์ในบางอย่างนั้นย่อมจะมีสนธิสัญญา เพื่อให้รัฐต่อรัฐปฏิบัติต่อกันอย่างมีระบบระเบียบหรือมีขอบเขตของการปฏิบัติ ดังนั้นการทำสนธิสัญญาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปทำสนธิสัญญาข้อตกลงกันแล้วรัฐที่เป็นคู่สัญญาต่อกันนั้นจะยึดถือปฏิบัติต่อกันเป็นเสมือนกฎหมายเพื่อไม่ให้ละเมิดสัญญาระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้การตรากฎหมายของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับรัฐอื่นอาจจะออกกฎหมายที่ใช้ในประเทศให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาที่ได้กระทำไว้กับรัฐใดรัฐหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสนธิสัญญา ฉะนั้นสนธิสัญญาที่ทำกันระหว่างประเทศจึงเป็นแหล่งแห่งกฎหมายประการหนึ่ง

8.ประมวลกฎหมาย การประมวลกฎหมายก็คือการรวบรวมกฎหมายที่บัญญัติออกมาต่างกรรมต่างวาระกันเข้าไว้เป็นหมวดเป็นหมู่และเป็นชนิดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อสะดวกในการนำมาบังคับใช้ หรือประมวลกฎหมายประเภทที่แก้ไขขึ้นภายหลังให้เป็นหมวดหมู่ เช่น “ประมวลกฎหมายของฮัมบูราบี (Hommurabi Code) ประมวลกฎหมายจัสตีเนียน (Justinian codification) ประมวลกฎหมายฮินดูของพวกมนู (Hindu Code of Manu) ประมวลกฎหมายของพระเจ้านโปเลียน (Napoleon Code) และประมวลกฎหมายตราสามดวงของไทย”

9.ประชามติ กฎหมายรัฐธรรมนูญบางประเทศจะมีบทบัญญัติยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอร่างกฎหมายหรือสิทธิในการออกเสียงประชามติออกกฎหมายบางประเภทได้ เพราะถือว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ การให้สิทธิแก่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายถือว่าเป็นวิถีทางหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “วิธีการดังกล่าวยังใช้ปฏิบัติในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น”

10.หลักความยุติธรรม เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการคำนึงถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรมของมนุษย์ในสังคมเป็นเกณฑ์ ซึ่งกฎหมายแบบนี้อาจจะปรากฏในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์เป็นหลัก “กล่าวคือ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ผู้พิพากษาก็สามารถใช้ดุลพินิจพิพากษาคดีโดยอาศัยหลักความยุติธรรมหรือหลักสามัญสำนึกมาเป็นเครื่องประกอบการตัดสิน และในบางครั้งหลักความยุติธรรมได้กลายมาเป็นแหล่งที่มาของกฎหมาย”

จากแหล่งที่มาของกฎหมายตามที่กล่าวมาแล้วทั้ง 10 แหล่งนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ละแหล่งมีสาเหตุที่มาของกฎหมายแตกต่างกันไป และแต่ละแหล่งก็มิได้หมายความว่าจะสิ้นสุดการเกิดขึ้นของกฎหมายเพียงเท่านั้นมาตราหรือเท่านี้มาตรา แต่การเกิดขึ้นของกฎหมายย่อมไม่มีที่สิ้นสุดตราบใดที่รัฐยังยึดเอากฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศอยู่ ตราบนั้นกฎหมายย่อมจะถูกตราออกมาควบคุมคนในรัฐอยู่ตลอดไป ดังจะเห็นได้จากประเทศไทยในการประชุมสภาแต่ละสมัย มีพระราชบัญญัติผ่านสภาเป็นร้อย ๆ ฉบับ และที่ยังไม่ผ่านก็เป็นจำนวนร้อยฉบับเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กฎหมายจะเกิดขึ้นหรือถูกตราขึ้นมาเรื่อย ๆ ในสังคมโลกมนุษย์นี้

ความหมายของกฎหมาย
ความสำคัญของกฎหมาย
หลักเกณฑ์บางประการของการใช้กฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
ประเภทของกฎหมาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย