เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ปศุสัตว์

คุณค่าทางอาหารสัตว์ของหญ้าแฝก

หญ้าแฝกมี 2 ชนิด คือ หญ้าแฝกหอม และหญ้าแฝกดอน สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำสามารถนำหญ้าแฝกมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ เพราะหญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิดนี้ ให้ผลผลิตและคุณค่าทางอาหารสัตว์ใกล้เคียงกัน โดยหญ้าแฝกที่ช่วงอายุการตัดที่ 4 สัปดาห์ เป็นระยะที่ให้ผลผลิต (น้ำหนักแห้ง) เฉลี่ย 950 กก./ไร่ ซึ่งหญ้ามีความอ่อนนุ่ม และมีคุณค่าทางโภชนะสูงเพียงพอสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ คือ มีปริมาณวัตถุแห้งไม่เกิน 40% มีปริมาณโปรตีนมากกว่า 7% การย่อยได้ของวัตถุแห้งสูงกว่า 38% และมีสารพิษ คือ ไนเตรทอยู่ในระดับต่ำเพียง 4 ppm. ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ แต่หญ้าแฝกทั้ง 2 ชนิดนี้ มีปริมาณเยื่อใยสูง มีธาตุแคลเซี่ยม และฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ควรปรับปรุง คุณภาพก่อนนำไปใช้เลี้ยงสัตว์โดยวิธีการหมัก พร้อมทั้งเติมสารช่วยหมักตามสูตรต่าง ๆ ได้แก่ หญ้าแฝก + ยูเรีย 0.5% + กากน้ำตาล 10% หรือ หญ้าแฝก + มันเส้นบด 15% หรือหญ้าแฝก + ยูเรีย 0.5% + กากน้ำตาล 10% นอกจากนี้ ควรเสริมแร่ธาตุให้พอเพียงกับความต้องการของสัตว์ด้วย

ในกรณีที่เกษตรกรต้องการปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ ควรเลือกปลูกหญ้าแฝกหอม สายพันธุ์กำแพงเพชร 2 ที่ช่วงอายุการตัด 4 สัปดาห์ จะได้หญ้าที่ให้ผลผลิต (น้ำหนักแห้ง) เฉลี่ย 960 กก./ไร่ มีปริมาณวัตถุแห้ง ประมาณ 31% โปรตีน ประมาณ 8% และการย่อยได้ของวัตถุแห้ง ประมาณ 43% หรือเลือกปลูกหญ้าแฝกดอน สายพันธุ์ราชบุรี ที่ช่วงอายุการตัด 4 สัปดาห์ จะได้หญ้าที่ให้ผลผลิต (น้ำหนักแห้ง) เฉลี่ย 1,000 กก./ไร่ มีปริมาณวัตถุแห้ง ประมาณ 39% โปรตีน ประมาณ 8% และการย่อยได้ของวัตถุแห้ง ประมาณ 39%

หญ้าแฝก (Vetiver grass) เป็นพืชตระกูลหญ้า อยู่ในสกุล Vetiveria มีหลายชนิด สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย เป็นหญ้าที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาติ สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ และทุกสภาพอากาศ พบมากในทวีปเอเซียตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคจากที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงจนถึงที่ดอน และเทือกเขาสูง ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินร่วนปนทราย ดินเหนียว ดินเค็ม ฯลฯ และสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศ ที่ร้อน แห้งแล้ง จนถึงสภาพอากาศที่เย็นจัด

» ลักษณะทั่วไป
» ผลผลิตน้ำหนักแห้งและคุณค่าทางโภชนะ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย