เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกสตรอเบอรี่

ศัตรูสตรอเบอรี่ที่สำคัญ

1. ไรสองจุด

เป็นศัตรูที่สำคัญของการผลิตผลสตรอเบอรี่ ไรจะดูดน้ำเลี้ยงจากใบสตรอเบอรี่โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ ทำให้ผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายมีลักษณะกร้าน ใต้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวใบด้านบนจะเห็นเป็นจุดด่างขาวเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อการทำลายรุนแรงขึ้น จุดด่างขาวเล็กๆเหล่านี้จะค่อยๆแผ่ขยายติดต่อกันไปเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบมีลักษณะเหลืองซีด ใบร่วง เป็นผลทำให้สตรอเบอรี่ชงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน ให้ผลผลิตน้อยลง พบระบาดมากในสภาพอากาศแห้งความชื้นต่ำ

ความสูญเสียระดับเเศรษฐกิจเนื่องจากการทำลายของไรสองจุดบนใบสตรอเบอรี่ในหน้าหนาว คือ 20 -25 ตัว/ใบ แต่ในหน้าร้อนจะอยู่ที่ 50 ตัว/ใบ การป้องกันให้ใช้สารฆ่า"รโปรปาไจท์ ฉีดพ่นในช่วงที่ไม่มีแสงแดดจัด และควรสลับชนิดของสารฆ่าไรเพื่อป้องกันการดื้อยา ไม่ควรใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบครอบจักรวาล ให้เลือกใช้สารที่จำเพาะเจาะจงและเป็นสารที่มีพิษย้อยต่อตัวห้ำตัวเบียน ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไรสองจุด ที่พบในแปลงสตรอเบอรี่ ได้แก่ ไรตัวห้ำ ซึ่งมีรายงานค้นพบว่ามีประสิทธิภาพสามารถควบคุมไรสองจุดได้ดี

นอกจากนั้น การให้น้ำแบบใช้สปริงเกอร์จะช่วยลดประชากรไรได้ เพราะจะเป็นการชะล้างไรให้หลุดจากใบพืช ชะล้างฝุ่นละอองที่ไรชอบหลบอาศัยอยู่ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ชุ่มชื้น เหมาะกับการอยู่อาศัยของศัตรูธรรมชาติของไร หมั่นทำความสะอาดแปลง ไม่ให้มีวัชพืชขึ้นในแปลงปลูก และไม่ควรปลูกพืชผักโดยเฉพาะ เช่น กระเทียม ขึ้นฉ่าย แซมในแถวปลูกสตรอเบอรี่ เพราะเป็นการเพิ่มพืชอาศัยให้ไรสองจุด

2. หนอนด้วงขาว

เป็นหนอนของด้วงปีกแข็ง ตัวสีขาว ปากมีลักษณะปากกัด สีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตจากไข่ที่อยู่ใต้ดิน จะเริ่มกัดกินรากสตรอเบอรี่ในช่วงปลายฤดูฝน ทำให้รากไม่สามารถดูดน้ำได้ เมื่อใบคายน้ำจึงทำให้ใบเหี่ยว รูใบปิด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ใบ การสังเคราะห์แสงจะลดลง ทำให้ต้นสตรอเบอรี่อ่อนแอ ชงักการเจริญเติบโต เมื่อพบอาการดังกล่าวให้ขุดหาหนอนแล้วทำลาย ในการเตรียมแปลงให้ย่อยดินให้ละเอียด โดยเฉพาะพื้นที่เปิดใหม่ใกล้ป่าหรือใกล้กองปุ๋ยหมัก ใช้สารเคมีประเภทคลอร์ไพริฟอสราดบริเวณที่พบ สารเคมีดังกล่าวเป็นสารเคมีกำจัดแมลงประเภทสัมผัสและกินตาย มีพิษตกค้าง 20 - 25 วันในดิน

3. เพลี้ยอ่อน

เป็นแมลงปากดูด จะดูดน้ำเลี้ยงของใบ ก้านใบ ด้านท้ายลำตัวเพลี้ยอ่อนมีท่อยื่นออกมา 2 ท่อ ใช้ปล่อยสารน้ำหวานเป็นอาหารของเชื้อรา ทำให้พืชสกปรกเกิดราดำ พืชสังเคราะแสงได้ลดลง ทำให้ชงักการเจริญเติบโต ใบหงิกย่น เพลี้ยอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตามส่วนยอดช่อดอกและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

นอกจากศัตรูดังกล่าวแล้ว บางพื้นที่ยังพบว่าทากและหนูเป็นศัตรูสำคัญที่เข้าทำลายผลสตรอเบอรี่ได้

» โรค แมลง และศัตรูพืช
» การป้องกันกำจัด การควบคุมโรคที่เกิดกับราก
» การใช้สารเคมีควบคุมโรคสตรอเบอรี่
» ศัตรูสตรอเบอรี่ที่สำคัญ
» การติดดอกออกผลและการเก็บเกี่ยว
» การบรรจุและการขนส่งผลผลิต
» บทบาทและความสำคัญของสตรอเบอรี่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย