เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
ถั่วแดง หรือถั่วนิ้วนางแดง
กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
ถั่วแดงหรือถั่วนิ้วนางแดง เป็นพืชตระกูลถั่วที่ค่อนข้าง
จะรู้จักกันมากในปัจจุบัน เพราะเป็นพืชที่ส่งออกผลผลิตที่ส่ง ออกประมาณ 20,000 -
30,000 ตันต่อปี มีมูลค่า 150 - 190 ล้านบาท ตลาดส่งออกถั่วนิ้วนางแดงของไทย ได้แก่
ญี่ปุ่น และ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำไส้ขนม
การใช้ภายในประเทศมีน้อย จะส่งออกเกือบทั้งหมดปริมาณการผลิตของแต่ละปีขึ้นอยู่กับ
ราคาที่เกษตรกรได้รับ ถ้าราคาดีก็ผลิตมากเพราะเป็นผลพลอยได้ จากการปลูกข้าวโพด
แหล่งปลูกที่สำคัญคือจังหวัดเลย (ปลูกมากที่อำเภอวังสะพุงและอำเภอเชียงคาน)
และที่จังหวัดขอนแก่น, พิษณุโลกและที่อื่น ๆ บ้างเล็กน้อย เช่น ที่จังหวัดเพชรบูรณ์
และเชียงราย เป็นต้น
ถั่วแดงที่ปลูกในขณะนี้มีหลายชนิด
แต่ที่ปลูกเป็นการค้าและปลูกมากเป็นถั่วแดงเมล็ดสีแดง ดอกสีเหลือง, ฝักเล็กเท่า ๆ
กับถั่วเขียว แต่ยาวกว่าเล็กน้อย เมื่อแก่ผักจะมีสีน้ำตาลอ่อนและสีดำ
ฝักจะห้อยลงจากช่อเหมือนนิ้วมือ ฝักที่มีสีดำเมล็ดจะโตกว่าฝักสีน้ำตาลอ่อนเล็กน้อย
ต้นเลื้อย ลำต้นและใบมีขนโดยทั่วไป เรียกว่า ถั่งแดงเมืองเลยหรือถั่วนิ้วนางแดง
แต่ที่จังหวัดเลยเรียกว่า ถั่วท้องนา หรือบ้านนา
เป็นพันธุ์ที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เพื่อใช้เป็นพืชบำรุงดิน ชื่อเดิมเรียกว่า
ถั่วแดงซีลอน ถั่วพวกนี้ถ้าเมล็ดมีสีแดง ส่วนมากจะเรียกชื่อว่า ถั่วแดง
ถั่วนางแดงหรือนิ้วนางแดง เหมือนกันหมด ถ้าเมล็ดมีสีขาวอมเขียวเล็กน้อย
จะเรียกชื่อแตกต่างกันไปแล้วแต่ท้องที่ เช่น ที่พิษณุโลก เรียกว่า ถั่วนา ที่อุดร
เรียกว่า ถั่วเต็มกำหรือเล็บมือนาง (ส่วนถั่วแดงพระราชทานนั้น ไม่รวมอยู่ในพวกนี้)
การปลูก
ถั่วแดงเป็นพืชที่ไวต่อแสง จะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือน ตุลาคมเป็นต้นไป
เวลาปลูกควรจะอยู่ในเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม แต่ถั่วในปัจจุบันนี้
เป็นพืชแซมกับพืชอื่น ส่วนมากจะปลูกแซมกับข้าวโพด
การปลูกถั่วแดงมี 3 วิธี คือ
- ปลูกรวมกับข้าวโพด โดยใช้เมล็ดถั่วแดงผสมกับเมล็ดข้าวโพด แล้วปลูกในหลุมเดียวกัน ซึ่งจะมีเมล็ดถั่วแดงในหลุมละ 1 - 4 เมล็ด วิธีนี้เป็นวิธีการปลูกของเกษตรทั่ว ๆ ไป เพราะสะดวกในการปฏิบัติ
- ปลูกแซมข้าวโพด โดยการหยอดถั่วแดงหลังจากดายหญ้า ข้าวโพดครั้งแรกแล้วระหว่างแถว ข้าวโพดหลุมละ 2 - 3 เมล็ด โดยใช้ระยะหลุม 20 - 50 ซม.
- ปลูกถั่วแดงพืชเดียว ควรปลูกในเดือนสิงหาคม โดยปลูกระยะ 50 x 20 ซม. หยอดหลุมละ 3 - 4 เมล็ด เมื่อวอกแล้ว 2 สัปดาห์ ถอนให้เหลือหลุมละ 2 ต้น
การดูแลรักษา
การดูแลรักษาก็เช่นเดียวกันกับการดูแลรักษาแปลงข้าวโพด
โดยปกติที่วไปสำหรับถั่วแดงนั้นเป็นผลพลอยได้
ถ้าปลูกถั่วแดงล้วนอาจจะต้องกำจัดวัชพืชบ้าง 1 - 2 ครั้ง
แล้วแต่ความมากน้อยของวัชพืช ซึ่งก็จะเป็นการเพียงพอ เมื่อต้นถั่วแดงเริ่มเลื้อย
แล้วก็จะคลุมด้วยวัชพืชไปเอง และยังรักษาความชุ่มชื้นในดินได้อีกด้วย
การใช้ปุ๋ยยังไม่จำเป็นเพราะถั่วแดงเป็นพืชตระกูลถั่วที่สามารถ
ใช้ไนโตรเจนในอากาศได้ โดยทั่วไปแล้วแหล่งที่ผลิตข้าวโพด
จะมีความอุดมสมบูรณ์ที่เพียงพอกับความต้องการของถั่ว
ในระยะเริ่มออกดอกจะมีหนอนผีเสื้อกัดกินใบ หนอนม้วนใบ หนอนจะเจาะฝัก
เข้าทำลายบ้างเมื่อพบว่ามีหนอนพวกนี้ระบาด ควรพ่นสารป้องกันและกำจัด เช่น
อะโซดรินและฟอสดริน เป็นต้น โดยใช้สาร 2 ช้อนแกง (30 ซี.ซี.) ต่อน้ำ 1 ปีบ (20
ลิตร)
การเก็บเกี่ยว
เนื่องจากถั่วแดงเป็นพืชที่ไวต่อแสง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวจึงจำกัด คือ
จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ ต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป โดยทั่วไปแล้วจะไม่ใช้วิธีทะยอย
เก็บฝักที่แก่เพราะจะเป็นการสิ้นเปลือง แรงงานมาก
แต่จะเก็บโดยรอให้ฝักแก่เกือบหมดแล้ว ใช้เคียวเกี่ยวนำทั้งต้นและฝักมาตาก
บนลานให้แห้ง แล้วนวดโดยใช้เครื่องนวด รถย่ำ หรือไม้ฟาด
เมื่อนวดเสร็จแล้วก็นำมาฝัดบรรจุเมล็ดใส่กระสอบเตรียมส่งขาย
หรือเก็บไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป เมล็ดส่วนที่เก็บไว้ทำพันธุ์ต้องตากให้แห้งสนิท
และควรคลุกสารเคมีป้องกันแมลงทำลาย
โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะให้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 150 - 200 กิโลกรัมต่อไร่
ถ้าปฏิบัติดูแลรักษาดี และเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม คือ เก็บเกี่ยว
ในตอนเช้าและฝักไม่แห้งจัดจะให้ผลผลิตสูงถึง 300 กิโลกรัมต่อไร่
คุณค่าทางโภชนาการ
ในถั่วแดง 100 กรัม มีองค์ประกอบทางอาหารดังนี้
- โปรตีน 21.97 %
- ไขมัน 0.58 %
- คาร์โบไฮเดรต 58.10 %
- เยื่อใย 5.40 %
ควรมีการส่งเสริมให้ปลูกถั่วให้มีปริมาณมากขึ้น
และควรสนับสนุนให้มีการนำถั่วแดงมาบริโภค ในประเทศให้มากขึ้น
เพราะเป็นพืชอาหารที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก สามารถนำถั่วแดง
มาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำข้าวต้มมัด ต้มกับน้ำตาล หรือเชื่อมใส่น้ำแข็ง,
ไอศกรีม ทำขนมปังเนื้อถั่วแดง, คุ๊กกี้ หรือนำไปทำไส้ขนมหวานต่าง ๆ
ได้รวมทั้งประกอบอาหารมังสวิรัติต่าง ๆ
การปลูกถั่วแดงร่วมกับข้าวโพด นอกจากได้ผลผลิตถั่วแดงและข้าวโพดแล้ว
ยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้ด้วย
และต้นข้าวโพดก็ทำหน้าที่เป็นค้างให้แก่ต้นถั่ว
การปลูกร่วมกันจึงเหมาะสมสำหรับแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกันให้แพร่หลายมายิ่งขึ้น
เอกสารเผยแผร่โดย : กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร