เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การเลี้ยงห่าน
การฟักไข่ห่าน
ไข่ห่านที่จะนำมาฟักควรเป็นไข่ห่านจากแม่ห่านที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว และมีอายุระหว่าง 1-3 ปี ไข่ที่จะใช้ฟักไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 7 วัน หากเก็บไว้ถึง 10 วันมีแนวโน้มที่จะทำให้การฟักออกต่ำลง แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บไว้เกิน 7 วัน ต้องเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิ 50-60 องศาฟาเรนไฮท์ (F) หรือประมาณ 10-15 องศาเซนเซียส (C) และความชื้นสัมพันธ์ 75-80 เปอร์เซ็นต์ ควรกลับไข่อย่างน้อยวันละครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อติดเยื่อเปลือกไข่ ไข่ฟักที่สะอาดจะมีเปอร์เซ็นต์การไปฟัก ออกเป็นตัวดีกว่าไข่ที่สกปรก หากจำเป็นต้องใช้ไข่ที่สกปรกไม่มากนักไปฟัก ต้องรีบทำความสะอาดทันทีหลังจากเก็บ โดยใช้ฝอยโลหะหรือกระดาษทรายเบอร์ 0 หรือเบอร์ 1 ขัดเบา ๆ หรือล้างในน้ำอุ่นที่สะอาด (อุณหภูมิประมาณ 48 องศาเซนเซียส) ซึ่งผสมด้วยน้ำยาล้างไข่เป็นเวลาประมาณ 3 นาที ควรระมัดระวังเสมอว่าน้ำที่จะใช้ล้างไข่จะต้องอุ่นกว่าอุณหภูมิของไข่เสมอ ไข่ฟักที่มีขนาดฟองใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป หรือมีลักษณะผิดปกติแตกร้าว ไม่ควรใช้ฟัก เพราะโอกาสจะฟักออกเป็นตัวมีน้อยมาก
วิธีการฟักไข่ห่านมีอยู่ 3 วิธี คือ
- ใช้แม่ไก่ฟัก แม่ไก่ตัวหนึ่งสามารถฟักไข่ห่านได้ครั้งละ 4-5 ฟอง
- ใช้แม่ห่านฟัก แม่ห่านตัวหนึ่งฟักไข่ห่านได้ครั้งละ 7-8 ฟอง
วิธีฟักไข่ 2 วิธีดังกล่าวข้างบนนี้ จะต้องจัดทำรังฟักไข่สำหรับให้แม่ไก่หรือแม่ห่านกกไข่ด้วย พื้นรังไข่ควรรองด้วยหญ้าแห้งหรือฟางข้าวก่อนให้แม่ไก่หรือแม่ห่านฟักไข่ จะต้องทำการกำจัดไรหรือเหาตามตัวเสียก่อน รังฟักไข่ควรจะอยู่ใกล้ที่ให้อาหารและน้ำ และควรวางบนพื้นดินเพราะจะเป็นการช่วยให้มีความชื้นมากขึ้น อยู่ในที่ที่แม่ไก่หรือแม่ห่านไม่ถูกรบกวนในระหว่างฟักไข่ หากจะช่วยกลับไข่วันละ 3-4 ครั้ง ก็จะเป็นผลดี ควรทำเครื่องหมายตามด้านยาวของฟองไข่ไว้เป็นการกันสับสน การกลับไข่ให้กลับ 180 องศา โดยพลิกกลับเอาด้านตรงกันข้ามขึ้น
- ใช้ตู้ฟักหรือที่เรียกว่า การฟักแบบวิทยาศาสตร์
ไข่ที่จะนำมาฟัก หากเก็บไว้ในห้องเก็บไข่ที่ควบคุมอุณหภูมิ เมื่อจะนำเข้าตู้ฟักจะต้องเอามาวางไว้ในห้องปกติเสียก่อน เพื่อให้ไข่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงค่อยนำเข้าตู้ฟัก มิฉะนั้นอุณหภูมิในตู้ฟักไข่จะลดลงอย่างมาก การวางไข่ในถาดฟัก ให้วางไข่ในแนวราบตามความยาวของฟองไข่และควรทำเครื่องหมายที่ฟองไข่เพื่อความสะดวกในการกลับไข่ อุณหภูมิตู้ฟักไข่ควรตั้งไว้ที่ 37.5 องศาเซนเซียส หรือ 99.5-99.7 องศาฟาเรนไฮท์ ในช่วง 25-28 วันแรก ความชื้นสัมพันธ์ของตู้ฟักประมาณ 57-62 เปอร์เซ็นต์ (ปรอทตุ้มเปียกประมาณ 30-31 องศาเซนเซียส) และควรจะพรมไข่ด้วยน้ำอุ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ได้มีผู้แนะนำไว้ว่า ในการฟักไข่ห่านได้ผลดีนั้น
ควรจะเอาถาดไข่ออกมาวางข้างนอกตู้ฟัก พรมด้วยน้ำอุ่นเป็นฝอยๆ ตั้งทิ้งไว้สัก 10-15
นาที แล้วจึงนำกลับเข้าตู้ฟัก
ระหว่างช่วงออก ช่วงที่ลุกห่านจะเริ่มเจาะเปลือกไข่
ควรจะเพิ่มความชื้นให้สูงขึ้นถึง 73-79% (ปรอทตุ้มเปียกประมาณ 32.7-33.8
องศาเซนเซียส) ความชื้นสูงในช่วงนี้จะช่วยทำให้เยื่อหุ้มเปลือกไข่นุ่ม
เป็นการง่ายสำหรับลูกห่านจะได้เจาะโผล่ออกมา
ระยะการฟัก
1. ห่านพันธุ์ทั่วๆไป 31-32 วัน
2. ห่านพันธุ์แคนาดาและพันธุ์อียิปต์เชี่ยน 35 วัน
การส่องไข่ระหว่างฟัก
การส่องไข่ คือการตรวจดูว่าไข่ฟองไหนมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ การส่องไข่ควรกระทำในห้องมือโดยใช้ที่ส่องไข่ส่องดู หรือจะจับไข่มาส่องกับแสงสว่างดูก็ได้ ควรส่องไข่ดู 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อฟักไข่ไปได้แล้ว 10 วัน และครั้งที่สองเมื่อครบ 28 วัน หรือเหลืออีก 3 วัน ก่อนกำหนดออกเป็นตัว
เมื่อส่องไข่ดูครั้งแรกพบไข่ไม่มีเชื้อหรือไข่เชื้อตาย
จะต้องนำออกไปจากตู้ฟักไข่ให้หมด
เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อการฟักออกของไข่มีเชื้อไข่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นเหมือนไข่ธรรมดา
ไข่เชื้อตายจะปรากฏเป็นจุดดำติดอยู่กับเยื่อเปลือกไข่ซึ่งจะมีวงเลือดปรากฏให้เห็น
ส่วนไข่มีเชื้อและกำลังเจริญเติบโตจะเห็นเป็นจุดดำที่ส่วนท้ายของไข่ใกล้กับช่องอากาศ
และมีเส้นเลือดกระจายออกไปรอบ ๆ จากจุดนี้
ในการส่องไข่ครั้งที่สอง เมื่อได้ทำการฟักไปแล้ว 28 วัน หรืออีก 3 วัน
ก่อนกำหนดออกเป็นตัว ไข่ที่เชื้อยังดีอยู่และกำลังจะออกเป็นตัว
จะปรากฏเป็นสีดำทึบไปหมด
ยกเว้นส่วนที่เป็นช่องอากาศจะมองเห็นการเคลื่อนไหวของลูกห่านที่กำลังจะออกด้วย
อัตราการฟักออกเป็นตัวของไข่ห่าน
ไข่ที่เก็บในระยะแรกของการให้ไข่จะฟักออกเป็นตัวดีที่สุด แล้วค่อย ๆ ละลงเรื่อยๆ
ตามระยะของการให้ไข่ ซึ่งเฉลี่ยตลอดฤดูการให้ไข่อัตราการฟักออกประมาณ 66
เปอร์เซ็นต์
»
ประโยชน์ของการเลี้ยงห่าน
»
เรือนโรงสำหรับเลี้ยงห่าน
»
วิธีเริ่มต้นเลี้ยงห่าน
» การฟักไข่ห่าน
»
การดูเพศของห่าน
»
การจัดการและการเลี้ยงดู
»
การคัดเลือกห่านสำหรับผสมพันธุ์
»
การผสมพันธุ์
»
การสุขาภิบาลและการป้องกันโรค
»
คุณค่าทางอาหารของเนื้อห่าน