เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ไม้ผล ไม้ยืนต้น

การปลูกไผ่ตง

กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร

การทำหน่อไม้ไผ่ตงหมก

หน่อไม้หมกหรือตงหมกหรือตงหวานเป็นหน่อไม้ที่ตลาดต้องการมากราคาสูงกว่าหน่อไม้ไผ่ตงธรรมดา เนื่องจากรสชาติและคุณภาพของหน่อจะดีกว่า ลักษณะของหน่อไม้หมกจะเป็นหน่อที่อวบ เนื้อขาว อ่อนนิ่มและหวานกรอบ สามารถสังเกตความแตกต่างได้ คือ สีของหน่อจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนหน่อไม้ธรรมดาหรือหน่อที่ไม่ได้หมกนั้นสีจะออกสีน้ำตาลดำ มีนวล

ฤดูที่เหมาะในการทำตงหมกคือช่วงต้นฝนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่หน่อไม้เริ่มแทงหน่อ พันธุ์ที่นิยมทำตงหมก คือ ตงจีนหรือตงดำ แต่ปัจจุบันพวกที่ปลูกตงเขียวก็เริ่มหันมาทำตงหมกมากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพของหน่อตงเขียว ให้ดีขึ้นให้ทัดเทียมกับตงดำด้วย

การทำหน่อไม้หมก คือการป้องกันไม่ให้หน่อไม้ถูกแสงแดดซึ่งมีวิธีทำได้หลายวิธีคือ

  1. การใช้ขี้เถ้าแกลบ ในฤดูฝนเวลาที่หน่อไผ่ตงโผล่พ้นผิวดินได้ประมาณ 2-3 นิ้ว (ประมาณครึ่งฝ่ามือ) ให้เอาปี๊บก้นทะลุหรือเข่งก้นทะลุใบเล็ก ๆ มาครอบหน่อแล้วเอาขี้เถ้าแกลบ ใส่ให้เต็มพอหน่อไผ่ตงโตสูงพ้น ปี๊บขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว ก็เอาปี๊บและขี้เถ้าแกลบออกแล้วตัดหน่อได้

    การหมกด้วยวิธีนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น ตัดหน่อได้ง่าย หน่อไม่สกปรกและยังเชื่อว่าทำให้หน่อหวานขึ้น เนื่องจากขี้เถ้าแกลบมีธาตุอาหารโปแตสเซียมอยู่ด้วย แต่ถ้าต้องทำจำนวนมาก ๆ ก็มีปัญหา เช่นกัน เพราะจะต้องมีปี๊บ และขี้เถ้าแกลบ จำนวนมาก จนบางแห่งไม่สามารถทำวิธีนี้ได้
  2. การใช้ดินพอก ถ้าหาปี๊บและขี้เถ้าแกลบไม่ได้ก็สามารถใช้ดินบริเวณรอบ ๆ กอไผ่ นำมาพอกปิดหน่อให้สูงประมาณ 1 ศอก พอหน่อพ้นดินที่พอกได้ประมาณ 1 นิ้ว ก็ทำการตัดหน่อได้

ในการทำหน่อไม้ไผ่ตงหมกหรือหน่อไม้หวานโดยวิธีใช้ดินพอกนี้ มีข้อคำนึงคือจะทำให้เราไม่สามารถเลี้ยงลำแม่ที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดได้ เนื่องจากเราขุดหน่อไปขายจนลืมนึกถึงการเลี้ยงลำแม่หรือบางทีนึกถึงได้แต่ไม่ทราบตำแหน่งของหน่อที่ควรจะเป็นลำแม่เพราะถูกดินกลบไว้ ฉะนั้นลำที่ปล่อยให้เป็นลำแม่อาจเป็นลำที่ไม่ดีพอ รวมทั้งการกำหนดระยะห่าง (หรือการเดินกอ) ก็ทำได้ยากและเมื่อมีการพูนดินขึ้นทุกปีแล้ว ไม่มีการเอาดินที่พูนออก หรือเอาออกไม่หมด จะทำให้กอไผ่ลอยเป็นผลให้กอไผ่ทรุดโทรมได้เร็วและออกหน่อน้อยในปีต่อไป การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจทำได้ดังนี้คือ

  • ทำการหมกปีเว้นปี หรือหมกสองปีแล้วปล่อยตามปกติ 1 ปี หรือไม่ก็แบ่งพื้นที่หมกเป็นแปลง ๆ แยกกัน ทั้งนี้เพื่อให้ไผ่ตงที่ผ่านการหมกมีลำแม่ที่สมบูรณ์เต็มที่ผลผลิตจะได้ไม่ลดลงในปีต่อไป
  • มีการหมกกอเว้นกอ เพื่อที่จะเลี้ยงลำแม่ที่สมบูรณ์ได้
  • หมกเพียงครึ่งกอ (สลับซ้าย-ขวา)
  • ต้องเอาดินที่พูนโคนออกทุกปี หลังตัดหน่อแล้ว

» พันธุ์ไผ่ตงพันธุ์
» การขยายพันธุ์
» การเตรียมพื้นที่และการปลูก
» การปลูกพืชแซม
» การจัดสวนไผ่ตง
» แมลงศัตรูของไผ่ตง
» การตัดแต่งกอ
» การทำหน่อไม้ไผ่ตงหมก
» การตัดหน่อไม้ไผ่ตง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย