เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

เพลี้ยจั๊กจั่นช่อมะม่วง

กรมส่งเสริมการเกษตร

ลำตัวมีสีเทาปนดำหรือน้ำตาลปนเทา หัวโตและป้านลำตัวเรียวแหลมมาทางด้านท้าย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-6.5 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยบินได้ ตัวอ่อนไม่มีปีกแต่เคลื่อนที่ได้รวดเร็วและว่องไว ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ตามแนวแกนใบอ่อนหรือก้านช่อดอก เห็นเป็นแผลเล็กๆ คล้ายมีดกรีด มียางสีขาวไหลหยดเห็นได้ชัดเจน อายุไข่ 7-10 วัน อายุตัวอ่อน 17-19 วัน

การทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และผลอ่อน ทำให้ใบอ่อนและใบเพสลาดที่ถูกทำลายหงิกงอโค้งลง ขอบใบแห้ง


เพลี้ยจั๊กจั่นช่อมะม่วง มักเกิดการระบาดเป็นประจำในช่วงออกดอกและผลอ่อนประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ทำให้ดอกและผลอ่อนแห้งและร่วง บางครั้งไม่ติดผลเลย
นอกจากนี้ ขณะที่เพลี้ยจั๊กจั่นช่อมะม่วงดูดน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลออกมาเป็นน้ำเหนียวคล้ายน้ำหวานที่เรียกกันว่า น้ำค้างน้ำผึ้ง (honey dew) ออกมาติดตามใบ ช่อดอกและตามพื้นบริเวณทรงพุ่ม ทำให้เห็นเป็นมันเยิ้ม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดราดำตามใบ ช่อดอกและผลทำให้ดอกและผลร่วงอีกด้วย ถ้าเป็นในระยะผลโตจะทำให้ผลสกปรกไม่ได้ราคา

การป้องกันกำจัด

  1. ใช้น้ำฉีดพ่นในช่วงเช้าเพื่อชะล้าง มูลน้ำหวานที่เกิดจากเพลี้ยจั๊กจั่น เพื่อป้องกันการเกิดราดำ
  2. เมื่อพบปริมาณเพลี้ยจั๊กจั่นเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อช่อ ให้ใช้สารเคมีคาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ถ้าระบาดรุนแรงให้ใช้เปอร์เมทรินหรือไซฮาโลทริน อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก (ไม่ควรพ่นสารเคมีขณะที่ดอกบาน)
  3. ตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดแหล่ง หลบซ่อนของเพลี้ยจั๊กจั่น

เรียบเรียง : เรณู ดอกไม้หอม กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
จัดทำ : อัญชลี พัดมีเทศ กองเกษตรสัมพันธ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย