เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

วิทยาการเกษตร

การสาวไหมพุ่งด้วยเครื่องสาวไหมแบบปรับปรุง

เครื่องสาวไหมพุ่งแบบมอเตอร์

เป็นเครื่องสาวไหมที่ย่อส่วนมาจากเครื่องสาวไหมแบบกึ่งอัตโนมัติหรือแบบมัลติเอน มี 2 หัวสาว โดยทำการสาวไหมเข้าอักสาวก่อนแล้วจึงนำไปทำการถ่ายเส้นไหมจากอักสาวไปสู่เหล่งเพื่อทำไจไหม โดยใช้เครื่องสาวดังกล่าวเป็นตัวกลไกในการควบคุมการทำงานทั้งสิ้น เครื่องสาวชนิดนี้เหมาะที่จะใช้กับไหมพันธุ์ไทยลูกผสมและพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ

ขั้นตอนการสาวไหมด้วยเครื่องสาวไหมพุ่งแบบมอเตอร์

1. การเตรียมรังไหม

รังไหมที่จะทำการสาวนั้น อาจจะเป็นรังไหมพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศหรือพันธุ์ไทยลูกผสม ซึ่งรังไหมที่จะใช้สาวนั้นอาจจะเป็นรังไหมสดหรือรังไหมอบแห้งก็ได้ ก่อนที่จะนำรังไหมมาทำการสาวนั้น จะต้องมีการคัดแยกรังไหมที่มีคุณภาพดีและไม่ดีออกจากกันก่อน เพื่อทำให้เส้นไหมที่จะสาวได้มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นก็นำรังไหมที่เตรียมไว้ไปทำการต้มและสาวต่อไป การต้มรังไหมเพื่อทำการสาวไหม จะมีวิธีการต้มที่แตกต่างกันระหว่างรังไหมสดและรังไหมแห้ง คือ

  • การต้มรังไหมสด การต้มรังไหมสดก่อนที่จะทำการสาวไหม จะต้องมีการต้มในอุณหภูมิ 3 ระดับ คือ n หม้อต้มที่ 1 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกสม และ 2 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 2 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 35 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 40 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 3 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 4 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม
  • การต้มรังไหมอบแห้ง การต้มรังไหมอบแห้งก่อนที่จะทำการสาวไหม ก็มีวิธีการต้มคล้ายคลึงกับการต้มรังไหมสด แต่จะแตกต่างกันที่ระยะเวลาของการต้ม ในระดับอุณหภูมิต่าง ๆ กันเท่านั้น

    - หม้อต้มที่ 1 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 6 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม n หม้อต้มที่ 2 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 50 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 1 นาที 20 วินาทีสำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม

    - หม้อต้มที่ 3 ต้มรังไหมในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาทีสำหรับไหมพันธุ์ไทยลูกผสม และ 12 นาที สำหรับไหมพันธุ์ลูกผสม
    ในกรณีการต้มรังไหมก่อนที่จะทำการสาวไหมโดยวิธีการดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการต้มรัง เพราะรังไหมแต่ละชนิดและสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน

2. การสาวไหม

นำเอารังไหมที่ต้มเรียบร้อยแล้วมาใส่ลงในอ่างสาวโดยให้ความร้อนของน้ำในอ่างสาวไหมมีอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส แล้วทำการดึงเส้นไหมเพื่อหาเงื่อน วิธีการสาวไหมด้วยเครื่องสาวชนิดนี้จะสาวเข้าอักสาวไหม ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีเส้นรอบวง 68 เซนติเมตร โดยมี 2 อักสาวไหมต่อเครื่อง แต่ละหัวสาวจะต้องใส่รังไหมเพื่อทำการสาวไหมโดยเฉลี่ยประมาณ 80 รัง เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีขนาดประมาณ 150-200 ดีเนียร์

การทำงานของเครื่องสาวไหม ในการขับเคลื่อนจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 0.5 แรงม้า โดยอักสาวไหมจะมีความเร็วประมาณ 200 เมตร/นาที ในการสาวไหมนั้น รังไหมที่จะทำการสาวควรจะมีการลอกปุยออกให้สะอาด และทำการสาวเอาเส้นใยไหมรอบนอกของรังไหมออกไปสาวที่บริเวณอ่างสาวไหมซึ่งจะมีอ่างที่ใส่รังไหมเพื่อสาวไหมกับอ่างพักรังไหมที่ต้มเรียบร้อยแล้ว และรอการสาวต่อไป

การเริ่มสาวไหมนั้น จำนวนรังไหมที่ใช้เริ่มต้นสาวอยู่ในระหว่าง 80-85 รัง และผู้ควบคุมเครื่องสาวจะต้องมีความชำนาญ ประสบการณ์และการสังเกตเป็นอย่างดี เพราะเมื่อสาวไปได้ระยะหนึ่งจำนวนรังไหมในอ่างสาวจะลดลงก็ให้ทำการเติมรังไหม โดยนำเอารังไหมจากอ่างพักเติมลงไปทดแทนรังที่หายไปจากการสาวไหม เพื่อให้เส้นไหมที่สาวได้มีขนาดที่สม่ำเสมอ

การควบคุมการทำงานของเครื่องสาวไหม เครื่องสาวไหมนี้จะประกอบไปด้วยสองหัวสาว ในระยะแรก ๆ หากผู้สาวยังไม่มีความชำนาญพออาจจะเริ่มโดยการสาวไหมเพียงหัวสาวเดียวก่อน เมื่อฝึกจนกระทั่งเกิดความชำนาญ มีทักษะ ก็สามารถที่จะเปิดสาวได้พร้อมกันทั้งสองหัวสาว ผู้สาวไหมจะต้องหมั่นตรวจเช็คขนาดของเส้นไหมอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากตัวเครื่องไม่มีตัวควบคุมขนาดของเส้นไหมในขณะที่ทำการสาว นอกจากนี้เครื่องสาวไหมชนิดนี้จะมีดุมติดอยู่ที่เครื่องสาวเพื่อป้องกันไม่ให้เศษดักแด้และเส้นไหมติดไปกับเส้นไหมที่สาวได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพเส้นไหมโดยตรง

การกรอไหมทำเข็ด

การกรอไหมเพื่อที่จะเตรียมเส้นไหมออกจำหน่ายนั้น เนื่องจากเส้นไหมที่สาวได้จะอยู่ในอักสาว ดังนั้นเมื่อทำการสาวเส้นไหมแล้วจะต้องมีการถ่ายเส้นไหมออกจากอักสาวไปใส่ระวิง (เหล่ง) เพื่อทำเป็นไจไหม โดยมีขนาดเส้นรอบวง 150 เซนติเมตร และแต่ละไจไหมควรจะมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กรัม เมื่อกรอเรียบร้อยแล้วก็ให้มัดหัวไหมทั้งสองข้าง แล้วทำการแบ่งเส้นไหมในแต่ละไจออกเป็น 4 ส่วน โดยการใช้เส้นด้ายร้อยเพื่อไม่ให้เส้นไหมในไจกระจาย ยุ่งพันกัน และสะดวกต่อผู้ใช้เส้นไหมเมื่อนำมาทำการฟอกย้อมสีไหม

การกรอไหมเพื่อถ่ายเส้นไหมเข้าเหล่งนั้น ควรที่จะรีบกรอไหมออกจากอัก เพราะถ้าหากว่าปล่อยให้เส้นไหมแห้งแล้ว จะทำให้เส้นไหมบีบรัดจนอาจจะทำให้อักแตก และทำให้เส้นไหมในอักนั้นมีลักษณะที่ไม่ดีได้ถ้าหากว่าทำการกรอไม่ทัน ควรที่จะนำอักสาวไหมที่มีเส้นไหมอยู่ไปแช่ลงในน้ำ เพื่อไม่ให้เส้นไหมแห้งและหดตัวในขณะอยู่ในอักสาว

วิธีเก็บและดูแลรักษาเครื่องสาวไหม

เครื่องสาวไหมมอเตอร์แบบสองหัวสาวประกอบด้วยวัสดุที่เป็นโลหะควบคุมการทำงานด้วยมอเตอร์ขนาด 0.5 แรงม้า ดังนั้นเพื่อให้การทำงานของเครื่องสาวไหมมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถใช้ได้ในระยะเวลานาน ผู้ใช้จึงควรที่จะปฏิบัติดังนี้คือ

  1. ควรจะมีการใส่จารบีในตุ๊กตาลูกปืนทุกตัว
  2. เมื่อทำการสาวไหมเสร็จเรียบร้อยและหยุดการใช้เครื่องแล้ว ควรจะทำความสะอาดและเช็ดเครื่องให้แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดสนิมที่ตัวเครื่องสาวไหม
  3. ส่วนลูกรอกและเจททเบ้านั้นจะต้องเอาเศษเส้นไหมที่พันติดอยู่ออกให้หมด เพื่อให้การหมุนของส่วนดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัว และทำให้สาวไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ก่อนและหลังการใช้เครื่องสาวไหมควรที่จะมีการตรวจสภาพน้อตทุกตัวของเครื่องว่าอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้เลยหรือไม่
  5. อักสาวไหม จะต้องหล่อลื่นด้วยน้ำมันเพื่อป้องกันสนิมและทำให้การหมุนของอักสาวไหมเป็นไปได้อย่างคล่องตัวในขณะที่ทำการสาวไหม

อนึ่ง ขบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการสาวไหมดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการสาวไหมโดยใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในลักษณะกึ่งโรงงานสาวไหมแบบเบื้องต้น ซึ่งสามารถที่จะนำไปดัดแปลงและปรับใช้กับวิธีการสาวไหมในรูปแบบเดียวกันได้และปัจจัยที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อคุณภาพของเส้นไหมที่จะสาวได้จากเครื่องสาวไหมกึ่งอัตโนมัติหรือเครื่องสาวไหมที่ใช้มอเตอร์ คือ ทักษะและความชำนาญ

การสาวไหมในระดับโรงงานอุตสาหกรรม

การสาวไหมในระดับโรงงานได้มีการมุ่งเน้นในการสาวไหมจากพันธุ์รังไหมสีขาวหรือพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งเส้นไหมยืนและเส้นไหมพุ่ง โดยแผนการผลิตจะต้องมีการพิจารณาสถานการณ์การตลาดเป็นหลัก เพื่อให้การผลิตเส้นไหมของโรงงานเกิดความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งในการผลิตเส้นไหมดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม โดยเกษตรกรจะเข้าไปในส่วนของการผลิตรังไหมเพื่อจำหหน่ายให้แก่โรงงานสาวไหม สำหรับโรงงานก็จะนำรังไหมที่เกษตรกรนำเข้าไปจำหน่ายนั้นทำการสาวไหมเพื่อให้ได้เส้นไหมตามความต้องการของตลาด ดังนั้น การสาวไหมในโรงงานสาวไหมจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพหรือไม่จะต้องมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ 2 ปัจจัย คือ

1. คุณภาพของวัตถุดิบ
2. เทคนิคของขบวนการสาวไหมในโรงงานสาวไหม

คุณภาพของวัตถุดิบ

หมายถึง รังไหมที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมจะต้องทำการคัดเลือกเพื่อที่จะแยกรังดีและ รังเสียออกจากกันก่อนจะนำรังไหมไปจำหน่าย ซึ่งรังเสียที่เกษตรกรจะพบนั้นมีหลายชนิด เช่น รังแฝด รังเจาะ รังเปื้อนภายใน รังเปื้อนภายนอก รังบาง รังหลวม รังหัวท้ายบาง รังผิดรูปร่าง รังติดจ่อ รังขึ้นรา และรังบุบ เป็นต้น ซึ่งหากเกษตรกรทำการคัดรังไหมได้ดี ก็จะทำให้จำหน่ายได้ในราคาดีด้วย และยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่จะได้รับจากการจำหน่ายรังไหมด้วยเพราะราคารังไหมต่อกิโลกรัมจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังไหม

เทคนิคของขบวนการสาวไหมในโรงงาน

ขั้นตอนต่าง ๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบการโรงงานสาวไหม ซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะของเกษตรอุตสาหกรรม วัตถุดิบที่ใช้คือรังไหมที่เกษตรกรนำมาจำหน่าย โดยจะมีการรับซื้อรังไหมตามมาตรฐานคุณภาพในระดับต่าง ๆ

การสาวไหมในระดับโรงงานเพื่อที่จะผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพนั้นจะต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ มากมาย เช่น การอบรังไหมแห้ง การต้มรังไหมเพื่อการสาวไหม เทคนิคการสาวไหม ประสิทธิภาพของเครื่องสาวไหม คุณภาพรังไหม น้ำที่นำมาต้มรังไหมและสาวไหม เป็นต้น ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นขบวนการที่มีความละเอียดซับซ้อนพอสมควร ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงและมีความสำคัญต่อการพัฒนาขบวนการสาวไหมมาก คือ ประสบการณ์และความชำนาญในการสาวไหม แรงงานที่ใช้ ควรที่จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือและทักษะในด้านการสาวไหมด้วยเครื่องสาวไหมแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้การผลิตเส้นไหมจากภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงานสาวไหมนั้น จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบระดับมาตรฐานของเส้นไหมด้วย เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อการค้าในระดับสากล มุ่งหวังทดแทนการนำเข้าในบางส่วน และในการกำหนดมาตรฐานเส้นไหมของไทย ควรที่จะมีการใช้แบบระบบมาตรฐานสากล คือ การใช้เส้นไหมดิบทำการทดสอบคุณภาพว่า จะอยู่ในระดับเกรดใด เช่น เอ, 2 เอ หรือ 3 เอ เป็นต้น

อย่างไรก็ดีจากเทคนิคของการสาวไหมที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เราจะพบว่าการสาวไหมในระดับเกษตรกรโดยการใช้เครื่องสาวไหมหรือพวงสาวไหมแบบปรับปรุงได้มีส่วนเข้าไปช่วยทุ่นแรงงานและเพิ่มอัตราความเร็ว ตลอดจนประสิทธิภาพในการสาวไหมของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี การรักษาระดับคุณภาพและคุณลักษณะของเส้นไหมที่สาวด้วยมือ ให้อยู่ในระดับมาตรฐาน จะทำให้ผ้าไหมไทย หรือที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า "ไทยซิลค์" (Thai silk) มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของชาวโลกตลอดไป

» เครื่องสาวไหมพุ่งแบบปรับปรุงโดยใช้แรงคน
» เครื่องสาวไหมพุ่งแบบมอเตอร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย