เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

พืชไร่

การปลูกถั่วเหลือง

การปฏิบัติ ดูแลรักษา

1. การให้น้ำ ในฤดูแล้งควรให้น้ำประมาณ 5-6 ครั้งตลอดฤดูปลูกโดยให้ครั้งแรกก่อนปลูก ครั้งต่อๆไปให้ทุก 10-14 วัน อีก 4-5 ครั้ง แล้วแต่ความชุ่มชื้นของดิน เนื่องจากความสามารถในการอุ้มน้ำของดินแตกต่างกันไป ควรจะสังเกตใบถั่วเหลืองประกอบด้วย เช่น โดยปกติใบถั่วจะเหี่ยวใบตอนบ่าย และจะคืนตัวเป็นปกติในตอนเย็น หากเห็นว่าในตอนเย็นหรือตอนเช้า ใบถั่วยังมีอาการเหี่ยวไม่เป็นปกติ ก็ควรจะให้น้ำได้
การให้น้ำควรให้พอดี ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงถั่วเหลืองเกิน 1-2 วัน ถ้าให้มากเกินไป หรือดินชั้นล่างแฉะ จะสังเกตเห็นใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก้านใบและเส้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงให้รีบระบายน้ำออกทันที และลดการให้น้ำครั้งต่อไปให้น้อยลง หรือยืดช่วงเวลาให้น้ำครั้งต่อไปนานกว่าเดิม ควรระวังอย่าให้ขาดน้ำในช่วงที่ออกดอกและติดฝัก หยุดให้น้ำเมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง

2. การพรวนดินและดายหญ้า ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะที่ต้นถั่วอายุไม่เกิน 30 วัน หลังจากนี้แล้วถั่วจะเริ่มออกดอก การพรวนดินจะกระเทือนระบบรากและอาจทำให้ดอกร่วงได้ และในระยะที่ถั่วออกดอก ต้นถั่วจะแผ่กิ่งก้านมากพอที่จะปกคลุมดิน ป้องกันวัชพืชเจริญเติบโตได้

ปัญหาที่พบมากในการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในนาข้าวคือ วัชพืช โดยเฉพาะหญ้าและลูกข้าวจะงอกขึ้นมาเมื่อ ได้รับน้ำ จึงควรกำจัดพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ตามความจำเป็น หากอายุเกิน 30 วันแล้วไมควรทำอีก
การดูแลแปลงปลูกถั่วเหลืองในระยะ 1 เดือนแรก ให้ปลอดจากวัชพืชรบกวนได้ นับว่าสำคัญที่สุดในการเพิ่มผลผลิต ถั่วเหลือง

3. การบำรุงดิน ในดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปอาจทำให้ถั่วเหลืองเฝือใบได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็นแต่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีช่วย และควรให้ปุ๋ยถูกต้องกับความต้องการของถั่วเหลืองด้วย

ในดินที่ได้ทำการเกษตรกรรมมานาน ปริมาณธาตุอาหารในดินย่อมลดน้อยลง โดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโปแตสเซียมพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณเพียงพอ แต่ถ้าดินขาดธาตุโปแตสเซียมแล้วถั่วเหลืองจะมีอาการตอบสนองต่อปุ๋ยได้ง่าย โดยเฉพาะในดินทรายถึงร่วนปนทรายพบว่าในดินที่ขาดธาตุโปแตสเซียม ถ้ามีการให้ปุ๋ยโปแตสเซียมช่วยแล้ว จะให้ผลดียิ่งขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มและเปอร์เซนต์น้ำมันในเมล็ดจะเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ปฏิกิริยาความเป็นกรดหรือเป็นด่างของดินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อ ความเจริญเติบโตของถั่วเหลืองและ ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความ เป็นกรดและด่างของดินประมาณ 5.5-6.5

สำหรับดินปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงหรือต่ำไม่ช่วยให้เพิ่มผลผลิตสูงได้ เนื่องจากการสูญเสียไนโตรเจนไปอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เชื้อไรโซเบี่ยมคลุกเมล็ดก่อนปลูกจะมีผลดีกว่าการ ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน

» ประโยชน์ของถั่วเหลือง
» การเลือกพื้นที่ปลูก
» การปฏิบัติ ดูแลรักษา
» พันธุ์ถั่วเหลือง
» วิธีเตรียมดินและการปลูกในฤดูฝน
» สูตรปุ๋ย ที่ใช้สำหรับถั่วเหลือง
» ฤดูปลูก
» การปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในนาข้าว
» การกำจัดวัชพืช
» ความจำเป็นในการใช้เชื้อไรโซเบียม
» เชื้อไรโซเบียมหรือแบคทีเรียสำหรับคลุมเมล็ดพันธุ์
» การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดวัชพืชสำหรับถั่วเหลือง
» โรคถั่วเหลือง
» การเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง
» การตากและเก็บรักษาเมล็ดถั่วเหลือง
» แมลงศัตรูถั่วเหลือง
» การนวด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย