เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ข้อมูลการเกษตร

ข้าวและธัญพืช

ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี

เรียบเรียง : เอกสงวน ชูวิสิฐกุล

ข้าวเจ้าหอมพันธุ์สุพรรณบุรี ได้มาจากการผสมพันธุ์แบบสามทางระหว่าง ข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ของคู่ผสม SPR84177-8-2-2-2-1 และ SPR85091-13-1-1-4 (แม่) กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (พ่อ) ที่สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2532

  • พ.ศ. 2533-2536 ปลูกและคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ถึงชั่วที่ 8 จนได้สายพันธุ์ SPR89111-17-2-2-2-2
  • พ.ศ. 2537-2540 ปลูกศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี
  • พ.ศ. 2539 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี บางเขน และคลองหลวง ร่วมกับการทำแปลงสาธิตในนาเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และอ่างทอง

วันที่ 27 ตุลาคม 2540 กรมวิชาการเกษตร พิจารณาให้เป็นพันธุ์แนะนำ โดยให้ชื่อว่า ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี

ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี นอกจากจะเป็นข้าวหอมที่มีลักษณะรูปร่างเมล็ดและคุณภาพในการหุงต้มและรับประทานคล้ายข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้ว ยังมีลักษณะต้นเตี้ย ปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและนาปรัง อีกทั้งยังค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว จึงเหมาะสำหรับแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวหอมให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ลักษณะประจำพันธุ์

  • เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุนับจากวันตกกล้าถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 120 วัน
  • ให้ผลผลิตเฉลี่ย 582 กก./ไร่ ในฤดูนาปรัง และ 673 กก./ไร่ ในฤดูนาปี (ปลูกแบบหว่านน้ำตมในนาเกษตร)
  • ต้นสูงประมาณ 126 ซม. ทรงกอตั้ง ฟางแข็ง ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง รวงยาวและคอรวงยาว
  • เมล็ดข้าวเปลือกยาวเรียว สีฟาง ยาว 10.8 กว้าง 2.4 และหนา 2.0 มม. เมล็ดข้าวกล้องยาว 7.7 กว้าง 2.1 และหนา 1.8 มม.
  • มีคุณภาพในการสีดี เมล็ดข้าวสารใสเป็นท้องไข่น้อย ทำข้าวได้ 100%ได้
  • เป็นข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำ เมื่อเป็นข้าวสุกมีลักษณะนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม

ลักษณะดีเด่น

  • มีลักษณะเมล็ดและคุณภาพในการหุงต้ม และรับประทานคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
  • เป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ย ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งฤดูนาปี และนาปรัง
  • ค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว
  • ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนดี

ข้อควรระวัง

  • ค่อนข้างไม่ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  • ไม่ควรปลูกในพื้นที่ติดต่อกันเป็นบริเวณกว้าง และซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน ควรสลับด้วยพันธุ์อื่นซึ่งต้านทานต่อโรคและแมลงดี โดยเฉพาะพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อป้องกันการระบาดทำลายจากศัตรูดังกล่าว

แนะนำให้ที่ปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

จัดทำ : ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร
ที่มา : เอกสารข้อมูลเสนอคณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย