สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สงครามมหาเอเซียบูรพา

การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ

การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยได้เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย แม้ว่าในระยะต่อมา ไทยจำเป็นต้องจำยอมร่วมเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นเนื่องด้วยสถานการณ์บีบบังคับ แต่ในขณะเดียวกันแนวความคิดในการต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย ก็ได้ดำเนินการต่อมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการในทางลับที่เรียกว่า ขบวนการใต้ดิน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และขบวนการเสรีไทย ได้มีการให้คณะนายทหารไทยจำนวนหนึ่งออกไปติดต่อกับกองพลที่ 93 ของจีน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 หลังจากที่ได้มีการประสานงานเมื่อเดือนมีนาคม 2486 ซึ่งได้รับการตอบสนองจาก จอมพล เจียงไคเช็ค จากจุงกิงว่า "ยินดีติดต่อด้วย ดีใจที่จะได้ทราบความจริง เพราะมัวหลงรบกันอยู่ 2 ปี เสียผู้คนและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมาย ขอให้ฝ่ายไทยเริ่มดำเนินการติดต่อได้ แต่บัดนี้" ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 คณะผู้ติดต่อของไทยก็ได้เข้าพบผู้บัญชาการกองพลที่ 93 พร้อมด้วยนายทหารจีนชั้นผู้ใหญ่ การพบปะเจรจาเป็นไปด้วยดี ฝ่ายจีนแจ้งว่า ฝ่ายจีนและสัมพันธมิตรเห็นใจไทยอยู่แล้ว และจะช่วยแจ้งให้ทางอังกฤษและสหรัฐ ฯ ทราบความจริงตามที่ฝ่ายไทยต้องการ

การพบกับฝ่ายจีนครั้งสำคัญเป็นการพบเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2487 คณะผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ 93 มีการตกลงกันในด้านการทหาร โดยกำหนดเอาแนวแม่น้ำลำ - แม่น้ำโขง - ปางสัจจา และเส้นเขตแดนระหว่างแคว้นยูนนานของจีนกับประเทศพม่าเป็นเส้นปันแดนของแต่ละฝ่ายไม่ให้ ล่วงล้ำกัน นอกจากนี้ยังแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ทางฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเตรียมการรุกใหญ่ กองทัพจีนได้จัดกำลังไว้ 10 กองพล สำหรับการรุกเข้าทางเหนือของประเทศพม่าทางด้านเมือง ลา เฉียว เพื่อสมทบกับกำลังของอังกฤษ ซึ่งจะทำการรุกจากพรมแดนประเทศอินเดีย

นอกจากนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้จัดตั้งกองทัพที่ 2 และกองพลที่ 7 ขึ้นตามแผนยุทธการที่ 7 เตรียมร่วมมือกับกองทัพจีน เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากดินแดนไทย กับได้ดำริที่จะย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่การย้ายเมืองหลวงก็ล้มเลิกไป เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากอำนาจหน้าที่ในรัฐบาล การติดต่อระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องระงับไปโดยปริยาย

ทางด้านกองทัพรัฐบาลซึ่งมีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแปรสภาพเป็นกองทัพใหญ่ โดยแต่งตั้งให้ พลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่

ทางด้านกองทัพพายัพ ได้มีการโยกย้ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย สำหรับการติดต่อกับกองทัพจีนนั้น แม่ทัพกองทัพพายัพได้มีคำสั่งถึงกองพลที่ 3 ว่า คงให้ทำต่อไปตามเดิม แต่รัฐบาลจะไม่รับรู้ และรับผิดชอบด้วย ให้ถือว่าเป็นการทำกันเอง ดังนั้น ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 จึงสั่งให้ระงับการติดต่อกับกองทัพจีนไว้ก่อน

ในด้านการปฎิบัติต่อเสรีไทย ทั้งสายสหรัฐ และสายอังกฤษ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ ได้สั่งให้แต่ละฝ่ายช่วยเหลือสมาชิก ขบวนการเสรีไทยที่ลอบเข้ามาในประเทศ ให้ได้รับความสะดวกในการปฎิบัติการ และให้ได้รับความปลอดภัย

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข

การเตรียมการของไทย
การดำเนินการเจรจาทางการทูต
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น
การประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
การดำเนินสงคราม
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ
การจัดตั้งกองทัพพายัพ
การปกครองสหรัฐไทยเดิม
การปฏิบัติการทางอากาศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
ไทยประกาศสันติภาพ
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
สภาวการณ์หลังสงคราม
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ
จดหมายเหตุ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย