เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกสตรอเบอรี่
โรค แมลง และศัตรูพืช
สตรอเบอรี่เป็นพืชหนึ่งที่มีโรค แมลง และศัตรูรบกวนมาก
นับตั้งแต่ระยะกล้าไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว
การป้องกันตั้งแต่ระยะแรกจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะโรคของสตรอเบอรี่บางโรคการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจะสามารถทำได้ง่ายกว่าการกำจัดหลังจากที่โรคระบาดทำความเสียหายแล้ว
เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
การป้องกันไม่ให้โรคและแมลงเข้าทำลายส่วนต่างๆของสตรอเบอรี่ทำได้หลายวิธี ได้แก่
การใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค
ใช้ต้นไหลที่แข็งแรงจากต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคและต้านทานโรค
ซึ่งได้จากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การจัดการเขตกรรมที่ดี
มีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี
ก็จะสามารถลดปัญหาการเข้าทำลายของศัตรูสตรอเบอรี่ได้ระดับหนึ่ง
ส่วนการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูสตรอเบอรี่นั้น
เกษตรกรควรใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม
จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค
โรคสตรอเบอรี่ที่สำคัญ
1.โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
จะแสดงอาการใบหงิก ย่น หรือมีอาการใบด่าง ใบผิดรูปร่าง ใบม้วนขึ้น ต้นเตี้ย
แคระแกรน ข้อสั้น ทรงพุ่มมีใบแน่นขนาดใบเล็กกว่าปกติ ต้นพืชอ่อนแอ
ชะงักการเจริญเติบโตและทำให้ผลผลิตลดลง พบว่าแมลงพวกปากดูด ได้แก่ เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยไฟ และไส้เดือนฝอยบางชนิดเป็นพาหะของโรค
โรคนี้เมื่อเกิดแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้
นอกจากการป้องกันโดยคัดเลือกกล้าที่ไม่เป็นโรค
ซึ่งเกิดจากต้นแม่พันธุ์ที่ได้จากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก
ทำการอบดินเพื่อทำลายไส้เดือนฝอยที่เป็นพาหะของโรคไวรัส กำจัดแมลงพวกเพลี้ยไฟ
เพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นพาหะของโรค
เมื่อพบว่ามีต้นที่แสดงอาการผิดปกติดังกล่าวให้ขุดออกไปเผาทำลายทันที
และการบำรุงพืชให้แข็งแรงอยู่เสมอจะช่วยต้านทานเชื้อโรคได้
การป้องกันกำจัดแมลงพาหะของเชื้อไวรัส
- ใช้สารสกัดสะเดา ฉีดพ่นเพื่อขับไล่และยับยั้งการกินอาหาร การเจริญเติบโตของแมลง ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ
- ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง วิธีการนี้สามารถดักจับตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ ผีเสื้อต่างๆที่เป็นตัวแก่ของศัตรูพืช ทำให้ลดปริมาณศัตรูพืชลงได้
สูตรผสมของกาวเหนียว
- น้ำมันละหุ่ง 150 ซีซี.
- ยางสน 100 กรัม
- ขี้ผึ้งคาร์นาว่า 10 - 12 กรัม
วิธีทำ นำน้ำมันละหุ่งมาใส่ภาชนะตั้งไฟให้ร้อน มีไอขึ้นที่ผิวหน้า
แล้วจึงทยอยใส่ผงยางสนและขี้ผึ่งคาร์นาว่าลงไป ใช้ไม้พายคนให้เข้ากันจนละลายหมด
ใช้เวลาประมาณ 5 นาที อย่าใช้ไฟแรงนักเพราะจะทำให้ยางสนไหม้
หลังจากนั้นยกภาขนะลงวางในถังหรือกาละมังที่ใส่น้ำแข็งทุบเป็นก้อนเล็กๆ
เพื่อให้ได้รับความเย็นอย่างรวดเร็ว จากนั้นบรรจุใส่ภาขนะปิดฝาให้แน่นเก็บไว้ใช้งาน
วิธีใช้ ใช้ภาชนะที่ใช้แล้ว เช่น
กระป๋องน้ำมันเครื่องหรือแผ่นพลาสติกสีเหลือง
(สีเหลืองจะช่วยดึงดูดแมลงตัวเต็มวัยให้บินเข้ามาติดกับดักและตาย)
หุ้มด้วยพลาสติกใส เพื่อสะดวกในการเปลี่ยนกาวเมื่อกาวแห้งหรือปริมาณของแมลงหนาแน่น
ทากาวเหนียวด้วยแปรงทาสีให้รอบ แล้วใช้แผ่นเหล็กหนาครึ่งหุนขนาด 1*3 นิ้ว
ปาดกาวให้กาวติดบางที่สุด ไม่ให้ไหลเยิ้มเพื่อเป็นการประหยัดกาวที่ใช้
กาววางกับดักกาวเหนียวสีเหลือง ควรวางให้อยู่ระดับสูงเหนือยอดต้นสตรอเบอรี่ประมาณ 1
ฟุต ในฤดูหนาวซึ่งมีการระบาดของแมลงน้อย อาจวางกับดัก 15 - 20 กับดัก/ไร่
แต่ในฤดูร้อนและฤดูฝน ซึ่งจะมีการระบาดของแมลงศัตรูพืชควรวางกับดัก 60 -80
กับดัก/ไร่
2. โรคแอนแทรคโนส (โรคกอเน่า)
เกิดจากเชื้อราคอลเล็คโตตริคัม จะแสดงอาการเริ่มจากแผลเล็กๆสีม่วงแดงบนไหล
แล้วลุกลามไปตลอดความยาวของสายไหล แผลที่ขยายยาวมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
รอบนอกของแผลเป็นสีเหลืองอมชมพูซีด
แผลที่แห้งเป็นสีน้ำตาลทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล ต้นไหลอาจจะยังไม่ตาย
แต่เมื่อย้ายต้นไหลที่มีการติดเชื้อลงมาปลูกบริเวณพื้นราบ
หากสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเขื้อ(อากาศร้อนชื้น)
สตรอเบอรี่จะแสดงอาการใบเฉาและต่อมาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว
พบว่าเนื้อเยื่อส่วนกอด้านในมีลักษณะเน่าแห้ง มีสีน้ำตาลแดง
หรือบางส่วนเป็นแผลขีดสีน้ำตาลแดง และต้นจะตายในที่สุด
โรคนี้สามารถเกิดที่ผลสตรอเบอรี่ได้ด้วย พบอาการเป็นแผลลักษณะวงรี สีน้ำตาลเข้ม
แผลบุ๋มลึกลงไปในผิวผล เมื่ออากาศชื้นสามารถมองเห็นหยดสีส้ม
ซึ่งเป็นกลุ่มของสปอร์ขยายพันธุ์ของเชื่อราอยู่ในบริเวณแผล
การป้องกันกำจัด ในฤดูกาลผลิตผลสตรอเบอรี่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน
ควรวางแผนจัดการในการผลิตต้นไหลให้ปราศจากเชื้อโรคทั้งที่เป็นอาการแบบต่างๆของโรคแอนแทรคโนสที่ปรากฎให้เห็น
ได้แก่ อาการโรคใบจุดดำ ขอบใบไหม้ แผลบนก้านใบ
และแผลบนสายไหลตลอดจนต้นไหลที่มีการติดเชื้อแบบแฝง โดยที่ต้นไหลยังแสดงอาการปกติ
แต่จะตายเมื่อมรการย้ายลงมาปลูกบริเวณพื้นที่ราบ
ในสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ
นอกจากนี้ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ในช่วงที่ต้นสตรอเบอรี่กำลังตั้งตัว
และควรพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราคอลเล็คโตรตริคัมเป็นระยะๆจนสภาพอากาศหนาวเย็นลง
ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเกิดเชื้อ
3.โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรารามูลาเรีย โรคนี้จะปรากฎกับต้นแม่และต้นกล้า
พบอาการระบาดรุนแรงในแปลงที่ปลูกกันมานาน การควบคุมโรคไม่ดีพอ แปลงที่มีวัชพืชมาก
อาการเริ่มแรกจะเห็นแผลขนาดเล็กสีม่วงแก่บนใบ ต่อมาแผลขยายขนาด รอบแผลสีม่วงแดง
กลางแผลสีน้ำตาลอ่อนถึงขาวหรือเทา แผลค่อนข้างกลมคล้ายตานก
สีอาจเปลี่ยนไปบ้างแล้วแต่ความรุนแรงของโรคและการตอบสนองของพืช
อาการอาจปรากฎบนก้านใบ หรือบางครั้งพบอาการที่ผลด้วย
การป้องกันกำจัด ถ้าพบอาการของโรคที่ใบให้เด็ดใบที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย
อย่าทิ้งไว้บริเวณแปลงปลูกเพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมของโรคต่อไป
บำรุงพืชให้แข็งแรงในระยะปลูกเพื่อผลิตไหล อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรก
เพราะวัชพืชเป็นแหล่งอาศัยของโรค ควรดูแลความสะอาดของแปลงอยู่เสมอ
โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน
4. โรคเหี่ยว
เป็นผลมาจากอาการรากเน่าโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า จะพบการตายของราก โดยเริ่มจากปลายรากแล้วลุกลามต่อไปรากแขนงจะเน่าบริเวณท่อน้ำท่ออาหารเป็นสีแดง อาการเน่าสามารถลามขึ้นไปจนถึงโคนต้น ถ้าหากอาการไม่รุนแรงพืชจะแสดงอาการเพียงแคระแกรน แต่ถ้าอาการรุนแรงจะเหี่ยวทั้งต้น ใบเป็นสีเหลืองจนถึงสีแดง และทำให้พืชตายได้ภายใน 2 - 3วัน เมื่อถอนต้นดูพบว่าก้านใบจะหลุดออกจากกอได้ง่าย ท่อลำเลียงภายในรากถูกทำลายจนเน่าทั้งหมด
» โรค แมลง และศัตรูพืช
»
การป้องกันกำจัด การควบคุมโรคที่เกิดกับราก
»
การใช้สารเคมีควบคุมโรคสตรอเบอรี่
»
ศัตรูสตรอเบอรี่ที่สำคัญ
»
การติดดอกออกผลและการเก็บเกี่ยว
»
การบรรจุและการขนส่งผลผลิต
»
บทบาทและความสำคัญของสตรอเบอรี่