เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
โรคตะพาบน้ำ
ปัญหาและอุปสรรคในการเพาะเลี้ยงที่สำคัญมากประการหนึ่งคือโรคอีกเช่นเคย โดยมักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการจัดการที่ไม่เหมาะสม โรคที่จะกล่าวถึงเป็นโรคที่ตรวจพบในตะพาบน้ำซึ่งเกษตรกรได้นำส่งตัวอย่างมายังสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง เพื่อการรักษา
1. โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย
ตะพาบน้ำที่ป่วยเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการหลายแบบ
- ตกเลือดบริเวณกระดองและหน้าท้อง โดยจะสังเกตเป็นจ้ำเลือดกระจายอยู่ทั่วไป และอาจพบบริเวณคอ ขา รวมถึงบริเวณหาง
- ตกเลือดบริเวณช่องขับถ่าย มักพบว่าช่องขับถ่ายบวมแดง
- เป็นแผลหลุมบริเวณกระดอง
- ตุ่มสิว ตะพาบเมื่อป่วยมากขึ้น ตุ่มเหล่านี้จะปะทุออกกลายเป็นแผล หลุม
- เท้าบวมเป็นแผลหนอง และอาจพบจ้ำเลือด
- มีน้ำในช่องท้อง
- อวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม ไต หดเล็กลง หรือขยายใหญ่ขึ้น
- ขึ้นขอบบ่อ ซึม ไม่กินอาหาร
โรคติดเชื้อแบคทีเรีย มักมีสาเหตุจากตะพาบเกิดความเครียดทำให้อ่อนแอ ยอมรับการติดเชื้อได้ง่าย โดยความเครียดมีสาเหตุจาก
- การเลี้ยงที่หนาแน่นมาก
- การไม่ค่อยเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือไม่เคยเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย
- พื้นดินหรือทรายก้นบ่อเน่าเสีย
- น้ำที่ใช้เลี้ยงมีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูง หรือต่ำเกินไป
- มีแก๊สพิษ เช่น แอมโมเนีย หรือไนไตรท์เกิดขึ้นมากที่พื้นบ่อ
การรักษา
1. ตะพาบป่วยที่มีลักษณะเป็นแผลบริเวณกระดอง รักษาโดยการใช้
- เกลือสาดลงในบ่อปริมาณ 100-300 กิโลกรัม/บ่อ 1 ไร่
- บีเคซีสาดลงในบ่ออัตรา 3-5 ซีซีต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร
- โพวิโดนไอโอดีนแช่ในอัตรา 1-2 ซีซีต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร
- เบตาดีนทาบริเวณที่เกิดแผล
2. ตะพาบป่วยมีจ้ำเลือดตามตัว ถ้ายังกินอาหารอยู่ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ซัลฟาไตร เมทโทรพิม ออกซีเตตราชัยคลิน ไนโตฟูราน โตอิน หรือนอร์ฟ๊อกซาซีน ผสมอาหารให้กินในอัตรา 1-5 กรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่ถ้าตะพาบไม่กินอาหาร อาจใช้วิธีการฉีดยาปฏิชีวนะแล้วแช่เกลือนอกจากการใช้ยาและสารเคมีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ่อควบคู่ไปด้วย เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำหรือกำจัดดินเลนก้นบ่อที่เน่าเสียทั่วไป เป็นต้น การรักษาจึงจะได้ผลดีและรวดเร็วขึ้น
2. โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา
ตะพาบป่วยจะมีลักษณะเป็นขนสีขาวปุยขึ้นทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณกระดอง การกินอาหารจะลดลง ส่วนใหญ่ตะพาบที่ติดเชื้อราถ้าเป็นในตะพาบใหญ่มักจะไม่ตาย แต่การเจริญเติบโตจะช้าส่วนตะพาบเล็กอาจถึงตายได้ เนื่องจากหลังการติดเชื้อรามักมีบาดแผลทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ตะพาบตาย สาเหตุการเกิดเชื้อรามักเกี่ยวเนื่องกับพื้นบ่อที่สกปรก หรือเน่าเสีย
การรักษา
ถ้าพบในปริมาณน้อย ให้แยกตะพาบป่วยออกมาแล้วนำมาเช่ในน้ำยามาลาไคท์กรีนเข้มข้น 0.1-2 กรัม ต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (ตัน) นาน 2 - 3 วัน แล้วควรใส่ปูนขาวลงในบ่อในอัตรา 100 - 300 กิโลกรัม/บ่อขนาด 1 ไร่
3. โรคที่มีสาเหตุมาจากโปรโตซัว
โปรโตซัวที่ก่อให้เกิดโรคในตะพาบน้ำมีทั้งที่เป็นปรสิตภายนอกและปรสิตภายในตะพาบติดเชื้อโปรโตซัวที่เป็นพยาธิภายนอก (Epitylis sp.) มักแสดงอาการมีขนขึ้นทั่วตัวโดยสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อนำตะพาบแช่น้ำลักษณะของขนที่ขึ้นตัว จะแตกต่างจากเชื้อรา คือจะมีขนาดใหญ่กว่า และสีขาวเหลือง หรือออกเขียว ขึ้นกับสภาพน้ำในบ่อ โรคนี้มักเกิดกับตะพาบที่บ่อเลี้ยงไม่สะอาด หรือบ่อที่มีการนำผักตบชวาหรือพืชน้ำอื่นเข้ามาใสในบ่อเพื่อเป็นร่มเงา และที่กำบังให้ตะพาบ
การรักษา
ใช้ฟอร์มมาลิน 25-30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร สาดลงในบ่อ หรือใช้เกลือ 0.5-1% (เกลือ 5-10กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร) เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน หลังจากถ่ายน้ำให้ไหลใส่ฟอร์มาลิน หรือเกลือในระดับความเข้มข้นเดิมทำซ้ำประมาณ 2-3 วัน
โรคที่เกิดจากปรสิตภายใน (Balantidium sp.) โรคนี้ค่อนข้างร้ายแรง โปรโตซัวจะอยู่ในทางเดินอาหาร ถ้ามีเป็นปริมาณมากจะทำให้ลำไส้หรือกระเพาะอาหารทะลุ อาหารที่ตะพาบกินเข้าไปบางส่วนจะหลุดรอดรูบาดแผลออกมา ทำให้เกิดการเน่าเสียภายในช่องท้อง ซึ่งมีผลให้ตะพาบตายได้เมื่อตะพาบป่วยถึงขั้นทางเดินอาหารทะลุแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันไว้ก่อนโดยการให้ตะพาบกินยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกเดือน
4. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
มีนักวิจัยบางท่านได้รายงานว่า ตะพาบป่วยมีอาการตัวบวมโดยอาการเริ่มจากคอและขาบวมก่อนจากนั้นส่วนอื่นจึงบวมตาม ตะพาบจะซึมไม่กินอาหาร ตะพาบที่ป่วยหนักจะมีการตกเลือดบริเวณหน้าท้อง และหน้าอกจะยุบลง จากการศึกษาของทางสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำพบว่าตะพาบที่ป่วยด้วยอาการดังกล่าวสามารถแยกเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ซึ่งอาการป่วยนี้จะมีไวรัสร่วมอยู่ด้วยหรือไม่นั้นกำลังศึกษาวิจัยอยู่
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าโรคตะพาบน้ำมีหลายโรคมาก ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคจะช่วยลดอัตราการสูญเสียได้
การป้องกันโรคตะพาบน้ำ
1. ไม่ควรเลี้ยงตะพาบให้หนาแน่นเกินไป เนื่องจากตะพาบน้ำมีนิสัยก้าวร้าว เมื่ออยู่รวมกันแน่นมาก ๆ จะกัดกัน ทำให้เกิดบาดแผลขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราตามมา
2. คุณภาพน้ำในบ่อควรปรับให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะความเป็นกรดเป็นด่าง (pH)ควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 เนื่องจากตะพาบน้ำจะชอบอยู่ในน้ำมากกว่าบนบก ดังนั้น เมื่อสภาพน้ำไม่เหมาะสมจะมีผลให้ตะพาบอ่อนแอเกิดติดเชื้อได้ง่าย
3. ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สม่ำเสมอ อย่าทิ้งให้น้ำในบ่อเน่าเสีย
4. ควรมีบ่อสำรอง เมื่อเลี้ยงตะพาบได้ประมาณ 2-3 เดือน ส่วนใหญ่พื้นก้นบ่อจะเน่าเสีย เนื่องจากการสะสมของเศษอาหารที่ตะพาบกินไม่หมดรวมทั้งสิ่งขับถ่ายของตะพาบซึ่งสะสมอยู่ที่พื้นบ่อ ตะพาบน้ำมีอุปนิสัยชอบฝังตัวในดิน เมื่อการเน่าเสียของพื้นบ่อเกิดขึ้นจึงมีผลกระทบต่อตะพาบโดยตรง
ดังนั้น ถ้าสังเกตเห็นพื้นบ่อเน่าเสียในช่วงแรกอาจใช้ปูนขาวและเกลือช่วยได้ แต่เมื่อเน่าเสียมากขึ้น ควรจะย้ายตะพาบน้ำไปยังบ่อใหม่ที่มีการทำความสะอาดพื้นบ่อเรียบร้อยแล้ว
5. อาหารที่ใช้เลี้ยงตะพาบน้ำ ถ้าใช้อาหารสด เช่น ปลาสับควรใช้ปลาที่ยังสดอยู่ ไม่ควรนำอาหารที่เน่าแล้วให้ตะพาบกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้
6. ควรให้ยาถ่ายพยาธิแก่ตะพาบน้ำเป็นประจำ เดือนละ 1 - 2 ครั้งเนื่องจากตะพาบน้ำกินอาหารสด ดังนั้นจึงมีโอกาสติดโรคพยาธิได้ง่าย
7. ตะพาบน้ำใหม่ที่นำเข้ามาในฟาร์ม ควรจะมีบ่อแยกต่างหาก จากนั้นให้ยาฆ่าเชื้อและยาถ่ายพยาธิ เพื่อกำจัดแบคทีเรีย และพยาธิที่อาจติดมากับตะพาบน้ำ เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อในบ่อตะพาบ
8. เมื่อสังเกตพบตะพาบมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกตะพาบป่วยออกจากตะพาบปกติทันทีเพื่อป้องกันการลุกลามและการระบาดของโรค
9. ผักตบชวาและพืชน้ำที่จะนำมาใส่ในบ่อ เพื่อเป็นร่มเงาและที่กำบังให้ตะพาบ ก่อนนำมาใช้ในบ่อควรทำความสะอาดรากและใบให้ดี แล้วแช่ในน้ำด่างทับทิมเข้มข้นเพื่อกำจัดปรสิตภายนอกที่อาจติดมากับรากและใบก่อนจากนั้นจึงล้างน้ำสะอาดอีกครั้งก่อนใส่ลงในบ่อ
<