สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

กฎหมาย (Law)

ประเภทของกฎหมาย

2. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในปัจจุบันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแต่ละรัฐจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เนื่องจากว่าสภาพการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ทำให้รัฐต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากันเพื่อความสัมพันธ์พึ่งพิงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันและกันนั้นจะต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือกติกาสนธิสัญญาเพื่อกำหนดในการที่จะปฏิบัติต่อกัน ไม่เช่นนั้นการติดต่อสัมพันธ์กันนั้นก็จะไม่เป็นระบบระเบียบ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสูญเสียผลประโยชน์ที่จะพึงมีพึงได้ กฎเกณฑ์ระเบียบ ข้อบังคับหรือบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นมานั้น เพื่อใช้ในการควบคุมความประพฤติอันจะมีต่อกันระหว่างรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง นี้เราเรียกว่า กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งในอดีตนั้นการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐนั้นไม่ถึงกับมีตัวบทกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ในสมัยกลางการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐใช้กฎเกณฑ์อันมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ในปัจจุบันจะกระทำอย่างนั้นย่อมไม่ได้อีกแล้ว เพราะแต่ละรัฐได้พัฒนาทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น ประเทศที่เป็นเอกราชจำนานมากขึ้น การติดต่อสื่อสารระหว่างกันสะดวกและสามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น การที่จะใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแต่ก่อนนั้นย่อมไม่เหมาะ จึงทำให้กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ในปัจจุบันต้องตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เหมาะสมและทันสมัย ส่วนแหล่งที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นอาจมาได้ใน 4 ทาง คือ

1. จารีตประเพณี
2. ความเห็นนักนิติศาสตร์และนักเขียนตำรา
3. คำวินิจฉัยของศาล
4. เอกสารระหว่างประเทศ

1. จารีตประเพณี ได้แก่ การที่รัฐต่อรัฐได้มีความเห็นพ้องต้องกัน มีความยินยอมพร้อมใจกันได้ถือว่า สิ่งที่ปฏิบัติต่อกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แล้วปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจนเป็นประเพณี บรรดารัฐต่าง ๆ ได้ยึดถือข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อผูกพันที่จะปฏิบัติต่อกัน ถึงแม้ว่ากฎเกณฑ์นั้นจะมิได้ตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ในปัจจุบันนี้กฎเกณฑ์ที่จะปฏิบัติต่อกันระหว่างรัฐตามจารีตประเพณีนั้นก็ได้ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

2. ความเห็นนักนิติศาสตร์และนักเขียนตำรา ได้แก่ พวกนักศึกษานักวิชาการทางกฎหมายได้รวบรวมประมวลกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และประเพณีการปฏิบัติของนานาประเทศในยุคหรือสมัยของตนแล้วตีพิมพ์ขึ้นไว้ ผู้ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ Grotius ซึ่งเขียน De Jure Bell ac Pacis (The Law of War and Peace) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1623

3. คำวินิจฉัยของศาล คำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศหรือที่รู้จักกันในนามของศาลโลก ศาลโลกเป็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินคดีพิพาทระหว่างประเทศ คำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลโลกนั้น ย่อมยึดถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศได้ เพราะคำพิพากษาของศาลโลกเหล่านั้นได้ช่วยอธิบายหลักกฎหมายและจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่ารัฐต่าง ๆ นั้นจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร

4. เอกสารระหว่างประเทศ (International Documents) ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดคือ อนุสัญญา (Conventions) ความตกลง (Agreements) และสนธิสัญญา (Treaties)เนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมจะมีสนธิสัญญาหรือข้อตกลงกันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนั้นแต่ละรัฐได้ตรากฎหมายขึ้นตามสนธิสัญญาหรือความตกลงกันนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกัน

2.1 ประเภทของกฎหมายระหว่างประเทศ

กฎหมายระหว่างประเทศได้แบ่งออกไปตามลักษณะของการใช้บังคับควบคุมนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

2.1.1 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law)
2.1.2 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกบุคคล (Private International Law)
2.1.3 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (Criminal International Law)
2.1.1 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law) เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นมาใช้ควบคุมบังคับกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐอันเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่การเมืองการปกครองระหว่างประเทศที่จะพึงปฏิบัติต่อกัน ในฐานะที่รัฐต่าง ๆ เป็นนิติบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ และเรื่องที่รัฐต่อรัฐมีความสัมพันธ์ที่จะพึงปฏิบัติต่อกันนั้น เช่น เรื่องของอาณาเขตดินแดน การแบ่งปันเขตแดนให้ถูกต้องตามหลักสากล เคารพสิทธิของกันและกันในเรื่องของดินแดน เรื่องทางการทูต การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตหรือทูตระหว่างประเทศ เรื่องสิทธิในทางการทูต เป็นต้น

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมีระดับต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีประเทศที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงไร กฎบัตรสหประชาชาติและสนธิสัญญาสากลย่อมมีความสำคัญมากกว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพราะปัจจุบันกฎบัตรสหประชาชาติเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับแก่บรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกถึง 160 ประเทศ ส่วนสนธิสัญญาระหว่างประเทศอาจจะทำกันเพียงบางกลุ่มประเทศหรือเพียงประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งเท่านั้น

2.1.2 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมบังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในต่างรัฐ บุคคลในต่างรัฐอาจจะไปพำนักพักพิงอยู่อีกรัฐหนึ่ง หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์ในด้านธุรกิจหรือสัมพันธ์กันในด้านครอบครัว การสมรส การหมั้น การหย่า เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลจะต้องเข้าไปควบคุมบังคับเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย

โลกปัจจุบันประชาชนในโลกมีการเดินทางติดต่อสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์ในเชิงส่วนตัวหรือในเชิงธุรกิจการค้าย่อมเพิ่มมากขึ้น คนต่างชาติต่างภาษาแต่งงานกันก็ย่อมเกิดปัญหาขึ้นว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา หรือเมื่อจะหย่ากันจะใช้เหตุหย่าของประเทศใดก็ย่อมมีเงื่อนไขต่างกันไป ผลของการอย่าและการแบ่งแยกทรัพย์สินหลังจากการอย่าก็ย่อมเป็นเรื่องจำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำหนดเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้แน่นอน หรือเรื่องของการค้าธุรกิจที่เอกชนรัฐหนึ่งทำกับเอกชนอีกรัฐหนึ่งหรือเอกชนรัฐหนึ่งทำกับรัฐบาลอีกรัฐหนึ่งย่อมจะมีปัญหาในการนำกฎหมายบังคับเพื่อมิให้เกิดการเสียเปรียบหรือได้เปรียบกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาบังคับความสัมพันธ์ดังกล่าว

2.1.3 กฎหมายระหว่าประเทศแผนกคดีอาญา (Criminal International Law) คือ กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ประเทศหนึ่งหรือรัฐหนึ่งตกลงยอมรับรองให้ศาลส่วนอาญาของอีกรัฐหนึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ได้กระทำความผิดนอกประเทศนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งในบางครั้งได้กระทำในต่างแดน หรือผู้กระทำได้หลบหนีออกไปนอกรัฐที่กระทำความผิดเพื่อให้รอดพ้นจากการลงโทษ จึงต้องใช้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญานี้มาควบคุม เพราะการที่จะลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาแล้วหลบหนีไปรัฐอื่นนั้นเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจรัฐ ฉะนั้นเพื่อป้องกันปราบปรามคดีอาญาดังกล่าวรัฐต่าง ๆ จะต้องทำสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกันได้ เพื่อสะดวกในการนำผู้กระทำผิดนั้นมาลงโทษตามความผิดนั้น ๆ

ความหมายของกฎหมาย
ความสำคัญของกฎหมาย
หลักเกณฑ์บางประการของการใช้กฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
ประเภทของกฎหมาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย