เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

วิทยาการเกษตร

การพัฒนาไหมในไทย

เรียบเรียงโดย สมหญิง ชูประยูร ,ศิริพร บุญชู ,ดร.สฤษดิพร ชูประยูร

        ผ้าไหม ถือเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความสำคัญอันดับสามรองจากฝ้าย และขนสัตว์ อย่างไรก็ตามเส้นไหมมีลักษณะพิเศษกว่าเส้นใยอื่น ตรงที่มีความเงางามเฉพาะตัวด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้ผ้าไหมเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทั่วโลกโดยเฉพาะผ้าไหมไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวในด้านความสวยงามจึงทำให้ไหมไทยเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งในด้านความสวยงามและคุณภาพ เนื่องจากประเทศไทยมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพซึ่งมีมาช้านาน ซึ่งยังขาดหลักฐานยืนยันแน่นอน ว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใดแต่เชื่อกันว่าทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว ในกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งปริมาณเส้นไหมที่ผลิตได้มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอที่จะดำเนินในรูปอุตสาหกรรม จนในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์จึงทรงดำริให้มีการส่งเสริม และปรับปรุงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทย โดยปี พ.ศ. 2404 จัดตั้งสถานีทดลองและทำสวนหม่อนภายใต้การดูแลของ แผนกช่างสาวไหม กระทรวงเกษตรธิการขึ้น ที่ตำบลศาลาแดง โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ และทำการศึกษาวิจัย และสอนเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม และการทอผ้าไหม โดยขยายการจัดตั้งโรงเรียนด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเจริญรุ่งเรืองมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2455 ได้มีการยกเลิกการอุดหนุนการดำเนินงานด้านหม่อนไหมทุกแห่ง โดยไม่ทราบสาเหตุยังผลให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ของประเทศไทยหยุดชะงักซบเซาลง แต่ราษฎรก็คงดำเนินการเลี้ยงไหมต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ดำเนินการฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอีกครั้ง โดยจัดตั้งโรงงานสาวไหมขึ้น แต่ต้องประสบกับปัญหาเกี่ยวกับรังไหมที่จะใช้ในการสาว เพราะเกษตรกรยังขาดความรู้ทางวิชาการ และการปฏิบัติในการเลี้ยงไหมพันธุ์ต่างประเทศ จนในปี พ.ศ. 2484 กรมเกษตรและการประมง ได้ฟื้นฟูงานส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้นอีกครั้ง

ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรับผิดชอบ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 กรมส่งเสริมการเกษตรได้แยกตัวมาจากกรมกสิกรรม และจัดตั้งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยการบริการ และเผยแพร่วิชาการความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ที่เหมาะสมแก่เกษตรกร และได้รับหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ เกษตรกรสืบต่อมาจนปัจจุบัน

» สถานการณ์การผลิต
» การตลาด
» บทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร
» ผ้าไหม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย