เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การเลี้ยงโคนมสำหรับเกษตรกร
กองปศุสัตว์สัมพันธ์ กรมปศุสัตว์
อาหารและการให้อาหาร
อาหารและการให้อาหาร โคนมเป็นสัตว์สี่กระเพาะหรือที่เรียกว่า สัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ประเภทนี้จะมี 2 ชนิดคือ อาหารหยาบ เช่น หญ้า ถั่ว อาหารสัตว์ ฟางข้าว และอาหารข้น เช่น อาหารผสม ในการให้อาหารแก่ โคนม อาหารทั้ง 2 ชนิด จะมีความสำคัญเท่า ๆ กัน และต้องมีความสัมพันธ์กัน เพื่อที่จะทำให้โคนม สามารถให้น้ำนมได้สูงสุดตามความสามารถของโคแต่ละตัวที่จะแสดงออก
โคนมในปัจจุบันได้รับการ ปรับปรุงพันธุ์จนมีความสามารถในการให้น้ำนมได้สูงกว่าแต่ก่อน ลำพังการให้อาหารหยาบเพียงอย่าง เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหยาบในเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารต่ำ มีโภชนะ ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของแม่โคนม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการให้อาหารข้นเสริมจะเห็นได้ว่าอาหาร ข้นจะเข้าไปมีบทบาทต่อการผลิตน้ำนมมากขึ้น นอกจากนั้นบทบาทที่สำคัญอีกอย่างก็คือ จะเป็นตัวกำหนด ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเลี้ยงโคนม ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายในด้านอาหารจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดคือ ประมาณร้อยละ 70 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศกำลังประสบอยู่ นั่นคือต้นทุน การผลิตน้ำนมดิบที่สูงขึ้น
ฉะนั้นการให้อาหารแก่โคนมอย่างเหมาะสมนอกจากจะสามารถช่วยแม่โคนม สามารถให้น้ำนมได้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการให้อาหารข้น แก่โคนมก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่มาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาด ความรู้เข้าใจในการใช้อาหารข้น ทั้งเรื่องเกี่ยวกับว่า อาหารข้นควรจะมีคุณภาพอย่างไรประกอบด้วย อะไรบ้าง และจะให้โคนมกินประมาณเท่าไร ซึ่งคำถามต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงจัดทำ เอกสารฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรได้ทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ในการให้อาหารแก่โคนม ก่อนที่จะกล่าวถึงในเรื่องของการให้อาหาร เกษตรกรควรที่จะทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่จะไปมีส่วน เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิเช่น
ความต้องการสารอาหารของแม่โคนม
แม่โคนมแต่ละตัวมีความต้องการสารอาหารได้แก่ โปรตีน พลังงาน วิตามิน แร่ธาตุ ฯลฯ
โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อที่จะ
(1) บำรุงร่างกาย
(2) เจริญเติบโต
(3) ผลิตน้ำนม
(4) เพื่อการเจริญเติบโตของลูกในท้อง
แม่โคจะนำสารอาหารที่ให้กินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ตามลำดับทำให้แม่โคละตัวซึ่งมีน้ำหนักตัว ต่างกันและให้นมจำนวนไม่เท่ากัน มีความต้องการสารอาหารแตกต่างกันไปนอกจากนั้นในแม่โคตัวเดียวกัน ก็ยังมีความต้องการสารอาหารในแต่ละช่วงแตกต่างกันไปอีก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ
ช่วงระยะการให้น้ำนม แม่โคนมที่อยู่ในระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ แม่โคนมที่อยู่ระหว่าง การให้น้ำนมสูงสุด (2 เดือนแรกของการให้นม) การให้นมช่วงกลาง การให้นมในช่วงปลาย และช่วงหยุด การให้นม จะมีความต้องการสารอาหารในแต่ละระยะการให้นมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะปริมาณน้ำนมที่ แม่โคผลิตได้ในแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน
สภาพของร่างกาย โคนมที่สามารถให้น้ำนมได้เต็มที่ สุขภาพของแม่โคจะต้องพร้อม คือ ไม่ควรจะอ้วน หรือผอมจนเกินไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่มากขึ้น ทั้งนี้เพราะโคจะต้องใช้สารอาหาร ในการบำรุงร่างกาย และเจริญเติบโตก่อนจึงจะนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม
เมื่อเกษตรกรได้รู้ถึงความต้องการสารอาหารของโคแล้ว ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงความต้องการสารอาหาร แต่ละชนิด เพราะอาจจะทำให้สับสน แต่อยากจะให้เกษตรกรได้ทราบถึงเหตุผลว่าทำไมจึงมีความจำเป็นที่ จะต้องให้อาหารต่างกันในโคแต่ละตัวหรือในโคตัวเดียวกันแต่ต่างระยะเวลา
ปริมาณการกินอาหารของแม่โค
แม่โคนมแม้จะต้องการสารอาหารมากเพียงไร แต่ปริมาณอาหารที่แม่โคกินได้นั้นมีอย่างจำกัด ซึ่งอาจจะ เนื่องมาจากความจุของกระเพาะโคเองหรืออาจจะเนื่องมาจากลักษณะและคุณภาพของอาหารที่ให้แก่โค ฉะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมควรจะทราบด้วยว่า โคนมของท่านแต่ละตัวจะสามารถกินอาหารได้วันละเท่าใด เพื่อที่จะทำให้ทราบว่า สารอาหารที่แม่โคได้รับนั้นเพียงพอหรือไม่กับการให้น้ำนมของแม่โค การผลิตน้ำนม ให้ได้มาก ๆ นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่คุณภาพของอาหารมีความสำคัญ ยิ่งกว่าคาดคะเนปริมาณการกินอาหารของโค ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย คือ น้ำหนักตัวของ แม่โคและปริมาณน้ำนมที่แม่โคนั้นผลิตได้ ซึ่งในเรื่องของน้ำหนักตัวของแม่โค เกษตรกรมักจะไม่ทราบเพราะ ไม่มีเครื่องชั่งสัตว์ในฟาร์ม แต่ก็พอจะประมาณได้ เพราะโคลูกผสมขาว-ดำ ในเมืองไทยจะมีน้ำหนักโดย ประมาณนี้เป็นตัวคำนวณปริมาณอาหารต่อไปได้ และเมื่อพิจารณาร่วมกับปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ก็พอจะ ประมาณปริมาณการกินอาหารหยาบ
เกษตรกรอาจสงสัยว่า ทำไมแม่โคนมที่มีน้ำหนักมากจึงกินอาหารได้น้อยกว่าแม่โคที่มี น้ำหนักน้อยกว่า ถ้าให้นมเท่ากันทั้งนี้เพราะว่าตารางที่แสดงนั้น แสดงเป็นค่าของร้อยละของน้ำหนักตัว แม่โค ซึ่งจริงแล้วแม่โคที่มีน้ำหนักมากกว่าจะกินอาหารมากกว่า แม่โคที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ถ้าคิดเป็น จำนวนกิโลกรัมของอาหาร ตัวอย่างเช่น จะคาดคะเนปริมาณกินอาหารของแม่โคที่มีน้ำหนักประมาณ 400 กก. และสามารถให้นมวันละ 18 กิโลกรัม ว่าแม่โคจะกินอาหารได้วันละเท่าใด เมื่อดูจากตารางจะ เห็นว่าแม่โคกินอาหารได้ประมาณ 2.9 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัวเท่ากับ (2.9 x 400)/100 = 11.6 กิโลกรัม คำตอบคือแม่โคจะกินอาหารที่มีน้ำหนักแห้งได้ประมาณวันละ 11.6 กิโลกรัม แต่แม่โคที่มีน้ำหนักตัว 500 กก. และให้นม 18 กก./วันเหมือนกัน จะกินอาหารคิดเป็น นน.แห้งได้ (2.8 x 500)/100 = 13.5 กิโลกรัม เป็นต้น
คุณภาพของอาหารหยาบ
เมื่อทราบถึงปริมาณของอาหารหยาบที่จำเป็นที่แม่โคจะต้องได้รับต่อวัน เพื่อที่จะทำให้ระบบการย่อย อาหารเป็นไปอย่างปกติแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมาก็คือ อาหารหยาบที่ให้แก่แม่โค มีคุณภาพเป็นอย่างไร โคจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้เพราะคุณภาพของอาหารหยาบจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของ อาหารข้นด้วย คือ ถ้าอาหารหยาบที่ให้แก่โคมีคุณภาพต่ำ อาหารข้นที่จะใช้เสริมจำเป็นจะต้องมีคุณค่าอาหาร สูงซึ่งผลการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร ทางกลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์กองอาหารสัตว์ได้จัดทำสรุปไว้แล้ว
คุณภาพของอาหารหยาบ นอกจากจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของอาหารข้นแล้ว ยังเป็นตัวควบคุม ในเรื่องการกินอาหารของแม่โคด้วย เพราะถ้าใช้อาหารหยาบคุณภาพต่ำ อาทิเช่น ฟางข้าว หรือหญ้า ธรรมชาติในช่วงที่ออกดอกแล้ว โคจะย่อยได้น้อย ทำให้การกินอาหารลดลงตามไปด้วย เกษตรกรควรจะ หาวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเพิ่มคุณภาพ และการใช้ประโยชน์ของอาหารหยาบ เช่น การสับฟางเป็นชิ้นเล็ก ๆ การทำฟางปรุงแต่ง หรือการใช้ใบพืชตระกูลถั่ว ที่มีคุณภาพสูงให้กินร่วมกับฟาง เพื่อให้อาหารหยาบนั้นมีความน่ากิน และมีการย่อยได้สูงขึ้น นอกจากนั้นในเรื่องฤดูกาล เช่น ในช่วงที่มี อากาศร้อนก็จะทำให้แม่โคกินอาหารหยาบได้ลดลงเช่นกันทั้งนี้เพราะ ความร้อนที่เกิดจากขบวนการหมัก ของอาหารหยาบในกระเพาะผ้าขี้ริ้วของโคไม่สามารถจะระบายออกนอกร่างกายได้ทัน เนื่องจากอุณหภูมิ ภายในตัวโคมีอาการหอบชอบยืนแช่น้ำและกินอาหารลดลง เกษตรกรอาจจะแก้ไขปัญหานี้โดยพยายามให้ อาหารหยาบแก่โคทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น และพยายามให้อาหารหยาบในช่วงเวลาที่อากาศเย็นลง เช่น กลางคืน หรือจะใช้วิธีอาบน้ำและใช้พัดลมช่วยหรืออาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้อง คำนึงอยู่เสมอว่าจะต้องให้แม่โคได้กินอาหารหยาบแห้งไม่ต่ำกว่า 1.4 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัวแม่โคเสมอ
ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพอาหารหยาบกับอาหารข้นที่จะใช้
คุณภาพของอาหารหยาบและปริมาณการกินอาหารหยาบ จะเป็นตัวกำหนดสารอาหารที่แม่โคจะได้รับ เช่น แม่โคกินอาหารหยาบคุณภาพดีและกินในปริมาณที่มาก ก็จะได้รับสารอาหารมากกว่าแม่โคที่กิน อาหารหยาบที่มีคุณภาพต่ำและกินได้น้อย ดังนั้นจึงทำให้อาหารข้นที่จะใช้เสริมนั้นแตกต่างกัน คือ อาหารข้นจะต้องมีสารอาหารหรือความเข้มข้นแตกต่างกัน มิใช่ให้ในปริมาณที่แตกต่างกัน มิฉะนั้นแล้วจะ มีผลต่อการกินอาหารหยาบตามมา เพราะกระเพาะโคมีขนาดคงที่ ความสัมพันธ์ของอาหารหยาบและ อาหารข้นพอจะสรุปได้ดังนี้คือ
ในความเป็นจริงแล้ว คุณภาพของอาหารข้นนอกจากจะคำนึงถึงโปรตีนในอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึง พลังงาน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างมากในแม่โคที่กำลังให้นม อย่างไรก็ตามคำแนะนำอย่างง่าย ๆ ก็คือถ้าแม่โคของท่านมีความสามารถในการให้นมสูง แต่ท่านจำเป็นต้องให้อาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าวเลี้ยงหรือต้องเดินแทะเล็มในทุ่งหญ้าธรรมชาติเป็นระยะทางไกล ๆ ท่านควรจะเสริมอาหารพลังงาน อาทิเช่น มันเส้น หรือกากน้ำ (Molasses) นอกเหนือจากอาหารหยาบและอาหารข้นที่กล่าวถึงแล้ว แต่ท่าน ก็ไม่ควรจะหวังถึงการให้นมได้สูงสุด คงจะเป็นเพียงช่วยไม่ให้การให้นมของแม่โคลดลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น
ปริมาณอาหารข้นที่ให้แก่แม่โคนม
เมื่อทราบว่าอาหารข้นควรจะมีความเข้มข้นของสารอาหารเท่าใดแล้ว ความจำเป็นต่อมาก็มาพิจาณาถึงว่า จะให้แก่แม่โคกินในปริมาณเท่าไรเนื่องจากแมโคแต่ละตัวมีการให้น้ำนมได้ไม่เท่ากัน และในแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีอาหารหยาบที่มีคุณภาพต่าง ๆ กันด้วย ในที่นี้จึงได้สรุปปริมาณอาหารข้นที่ควรจะให้แก่แม่โคแต่ละตัว ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมที่แม่โคผลิตได้และอาหารหยาบที่ใช้เลี้ยง
กรณีใช้อาหารหยาบคุณภาพดีแก่แม่โคนม ถ้าแม่โคนมสามารถให้นมได้ 14 กก./วัน อาหารข้นที่ให้ควรจะ มีโปรตีนในสูตรอาหาร = 12% และให้ในปริมาณ 5.5 กก./ตัว/วัน แต่ถ้าแม่โคสามารถให้นมได้มากกว่านี้ เช่น ให้นมได้ 18 กก./วัน การใช้อาหารข้นที่มีโปรตีน 12% จะน้อยเกินไปเพราะจะทำให้โคต้องกินอาหารข้น ในปริมาณมาก จึงจะได้รับโภชนะเพียงพอจึงจำเป็นต้องใช้อาหารข้นที่มีอาหารความเข้มข้นของสารอาหาร สูงขึ้น คือมีโปรตีนประมาณ 14% และให้กินในปริมาณ 7.0 กก./ตัว/วัน จึงจะไม่มีผลกระทบต่อการกิน อาหารหยาบ
กรณีการใช้อาหารหยาบคุณภาพปานกลาง ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับอาหารหยาบ คุณภาพด แตกต่างกันที่ว่าระดับโปรตีนในอาหารข้นจะสูงกว่า กล่าวคือ อาหารข้นที่ใช้ร่วมกับอาหารหยาบคุณภาพปานกลาง อาทิเช่น หญ้าสด เปลือกและไหมข้าวโพดฝักอ่อน ควรจะมีโปรตีนในสูตรอาหารข้น ประมาณ 14-16% ส่วน ปริมาณที่ให้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการให้นมของแม่โค ดังในตาราง
กรณีการใช้อาหารหยาบคุณภาพต่ำนั้น อาหารข้นที่จะให้แก่แม่โคมีความจำเป็นที่จะต้องมีความเข้มข้นสูงขึ้น มากกว่า เพื่อที่จะทำให้แม่โคได้รับสารอาหารเพียงพอแก่ความต้องการในการให้น้ำนม อาหารข้นที่ใช้ควรมี ระดับโปรตีน ประมาณ 22% ในกรณีที่แม่โคมีการให้นม 22 กก./วัน ควรจะให้อาหารข้นประมาณ 9.5 กก./ ตัว/วัน แต่ถ้าแม่โคมีการให้นมมากกว่า 22 กก./วัน ขึ้นไปควรจะให้อาหารข้นแก่แม่โคได้อย่างเต็มที่หลังจาก ที่แม่โคได้รับอาหารหยาบเพียงพอตามคำแนะนำในตอนต้น ๆ คือ 1.4% ของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุด ที่แม่โคต้องการ
การผสมสูตรอาหารข้นและการเลือกใช้วัตถุดิบผสมอาหารข้น
เกษตรกรสามารถเลือกใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ได้หลายอย่าง เพื่อนำมาผสมเป็นอาหารข้น แต่สิ่งที่เกษตรกร ควรระวังในการเลือกใช้วัตถุดิบต่าง ๆ คือ อย่าคิดถึงราคาต่อกิโลกรัมเท่านั้น เพราะวัตถุดิบบางชนิดมีราคา ต่อกิโลกรัมต่ำกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบสารอาหารที่มีอยู่ เช่น โปรตีน อาจจะทำให้ราคาต่อสารอาหารนั้นมี ราคาสูงกว่าก็ได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องการเลือกใช้วัตถุมีรายละเอียดอยู่มาก ในที่นี้จึงได้จัดทำสูตรอาหาร ข้นขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ โดยพยายามเลือกใช้วัตถุดิบและราคาจำหน่ายตามที่มีจำหน่ายอยู่ ทั่ว ๆ ไป ในแหล่งที่มีการเลี้ยงโคนม
การทำบันทึกเกี่ยวกับโคนม
เจ้าของสัตว์ควรจะเป็นผู้ที่ทำบันทึกและเก็บไว้เอง โดยอาจเริ่มต้นจากวันที่สัตว์เกิด น้ำหนักและสัดส่วน แรกเกิดวันผสม วันคลอดรวมถึงการสั่งน้ำหนักโคทุกครั้ง เช่น วันหย่านมอายุ 1 ปี หรือเกณฑ์ผสมพันธุ์และ หรือระยะเวลาการให้นม จำนวนวัคซีนหรือการรักษาโรค (ถ้ามี) ด้วย ผู้ที่จะจดบันทึกควรจุทำความเข้าใจ วิธีทำให้ถูกต้อง และทำการลงบันทึกตลอดจนเก็บรักษาไว้ด้วยตนเอง ทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ การชั่ง น้ำหนักโคหรือการชั่งน้ำนมควรใช้เครื่องชั่งที่เที่ยงตรง จดน้ำหนักลงบันทึกไว้ถ้าทำได้ในการเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะถูกระบุหมายเลขภาชนะ หรือชื่อโคให้แน่นอนและจัดส่งไปให้ตรวจสอบเปอร์เซนต์ไขมัน ในห้อง ปฏิบัติการนมต่อมาผลก็จะถูกส่งกลับไปยังเจ้าของโค เมื่อได้รับผลก็ต้องลงบันทึกพร้อมกับคำนวณหา จำนวนนมไขมัน 4% หรืออื่น ๆ ที่ควรจะจดลงในบันทึกต่อไป แต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะตรวจไขมันได้ การจดบันทึกการให้นมแต่ละครั้งของแม่โคเป็นวัน-เดือนอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะการให้นมเก็บไว้ได้ซึ่ง ยังดีกว่าไม่ทำการจดบันทึกอะไรเลย
»
พันธุ์โคนม
»
การเลี้ยงดู
» อาหารและการให้อาหาร
»
การป้องกันโรคและสุขาภิบาล