ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม 10

๑. ทาน หมายถึงการให้ (Charity)

การเป็นผู้ให้เป็นคุณธรรมข้อแรกของนักบริหารตามหลักทางพุทธศาสนา การให้นั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ อมิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของ เช่น ให้เงินทองเสื้อผ้า ให้ที่อยู่อาศัย ให้อาหาร ธรรมทาน ได้แก่ การให้ธรรมหรือความรู้ ให้สติปัญญา ให้กำลังใจ ให้อภัย ให้ความรัก ให้ความเอื้อเฟื้อ ให้ความเมตตา

๒. ศีล หมายถึงความมีระเบียบวินัย (Self – Discipline)

ผู้ปฏิบัติทุกระดับ เป็นบุคคลแบบอย่างที่จักต้องมีความ “งามด้วยศีล” ได้แก่ ต้องเป็นบุคคลที่มีระเบียบวินัย เคร่งครัด ระมัดระวัง ควบคุมตนเองได้จะต้องรู้จักบริหารคน บริหารงานและบริหารบ้านเมือง

๓. ปริจาคะ หมายถึงการเสียสละ (Self – Sacrifice)

คือการเสียสละ ละ ทิ้ง ความหมายเชิงปฏิบัติว่า ให้ ในลักษณะของ “ทาน” เป็นการให้สิ่งที่ตนมีอยู่และในเพียงบางส่วน แต่การให้ลักษณะของ “บริจาค” นั้น เป็นการให้ทั้งหมด ให้ไม่มีส่วนเหลือ ผู้ปฏิบัติที่ดีย่อมต้องมีความพร้อมในการเสียสละ คือการเสียสละทั้ง ๔ คือ เสียสละทรัพย์ เสียสละอวัยวะ เสียสละชีวิต เสียสละทั้งหมด ทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาความถูกต้องดีงามของบ้านเมือง

๔. อาชวะ หมายถึงความซื่อตรง (Honesty)

ความซื่อตรงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของนักบริหารอีกประการหนึ่ง นักบริหารต้องเป็นบุคคลที่ซื่อตรง ไม่คดโกง โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงสามารถนำคน นำงาน นำบ้านเมือง วิ่งตรงไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัยรวดเร็ว ตรงกันข้ามหากนักบริหารไร้ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ซื่อตรง คดโกง คิดคด ทรยศต่อชาติบ้านเมือง พระพุทธศาสนาเปรียบเทียบไว้ว่าเป็น “มหาโจร” ปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ตามวิสัยของมหาโจร

๕. มัททวะ หมายถึงความอ่อนโยน (Gentleness)

เป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักบริหาร โดยนักบริหารที่ต้องการให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลอื่นๆ แล้วจะต้องเป็นบุคคลที่อ่อนโยนนุ่มนวลไม่หยาบคาย ไม่แข็งกระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ยโสโอหัง ที่บังอาจทำตนเป็นเหมือน “คางคกขึ้นวอ” ให้ลดมานะละทิฐิทั้งปวง

๖. ตปะ หมายถึงการระงับยับยั้งข่มใจ (Self – Austerity)

นักบริหารที่ดีต้องมี “ตปธรรม” คือการแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำจิตใจของตนเองอยู่เสมอ คือละความชั่วภายในตนเองให้หมดไป หล่อหลอมเอาแต่ความดีงามใส่ตัว มีความดีเป็นแบบอย่าง มีความพากเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส

๗. อักโกธะ หมายถึงความไม่โกรธ (Non – Anger)

นักบริหาร คือบุคคลผู้มีบทบาทมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะ การตัดสินใจ (Decision – Making) ให้ทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ นักบริหารจะมีอารมณ์โกรธไม่ได้เลย ต้องมีความสุขสงบ เยือกเย็น เห็นตน เห็นคน เห็นงาม เห็นบ้านเมืองอย่างแจ่มใสไม่ขุ่นมัว

๘. อวิหิงสา หมายถึงการไม่เบียดเบียน (Non – Violence)

นักบริหารที่ดีต้องไม่เบียดเบียนทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งไม่เบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามหลัก
พระพุทธศาสนา คือไม่มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความเท่าเทียมกัน เหมือนกันเสมอภาคกัน เคารพในกฎหมาย ไม่ทะเลาะวิวาท บาดหมางกันด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกัน นำความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาสร้างความสามัคคี

๙. ขันติ หมายถึงความอดทน (Tolerance)

ความงามของนักบริหารอยู่ที่การมีความอดทน หรือการมีขันติ และการมีความสงบเสงี่ยมเจียมตัว หรือการมีโสรัจจะ นักบริหารที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนมีความอดทนและความเสงี่ยมเจียมตัวอยู่เสมอ

๑๐. อวิโรธนะ หมายถึงความไม่คลาดธรรม (Non - Opposition)

คือมีความหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวสถิตมั่นในธรรม นักการบริหารทุกระดับ ตั้งแต่บริหารตน บริหารบุคลากร บริหารงาน และการบริหารบ้านเมือง ไม่ว่าจะระดับใดจะต้องไม่มีความผิดพลาด ความเสียหาย ต้องไม่มีพิรุธใด ๆ เพราะหากมีความผิดพลาดมีพิรุธบกพร่อง ย่อมเป็นช่องทางให้เกิดความหายนะสะสมทับถมต่อเนื่องและเรื้อรัง จะแก้ไขลำบากอยากที่จะกำจัดได้ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า นักบริหารที่ดีจะต้องมีหลักการ หลักวิชา และหลักธรรมในการบริหารการทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจะต้องไม่มีข้อผิดพลาด ไม่ผิดทางห่างเป้าหมาย

การปฏิบัติราชการตามหลักทศพิธราชธรรม คือหลักในการที่ข้าราชการเจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีไว้ในตัวเอง นั้นคือ การมีคุณธรรมและจริยธรรม ใช้ศีลเป็นเครื่องมือให้เกิดสมาธิ และใช้สมาธิก่อให้เกิดปัญญา การเป็นผู้ให้ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม ทั้งกาย วาจา และจิตใจ มีการเสียสละหรือบริจาคสิ่งของต่าง ๆ มีความซื่อตรง คือความซื่อสัตย์ ปฏิบัติภารกิจหน้าที่โดยสุจริต มีความจริงใจ มีอัธยาศัยไมตรี อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งในตน และในงานนั้น เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นคือการแผดเผากิเลสตัณหามิให้เข้ามาครอบงำจิตใจ ระงับยับยั้งข่มใจ รู้จักความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยการใช้เมตตาธรรม คือความไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน การให้อภัยบุคคลอื่น เป็นผู้ที่มีความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และอดทนต่อการกล่าวว่าติเตียนของผู้อื่นและคนรอบข้าง ซึ่งจะเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีนั้นกระทำได้ยากเนื่องจากสภาพแวดล้อมสิ่งจูงใจทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราเป็นตัวแปรที่สำคัญ สังคมมุ่งเน้นความเจริญทางด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ และสาเหตุของการกระทำความผิดต่างๆ นั้นเกิดจากการที่บุคคลนั้น

ขาดคุณธรรมหรือจริยธรรม เช่น การละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ล้วนแต่มีสาเหตุมาจากการขาดคุณธรรมและจริยธรรมทั้งสิ้น ดังนั้น เราจะต้องอบรมและส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลในครอบครัวถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมก่อน เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เมื่อบุตรหลานเติบโตขึ้นมาก็จะเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นข้าราชการหรือพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป จึงขอให้ทุกคนมีสติ หนักแน่นในคุณธรรมและจริยธรรม ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องดีงามในการครองตนให้ได้มากที่สุด เพื่อสืบทอดหลักพุทธศาสนาที่สังคมไทยยึดถือปฏิบัติกันมา

ย้อนกลับ <<

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย