สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

5. สาเหตุของการขัดแย้งระหว่างประเทศ

ปรากฏการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมาในทุกยุคทุกสมัยก็คือความขัดแย้ง ซึ่งหมายถึงสภาวการณ์ที่ตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปมีปัญหาบางประการที่ต้องกระทำการตกลงหรือระงับข้อปัญหานั้นเสียก่อน มิเช่นนั้นสภาวะดังกล่าวจะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศไม่อาจดำเนินไปได้อย่างปกติ สำหรับสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างประเทศสามารถสรุปได้ 5 ประการ ดังนี้

1. การขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติ
ผลประโยชน์ของชาติ ได้แก่สิ่งที่ผู้นำหรือประชาชนของประเทศหนึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการธำรงไว้ซึ่งเอกราช วิถีชีวิต ความมั่งคั่ง และเกียรติภูมิของประเทศ โดยทั่วไปเมื่อประเทศหนึ่งพิจารณาเห็นว่าอีกประเทศหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศมากจนเป็นอันตรายต่อประเทศตน การขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองย่อมเกิดตามมา

2. ทัศนคติที่มีต่อกัน
ทัศนคติที่มีต่อกันระหว่างประเทศนั้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันและทัศนคติของประชาชนของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ เช่น ทัศนคติที่ไม่ไว้วางใจกันมาแต่ก่อนจะเป็นตัวกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังเช่น เวียดนามมีทัศนคติสืบเนื่องมาจากอดีตว่าจีนเคยมารุกรานหลายครั้ง ทำให้ประชาชนเวียดนามมีทัศนคติที่ระแวงจีนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีทัศนคติทางด้านวัฒนธรรม เช่น ประเทศยุโรปมักจะมีทัศนคติว่าวัฒนธรรมของตนสูงกว่าของคนเอเชียและแอฟริกา ดังนั้นเมื่อคนยุโรปเข้าไปติดต่อค้าขายหรือตั้งถิ่นฐานในเอเชียและแอฟริกาก็มักจะมีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามคนผิวสีว่าไม่มีอารยธรรมเท่าเทียมตน จากตัวอย่างดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าทัศนคติที่มีต่อกันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

3. การขัดแย้งทางอุดมการณ์
อุดมการณ์เป็นระบบความคิดที่จะกำหนดแนวทางชีวิตของคนในสังคม ภาวะเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาติ ในยุคสงครามเย็นนั้น ประเทศมหาอำนาจซึ่งถือว่าตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ในโลก ได้ใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ อุดมการณ์ที่ใช้คือ เสรีนิยม (Liberalism) ของสหรัฐอเมริกา และคอมมิวนิสต์ (Communism) ของโซเวียต

4. การแข่งขันแสวงหาอำนาจ
จากประวัติศาสตร์ ชาติที่มีกำลังมากกว่าได้แสวงหาอำนาจด้วยการล่าอาณานิคมหรือการสร้างจักรวรรดินิยม แต่ในปัจจุบันจักรวรรดินิยมเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นชาติมหาอำนาจจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศเหล่านั้นเป็นพันธมิตรกับประเทศตน การสนับสนุนทำได้หลายรูปแบบ เช่น การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การให้กำลังอาวุธ การส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร รวมถึงการส่งกองกำลังทหารเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลที่เป็นพันธมิตร การแข่งขันแสวงหาอำนาจดังกล่าวมานี้ ทำให้เกิดการขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในบรรดาประเทศพันธมิตรของชาติมหาอำนาจ และทำให้เกิดความระแวง มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด

5. การขัดแย้งเรื่องดินแดน
การขัดแย้งในเรื่องดินแดนได้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกตลอดเวลา และได้นำไปสู่การทำสงครามหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับซึ่งประกอบด้วย อียิปต์ ซาอุดิอารเบีย ซีเรีย อิรัก จอร์แดน และเลบานอน เป็นต้น

อำนาจของชาติ
ปัจจัยแห่งอำนาจของชาติ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
สาเหตุของการขัดแย้งระหว่างประเทศ
มาตรการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย