สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สงครามมหาเอเซียบูรพา

จดหมายเหตุ

การปฎิบัติราชการในสงครามมหาเอเซียบูรพา

บันทึกจดหมายเหตุของ คุณฉบับ ชูจิตารมย์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2487 ปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา ใช้ภาษาและตัวเขียนภาษาไทยในครั้งนั้น เป็นการปฎิบัติงานของฝ่ายพลเรือนที่ไปสนับสนุนการสร้างทางให้แก่กองทัพพายัพ ที่ขึ้นไปปฏิบัติการในสหรัฐไทยเดิม

4 ธันวาคม 2484
ก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติงานด่วนอีก เมื่อสงครามญี่ปุ่น - อังกฤษ - ไทย ได้ร่วมรบเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น การเดินทางคราวนี้เป็นไปอย่างเร่งด่วนมาก และได้ไปถึงตาก ข้ามน้ำปิง ถึงที่ปฏิบัติงานตำบลท่าช้างตายริมห้วยแม่ท้อ

20 ธันวาคม 2484
มีคำสั่งบรรจุกำลังของ ผสส. (ผู้บันชาการทหารสูงสุด จอมพลป. พิบูลสงคราม) ให้ทำหน้าที่กำกับการสร้างทางลำลอง จากตาก ให้ถึงแม่สอดภายใน 30 วัน ถ้าไม่เสร็จจะพิจารนาโทษตามกดอัยการสึก การทำงานครั้งนั้นได้เป็นไปอย่างรีบเร่งมาก ได้เกนคนงานจากตาก สุโขทัย เถินและกำแพงเพ็ชร ประมาณ 2 - 3 พันคน ฝ่ายทหารมี พันโท.ม.ล.โอสด ทินกร และ ช.พัน 3 ยย. และ ช.ญี่ปุ่น หนึ่งกองร้อย จึงได้แบ่งหน้าที่มอบหมาย ปฏิบัติไปตามส่วนและจัดการเสร็จ รถยนต์ข้ามทิวขุนเขาจากตาก - แม่สอด - น้ำเมย - เมียววดี - กรุกกริกได้สะดวก

1 มีนาคม 2485
ระหว่างปฏิบัติงานได้มีเครื่องบินข้าสึกเข้าโจมตีสนามบินตาก ถูกเครื่องบินญี่ปุ่นไหม้ 4 เครื่อง เครื่องบินไทย 2 เครื่อง และถูกโจมตีที่สนามบินแม่สอด ถูกเครื่องบินญี่ปุ่นไหม้ 1 เครื่อง ร้อยตรีทหารไทยตาย 1 คน แล้วเครื่องบินข้าสึกยังได้ยิงกราดด้วยปืนกล ตามเส้นทาง แต่ไม่เกิดความเสียหายแต่ประการใด เมื่อ 24 ธันวาคม 2485 ได้กลับจากปฏิบัติการ รวมเวลาประจำการอยู่ประมาณ 1 ปี ถึงได้มีคำสั่งย้ายไปประจำกองทางสนาม กองทัพพายัพอีกตั้งแต่ 10 พฤศจิกายน 2485 เป็นการออกคำสั่งล่วงหน้าก่อนงานเสร็จ

ฉันรู้สึกท้อใจและเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่จะต้องไปประจำทำงานสนามบินอันเร่งด่วน เพราะเวลาปกติก็ได้ประจำแผนสำรวจ ได้ตรากตรำเดินทางบุกป่าผ่าเขาอยู่แล้ว ตลอดมาเป็นเวลาถึง 10 ปี แม้นจะได้ร้องเรียนกับผู้บังคับบันชาบ้าง ก็มิได้รับความเห็นอกเห็นใจประการใด จึงจำต้องเดินทางไปทำหน้าที่ตามคำสั่งตามกดอัยการสึก ได้เดินทางถึงกองทางสนาม กองทัพพายัพที่ตำบลท่าขี้เหล็ก สหรัฐไทยเดิม เมื่อ 1 มกราคม 2486 แล้วได้รายงานตัวต่อนายชื้น ยงใจยุทธ หัวหน้ากองทางสนามกองทัพพายัพ แล้วได้รับคำสั่งให้ไปเป็นผู้ควบคุมทางตอนระยะ - เชียงตุง สำนักงานอยู่ที่ดอยจิ้งก่า เชียงตุง ฉันเป็นคนที่สุขภาพแย่ และเป็นโรคโลหิตจาง

เมื่อถูกอากาศหนาวทางสหรัฐไทยเดิม กล่าวได้ว่าแทบเหลือทนเพราะจาก 10.00 น. เช้า ถึง 16.00 น. เย็นเท่านั้นที่พอมีแดดบ้าง นอกจากเวลานั้นก็ปกคลุมไปด้วยเหมย (หมอก) ตลอดเวลา บันดาพี่น้องชาวสหรัฐไทยเดิมส่วนมากนับว่าผอมและสุขภาพไม่ค่อยดีเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าเขาใช้เครื่องนุ่งห่มไม่มากเหมือนพวกเรา การพูดจาคงรู้เรื่องกัน จะแตกต่างผิดเพี้ยนกันบางคำ และสำเนียงเท่านั้น วัฒนธรรมของชาวเมืองเชียงตุง ถือแบบพม่า ส่วนเมืองนอก ๆ ชาวดอยคงเป็นไปตามสภาพไทยเดิม ตลอดจนอาหารการกิน ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ภูมิประเทศของสหรัฐไทยเดิม ควรจะเรียกได้ว่าเป็นดินแดนแห่งป่าและภูเขา หากมีที่ราบลุ่มระหว่างเขาขึ้นสัก 1 ตารางกิโลเมตร ตรงนั้นก็คงจะเกิดเป็นเมืองขึ้น เช่นเมืองเลน เมืองระยะ เป็นต้น เมื่อเข้ามาครั้งแรกได้ไปรายงานตัวกับพลโทจิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพกองทัพพายัพ และประมานปลายเดือนมกราคม 2486 ผู้บันชาการทหารสูงสุด ได้ไปเยี่ยมถึงบ้านนารี แล้วกลับที่พักที่บ้านบนเขาท่าขี้เหล็ก ริมแม่สายสหรัฐไทยเดิม

29 กุมภาพันธ์ 2486
เชียงตุงได้ถูกโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบิน 7 เครื่อง ที่พักกองทางสนามถูกยิงรอบ เกิดไฟไฟไหม้ป่า ต้องรื้อโรงเรือนบางหลังออก แต่ไม่เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สิ่งของประการใด เป็นเคราะห์ดีที่มีกองหิน อิด ที่รื้อตั้งไว้ สูงประมาน 1 เมตร ฉันและคนงาน 1 คน ได้อาลัยหลบกระสุนปืนกลจากเครื่องบินข้าสึกได้ เพราะยังมิได้จัดทำที่หลบภัย อย่างใด และได้พิจารนาเห็นว่า ที่ตั้งสำนักงานเก่าอยู่บนเขาเด่นชัด เป็นโรงยาวถึง 30 เมตร จึงได้รื้อย้ายไปตั้งข้างเขาใต้ต้นไม้ พออาศัยกำบังได้บ้าง ต่อจากนั้นมาเชียงตุงก็ได้ถูกโจมตีเรื่อย แต่กองทางสนามปลอดภัย

เมื่อ พล.สคค. (กองพลสร้างทางคมนาคม) อันมีพันเอกพระอุดมโยธาธิยุทธ (สด รัตนาวดี) เป็นผู้บันชาการกองพล ได้ตั้งขึ้น ฉันได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกสากรม สคค.1 ประจำที่บ้านปางล้อ ตั้งแต่ เมษายน - พฤษภาคม 2486 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมสร้างทาง รับงานจากกรม สคค.2 สายเมืองเลน - เมืองระยะ อยู่จนถึง 30 มิถุนายน 2486 จึงได้ยุบ พล.สคค.

ฉันได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองทางสนาม กองทัพพายัพประจำที่ สบปางและท่าขี้เหล็ก จนถึง 18 สิงหาคม 2486 ได้รับโทรเลขคำสั่งจาก ผสส. แต่งตั้งให้รักษาการหัวหน้ากองทางสนามกองทัพพายัพ และมีคำสั่งทัพบกสนามให้เข้าบันจุในอัตรากำลังพลกองทัพพายัพ จึงได้เข้ารับตำแหน่งจากนายชื้น ยงใจยุทธ แล้วปฏิบัติการต่อไป

การปฏิบัติการในขั้นต่อไปนี้ แม้แสนที่จะหนักใจเนื่องจากสถานะการณ์ ขาดแคลนและถูกถอนพนักงาน เครื่องมือ เครื่องใช้ทุกอย่างไปเสีย 3 ใน 4 จึงก่อให้เกิดความหนักกายหนักใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกชั้นอย่างยิ่ง เพราะทางที่ควบคุมมีระยะยาวประมาน 320 กิโลเมตร แต่ก็ได้พยายามแก้ไข ฟาดฟันอุปสักกันไปเรื่อย ได้ปรับปรุงโยกย้ายเจ้าหน้าที่ และหยิบยืมเครื่องมือเครื่องใช้จากกองทัพพายัพ เข้าแก้ปัญหาจึงดำเนินการได้ตลอดมา

แม้ว่าเครื่องบินข้าสึกจะได้เปิดจากการโจมตีรบกวนอย่างกว้างขวาง และรุนแรงตั้งแต่ มีนาคม 2487 เป็นต้นมา บันดาข้าราชการ พนักงาน และคนงานของกองทางสนามคงอดทน ตั้งหน้าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ท้อถอยต่อการโจมตีของข้าสึก

30 เมษายน 2487
เครื่องบินข้าสึกได้เข้าโจมตีท่าขี้เหล็กเป็นครั้งแรก ได้ทิ้งระเบิดที่สะพานแม่สาย และที่กองทางสนามรวม 2 แห่ง เฉพาะกองทางสนามถูกทิ้งระเบิดสังหาร 12 ลูก พัสดุซึ่งได้โยกย้ายสิ่งของไปแล้วส่วนมาก ถูกระเบิดพังแต่ไม่มีอันตรายถึงเสียชีวิต สิ่งของ รถยนต์ชำรุดเสียหายเล็กน้อย

1 พฤษภาคม 2487
เครื่องบินข้าสึกได้เข้าโจมตีทิ้งระเบิดสะพานแม่สายและยิงกราดซ้ำอีก แต่สะพานแม่สายรอดอันตราย หน่วยอื่นเสียหายเล็กน้อย ลูกระเบิดตกพลาดที่หมาย เครื่องบินข้าสึกได้ออกล่าตามทาง ยิงรถยนต์ เกวียนและวัวต่างของทหาร จากแม่สายถึงเชียงตุง

5 พฤษภาคม 2487
เครื่องบินข้าสึกได้เข้าโจมตีทิ้งระเบิดสะพานแม่รวก สะพานเหมืองแหยง รวม 6 ลูก ลูกระเบิดตกพลาดที่หมาย ต่อจากนั้นเครื่องบินข้าสึกได้ออกล่าตามทาง จากแม่สาย ยิงเกวียนกองสนาม ถูกวัวตาย 3 ตัว บาดเจ็บ 1 ตัว รถยนต์บรรทุก 3.6 ตัน ถูกยิงหลังคาทะลุ 2 แห่ง วันนั้นฉันได้เดินทางไปตรวดงานที่เชียงตุงก่อนที่เครื่องบินข้าสึกจะโจมตีสะพานแม่รวก ได้บินผ่านฉันที่ระยะเวลาประมาน 14.30 น. รวม 7 เครื่อง โดยมิได้โจมตี ฉันได้รีบออกรถพ้นระยะโดยด่วน เพราะมีรถญี่ปุ่นผ่านและจอดขวักไขว่มาก แต่พอวิ่งรถระยะ 10 กิโลเมตร เวลาประมาน 15.00 น. ก็ได้เห็นเครื่องบินข้าสึก 3 เครื่อง บินกวดมาทางหลัง ได้รีบสั่งหยุดรถข้างทางทันที แล้วออกวิ่งโดยเร็ว เพราะเครื่องบินทั้ง 3 กำลังมุ่งหน้าจิกหัวตรงลงมา

พอลุยน้ำข้ามถึงโกรกห้วย ฟ้าก็ผ่าดังสนั่น ฉัน นายเอี้ยงพนักงานขับรถ นายเทพนายจิตต์ ช่างทางได้หลบกันหย่างอกสั่นขวัญหายพอเงียบเสียงปืนเครื่องบินข้าสึก ก็ได้ร้องถามว่าใครได้รับอันตรายบ้าง ได้ความว่า พวกเราและคนงานปลอกภัยทุกคน ต่างปราสัยกันถึงความตื่นเต้นที่ได้รับ พูดยังไม่ทันทั่วคน ก็ได้ยินเสียงเครื่องบินมาอีก 1 เครื่อง คราวนี้พวกเราไม่ลุยน้ำข้ามโกรกห้วย ได้หาที่กำบังอยู่ใต้หัวสะพาน เพราะสะดวกและปลอดภัยดีกว่า

เครื่องบินข้าสึกได้ปล่อยกระสุนปืนกลขนาด 12.5 มม. ให้เราอีก 1 ชุด เดชะคุณพระรัตนไตร และอำนาดแห่งความเสียสละของพวกเราเพื่อชาติ กระสุนปืนได้ตกพลาดไปหลังที่หมายทั้งรถและคนแคล้วคลาดไปหมด จึงเป็นที่น่ายินดีแก่พวกเรามาก แต่น่าเสียใจที่ได้เห็นพวกพนักงานบางคนที่ยังโง่เขลา หรือจะตื่นเต้นจนเกินเหตุไปก็ไม่ทราบ เพราะปรากฎว่าได้หลบข้างริมโกรกห้วยที่ไม่มีกำบังเป็นที่อับกระสุน กระสุนเครื่องบินข้าสึกได้ตกคร่อมระหว่างเขาทั้ง 2 อย่างน่าขวัญหาย และฝังบี้แบบอยู่ในดิน เขาทั้ง 2 ได้พยายามขุดขึ้นมาได้คนละกอบ แล้วฉันจึงได้ชี้แจงวิธีหลบหาที่กำบังให้แก่เขา ให้เข้าใจเพื่อไว้ระวังรักษาตัวต่อไป ในวันนั้นได้เดินทางไปถึงเชียงตุงตามทางได้ผ่านรถยนต์ถูกยิง วัวตายและเจ็บ ที่ท่าเจี่ยว เนื่องจากการล่าของเครื่องบินข้าสึกเช่นเดียวกันกับที่ฉันถูกมา แต่เป็นที่น่าเสียใจสำหรับเขา

10 พฤษภาคม 2487
มีเครื่องบินตรวดการข้าสึก มาบินวนเวียนที่บริเวนท่าขี้เหล็ก และแม่สาย ประมาน 2 - 3 นาที แล้วหายไปทางเหนือ

หน้าถัดไป >>

การเตรียมการของไทย
การดำเนินการเจรจาทางการทูต
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น
การประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
การดำเนินสงคราม
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ
การจัดตั้งกองทัพพายัพ
การปกครองสหรัฐไทยเดิม
การปฏิบัติการทางอากาศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
ไทยประกาศสันติภาพ
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
สภาวการณ์หลังสงคราม
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ
จดหมายเหตุ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย