เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
กระเจี๊ยบเขียว
กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร
แมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียว
หนอนกระทู้หอม (หนอนหลอดหอม หนอนหอม หนอนหนังเหนียว)
Beet Armyworm
Spodoptera exigua
ลักษณะ เป็นแมลงจำพวกผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มสีขาว
หนอนโตเต็มที่มีขนาด 3 เซนติเมตร สีของหนอนมีแตกต่างกันได้ เช่น สีเขียวอ่อนเทา
น้ำตาล น้ำตาลดำ เป็นต้น ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือ หนอนมีลำตัวอ้วนผนังลำตัวเรียบ
มีแนวสีขาวพาดไปตามความยาวด้านข้างของลำตัวเมื่อโตเต็มที่จะเคลื่อนย้ายมาบริเวณโคนต้น
เพื่อเข้าดักแด้ในดิน
การระบาด พบระบาดรุนแรงในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน
ในแหล่งปลูกผักทั่วไปในเขตภาคกลาง หนอนกระทู้หอม มีพืชอาหารมากมาย
นอกจากทำลายกระเจี๊ยบเขียวแล้วยังพบระบาดในพืชหลายชนิด เช่น พืชตระกูลกะหล่ำ
หน่อไม้ฝรั่ง หอม มันเทศ องุ่น และไม้ดอกต่าง ๆ
การระบาดมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หากเกษตรกรปล่อยปละละเลย
เนื่องจากมีพืชอาหารตลอดปี
การทำลาย กัดกินทุกส่วนของพืช เช่น กิ่ง ก้าน ใบ และฝัก ทำให้ฝักเป็นรูไม่ได้คุณภาพ
การป้องกันกำจัด หนอนชนิดนี้ได้พัฒนาต้านทานต่อสารฆ่าแมลงมากมายหลายชนิด
การป้องกันกำจัด ในพืชผักส่งออกที่ต้องเก็บเกี่ยวทุกวันการใช้สารฆ่าแมลง
จะต้องคำนึงถึงพิษตกค้างของสารฆ่าแมลงในผลผลิตให้มาก ซึ่งแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
- วิธีกล วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด หากมีแรงงานเพียงพอนั่นคือเมื่อพบกลุ่มไข่หรือหนอนกระทู้หอมในแปลงปลูก ให้เก็บทำลายเสียทันที วิธีนี้ช่วยลดการระบาดได้มาก
- ชีววิธี โดยการใช้เชื้อจุลินทรีย์ ไวรัส (เอ็น พี วี) ของหนอนกระทู้หอม ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบในอัตราตามฉลาก ฉีดพ่นทุก 5 วัน/ครั้ง ในช่วงเวลาเย็น เมื่อมีการระบาด
- การใช้สารฆ่าแมลงโดยการฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรีย (Bacillus thuringiensis) เช่น เดลฟิน ดับบลิวจี อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือเซนทารี ดับบลิวดีจี อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมกับสารจับใบ ฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น 5 วัน/ครั้ง จนกว่าการระบาดจะลดลง
เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย
Cotton leafhopper
Amarasca biguttula Ishida
ลักษณะ ตัวอ่อนมีสีเขียวอมเหลืองจาง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร
ส่วนตัวเต็มวัย มีสีเขียวจาง ปีกโปร่งใส ขนาดลำตัวยาว 2.5 มิลลิเมตร
บินเร็วมากเมื่อถูกรบกวน
การระบาด พบตามแหล่งปลูกทั่ว ๆ ไประบาดระหว่างฝนตกทิ้งช่วง นาน ๆ
ช่วงที่พบระบาดจั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม
การทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกระเจี๊ยบเขียวและจะพบจำนวนเพลี้ยจั๊กจั่นมากจากใบที่ไม่อ่อนและแก่เกินไป
ผลจากการทำลายจะทำให้ขอบใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จนกระทั่งแดงและงอ
ใบจะเหี่ยวแห้งและร่วงในที่สุด ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตลดต่ำลงมาก
การป้องกันกำจัด
เมื่อพบจำนวนตัวอ่อนเพลี้ยจั๊กจั่นฝ้ายมากกว่า 1 ตัว/ใบ ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่
- พ่นสารฆ่าแมลง เมทามิโดฟอส (methamidophos) เช่น ทามารอน 600 เอสแอล อัตรา
40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือไดเมทโธเอท (Dimethoate) เช่น โฟลิแมท 800 เอสแอล
ควรพ่นในช่วงกระเจี๊บยเขียวยังเล็ก หรือช่วงที่ไม่ติดฝัก
หรือในช่วงอายุกระเจี๊ยบเขียวไม่เกิน 45 วัน
- กรณีที่กระเจี๊ยบเขียวติดฝักแล้ว ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงพวกสารไพรีทรอยด์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไซฮาโลทริน (cyhalothrin) เช่น คาราเต้ 2.5% อีซี อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัลฟ่า ไซเปอร์เมทริน (alpha cypermethrin) เช่น คอนคอร์ด 10% อีซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือเฟนโพรพาทริน (fenpropathrin) เช่น แดนนิตอล 10% อีซี อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5 วันครั้ง
หนอนกระทู้ผัก
Cotton Leaf Worm
Spodoptera litura E.
การระบาด มักพบทำลายกระเจี๊ยบเขียวเสมอ ๆ ไม่จำกัดฤดูกาลการทำลาย
แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มใหญ่ นับร้อยฟอง
คลุมด้วยขนสีฟางข้าวบริเวณใบพืชหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ
จะอยู่กันเป็นกลุ่มแทะกินผิวใบ
ลักษณะ ลักษณะหนอนจะมีลำตัวอ้วนผิวหนังเรียบ ลายสีดำจะสังเกตเห็นแถบดำที่คอชัดเจน
ตัวโตเต็มที่ประมาณ 3-4 ซม. เคลื่อนไหวช้า
การทำลาย ความเสียหายมักพบในระยะหนอนโต
โดยทำลายดอกและฝักทำให้เกิดเป็นรอยเจาะเสียคุณภาพ
การป้องกันกำจัด
- หนอนกระทู้ผักสามารถป้องกันจำกัดได้ไม่ยาก
เมื่อพบกลุ่มไข่หรือหนอนที่ฟักออกจากไข่ควรเก็บทำลาย
หากปล่อยให้หนอนโตจนหนอนจะแยกย้ายหลบซ่อนตัว กัดกินเจาะเป็นรูสึก ในใบ ดอก
และฝัก
- กรณีที่มีการระบาดรุนแรง ควรพ่นด้วยสารเมทโธมิล (methomyl) เช่น แลนเนท 18% แอลซี อัตรา 40-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือสาร ไพรีทรอยด์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไซฮาโลทริน (cyhalothrin) คาราเต้ 2.5% อีซี อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ช่วงพ่น 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง
หนอนเจาะสมอฝ้าย
Cotton bollworm
Heliothis armigera Hubner
ลักษณะ เป็นแมลงจำพวกผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง วางไข่ฟองเดี่ยวตามบริเวณสวนของพืช
เช่น ใบ ดอกตูม และฝัก ไข่มีสีขาวนวล ลักษณะกลมคล้ายฝาชี หนอนโตเต็มที่ ขนาด 4 ซม.
มีสีสรร แตกต่างกัน ผิวลำตัวมีเส้นขนเล็ก ๆ ทั่วไปตรงรอยต่อระหว่างปล้อง
การระบาด ระบาดรุนแรงในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ในแหล่งปลูกกระเจี๊ยบเขียวทั่วไป
เนื่องจากมีพืชอาหารมากมาย เช่น ฝ้าย ยาสูบ ข้าวโพด ส้ม เป็นต้น การทำลาย
จะกัดกินส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก และฝัก ทำให้ฝักเป็นรูไม่ได้คุณภาพ
การป้องกันกำจัด
- เก็บหนอนและกลุ่มไข่ที่พบในแปลงปลูก
- ใช้เชื้อไวรัสของหนอนเจาะสมอฝ้าย อัตรา 30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร 4 วันติดต่อกัน 4-5 วัน/ครั้ง หากพบระบาดรุนแรง
- ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งได้แก่ เมทโธมิล (methomyl) เช่น แลนเนท 18% แอลซี อัตรา 40-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือกลุ่มไพรีทรอยด์ พวกไซฮาโลทริน (cyhalothrin) เช่น คาราเต้ 5% อีซี อัตรา 10-20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือสารระงับการลอกคราบได้แก่ คลอฟลูอะซูลอน (chlorfluazuron) เช่น อทาบรอน 5% อีซี อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 4 วันติดต่อกัน 4-5 ครั้ง หากระบาดรุนแรง
เพลี้ยไฟ
Thrips palmi karny
การระบาด พบระบาดทั่วไปตามแหล่งปลูก ส่วนมากระบาดในสภาพอากาศแห้งแล้ง
ลักษณะ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก
ตัวเต็มวัยมีขนาดไม่เกิน 1.5 ซม. สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
การทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
จะทำลายพืชโดยใช้ปากเขี่ยดูดน้ำเลี้ยงที่ฝักทำให้กระเจี๊ยบเขียวมีตำหนิ
และเป็นปุ่มปม เสียคุณภาพ
การป้องกันกำจัด ถ้ามีการระบาดรุนแรงควรใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ คือ
คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) พอสซ์ 20% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 50 ลิตร หรือ
เมทธิโอคาร์บ (methiocarb) เช่น เมซูโรล 50 % ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
ทำการฉีดพ่นสารฆ่าแมลงทุก 5 วัน/ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง และควรพ่นในช่วงเช้า
เพราะเพลี้ยไฟมีช่วงการบิน เวลา 8.00-13.00 น.
ยังมีแมลงศัตรูอีกหลายชนิดที่พบทำลายกระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ เพลี้ยอ่อน, เพลี้ยแป้ง,
หนอนคืบ เป็นต้น ซึ่งการทำลายยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในขณะนี้
จึงยังไม่กล่าวถึงรายละเอียด ในที่นี้จากที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น
ถึงแม้ว่าการปลูกกระเจี้ยบเขียวในการส่งออกในปัจจุบันจะประสบกับปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมากมายหลายชนิด
หากผู้ปลูกได้รู้จักชนิดของแมลงศัตรูพืชสำคัญตลอดจนถึงวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง
และมั่นสำรวจแมลงศัตรูในแปลง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอก็จะช่วยลดปริมาณการระบาดลงได้
»
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
»
พันธุ์และแหล่งพันธุ์
»
ฤดูปลูก
»
การเตรียมแปลงปลูกและการปลูก
»
อายุการเก็บเกี่ยว
» แมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียว
»
โรคกระเจี๊ยบเขียว
»
วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
»
การขนส่ง
»
การเก็บเมล็ดพันธุ์
»
ลักษณะคุณภาพของกระเจี๊ยบเขียวที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
»
ข้อควรคำนึงก่อนปลูก