สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

อำนาจอธิปไตย

การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน

ในทุกกรณีที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของตนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเสมอ ซึ่งตามความจริงแล้ว ปวงชนแทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองเลย การที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า โอกาสที่จะใช้แสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยนั้นหายากประการหนึ่ง และปวงชนยังไม่มีความกระตือรือร้นในทางการเมืองพออีกประการหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในประเทศที่พัฒนาทางการเมืองอยู่ในระดับสูงนั้น ปวงชนอาจจะแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยได้หลายวิถีทาง คือการออกเสียงเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย การตัดสินปัญหาสำคัญๆ และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญ ดังจะได้แยกอธิบายเป็นลำดับไปพอสังเขปดังนี้

1. การออกเสียงเลือกตั้ง ( Election ) ตามทฤษฎีแล้ว การเลือกตั้งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดประการหนึ่ง ในการที่ปวงชนจะแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของ อำนาจอธิปไตย เพราะการเลือกตั้งย่อมเป็นการชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทั่วไปของประชาชนได้อย่างชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร ซึ่งย่อมถือได้ว่าปวงชนได้ใช้อำนาจของตนแล้วในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะให้ประเทศของตนดำเนินนโยบายไปในลักษณะไหน และด้วยวิธีการอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จะเห็นได้ว่าการออกเสียงเลือกตั้ง มิใช่เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนทุกคนเลย หากแต่เป็นการแสดงออก ซึ่งความคิดของประชาชนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะประชาชนย่อมไม่มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกันทุกคนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าระบบแห่งการออกเสียงเลือกตั้งของประเทศใดไม่ดีพอ หรือขาดความยุติธรรมแล้ว การออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนก็มีความหมายน้อยมาก

2.การออกเสียงประชามติ (Referendum) การออกเสียงประชามติเป็นมาตรการอีกอย่างหนึ่ง ที่ปวงชนจะได้มีโอกาสแสดงออก ซึ่งการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของตน ประชามติหมายถึง การขอให้ประชาชน ลงมติ แสดงความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในการร่างกฎหมายสำคัญๆ ซึ่งมักใช้กับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในบางประเทศนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องให้ประชาชน ออกเสียงลงประชามติเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ได้บัญญัติไว้ว่าให้ปวงชนออกเสียงประชามติ เพื่อรับรองหรือไม่รับรอง ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถ้าประชามติของประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับรอง ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สภาแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นั้นก็เป็นอันตกไป ใช้บังคับไม่ได้ น่าสังเกตวิธีการเช่นนี้จะใช้ได้ผลดีก็แต่ประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาในระดับสูง และมีความสนใจในทางการเมืองเพียงพอเท่านั้น

อนึ่ง คำว่าการออกเสียงประชามติ (Referendum) นี้ มีความหมายต่างจากคำว่า มติมหาชน ( Public Opinion) เพราะคำหลังนี้หมายถึงแต่เพียงปฏิกิริยาที่แสดงถึงความพอใจหรือไม่พอใจของประชาชนทั่วไปจริงๆ มิใช่แสดงออกมาในรูปที่เป็นการออกเสียง

3. การมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย ( Initiative ) เท่าที่ปฏิบัติกันอยู่ในบางประเทศนั้น มาตรการเช่นนี้กระทำได้โดยประชาชนจำนวนหนึ่ง มีจำนวนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเข้าชื่อกัน เสนอร่างกฎหมายที่พวกตนร่างขึ้น ไปให้รัฐสภาลงมติว่า จะเอาหรือไม่เอา น่าสังเกตว่า การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยวิธีการนี้ จะได้ผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติ กล่าวคือขึ้นอยู่กับมาตรฐานการศึกษา และความกระตือรือร้นในทางการเมืองของประชาชน

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ถ้าเป็นการเสนอร่างกฎหมายใดๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มักจะอยู่ในขอบเขตจำกัด กล่าวคือจะเสนอร่างกฎหมายเพื่อใช้บังคับคนทั้งรัฐไม่ได้ จะใช้บังคับได้แต่เพียงท้องถิ่นของผู้เสนอร่างกฎหมายเท่านั้น ดังที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกา

4.การให้ตัดสินปัญหาสำคัญๆ(Plebiscite)ในบางประเทศนั้น ในกรณีที่รัฐบาล ไม่สามารถจะตัดสินปัญหาสำคัญๆ ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อประชาชนอย่างรุนแรง และโดยตรงแล้ว รัฐบาลก็จะนำปัญหานั้นๆ มาให้ประชาชนตัดสินว่าจะทำอย่างไร วิธีการเช่นนี้แม้ว่าจะเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจของปวงชน ได้อย่างดียิ่ง แต่ก็สามารถใช้ได้เฉพาะในเขตการปกครองเล็กๆ เท่านั้น ดังเช่น รัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาบางรัฐใช้กันอยู่ ถ้านำมาใช้ทั่วประเทศจะเป็นไปด้วยความลำบากยิ่ง

5.การให้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ (Recall) ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะออกเสียง ถอดถอนเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญๆ ในทางปกครองได้ทุกโอกาส รวมทั้งมีสิทธิที่จะแต่งตั้งใหม่หลังจากที่ถอดถอนแล้วด้วย แต่ยังมีข้อแม้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จะถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยประชาชนนั้นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้ตำแหน่งมาโดยการเลือกตั้ง ( Election ) เท่านั้น ประชาชนไม่อาจถอดถอนหรือแต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ที่ได้ตำแหน่งมาโดยการแต่งตั้ง ( Appointment ) ของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

6. ประชาพิจารณ์ ( Public Hearing ) คือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่รัฐเสนอจะจัดทำขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ ถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องนั้นๆ โดยมีการกำหนดสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ขึ้นมาเป็นเวที เรียกว่าเวทีประชาพิจารณ์ แล้วให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนป้อนข้อมูล หรือข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ เช่นรัฐจะจัดทำโครงการใดๆ ขึ้นมา เช่น จะสร้างเขื่อน ก็จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ขึ้น ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกัน แสดงความคิดเห็นว่าจะเห็นดีเห็นชอบกับโครงการนี้หรือไม่ แล้วรัฐจึงจะดำเนินการไปตามความคิดเห็นนั้น เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน หรือเช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย (ฉบับปี พ.ศ.2540) ก็ได้ มีคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ ซึ่งได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ เพื่อจะได้ร่างรัฐธรรมออกมา ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ศัพท์คำว่าประชาพิจารณ์นี้ เป็นศัพท์ใหม่ของไทยที่เพิ่งจะมานิยมใช้กันเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ โดยมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Public Hearing การทำประชาพิจารณ์จัดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับสังคมไทย ที่เราจะได้พัฒนาสังคมไปในเส้นทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งตรงกับหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ประวัติแนวความคิดของอำนาจอธิปไตย
ความหมายของอำนาจอธิปไตย
ลักษณะของอำนาจอธิปไตย
ประเภทของอำนาจอธิปไตย
การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน
วิวัฒนาการของแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย
ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตย
ทฤษฎีที่ค้านลักษณะอำนาจอธิปไตย
ประเภทของอำนาจอธิปไตย
การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชน
สถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตย
สถาบันของอำนาจนิติบัญญัติ (Legislature)
อำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภา
โครงร่างของสภานิติบัญญัติ (Structure)
ลักษณะทั่วๆ ไปของสภาสูง
อำนาจหน้าที่ของสภาสูง
ลักษณะทั่วๆ ไปของสภาล่าง
สถาบันของอำนาจบริหาร (Executive)
ข้อดีของรัฐบาลแบบคณะรัฐมนตรี
อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร (Functions)
สถาบันของอำนาจตุลาการ ( Judicial )

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย