เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกขมิ้นชัน
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกขมิ้นชันเมื่อช่วงต้นฤดูฝนจนย่างเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณปลายเดือนธันวาคม ลำต้นเหนือดินเริ่มแสดงอาการเหี่ยวแห้งจนกระทั่งแห้งสนิทจึงเริ่มทำการเก็บเกี่ยว
ในการเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นควรใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่นรถแทรคเตอร์ติดผานไถอันเดียว และคนงานเดินตามเก็บหัวขมิ้นชันจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้งในสภาพดินเหนียวดินจะแข็ง ทำให้เก็บเกี่ยวยากอาจให้น้ำพอดินชื้น ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์แล้วจึงเก็บเกี่ยวขมิ้น ในกรณีที่ใช้แรงงานคนขุดหัวขมิ้นในดินที่ไม่แข็งเกินไป มักจะขุดได้เฉลี่ยประมาณ 116 กก./วัน/คน
เมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาตัดแต่งราก ทำความสะอาดดินออกในกรณีที่ต้อกงารขมิ้นสดอาจจะขายส่วนที่เป็นแง่ง ส่วนหัวแม่ควรเก็บไว้เป็นพันธุ์ปลูกในฤดูกาลต่อไป ถ้าเตรียมขมิ้นแห้งเพื่อนำไปใช้ทำยารักษาโรคนั้น ต้องเป็นขมิ้นชันที่แก่เต็มที่ และต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีปริมาณสารสำคัญ (เคอร์คูมิน) ไม่น้อยกว่า 8.64 เปอร์เซ็นต์
วิธีการต้องนำหัวขมิ้นชันล้างด้วยน้ำให้สะอาด ตัดแต่งรากออกให้หมด แล้วฝานเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปตากแดดในตู้อบแสงอาทิตย์ ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ และเมื่อแห้งสนิทแล้วบรรจุถุงปิดให้สนิท
ขมิ้นสด 5 กิโลกรัมจะได้ขมิ้นแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม นอกจากการเตรียมสำหรับทำยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถเตรียมขมิ้นชันเพื่อใช้ในการแต่งสี และแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด โดยการต้มแง่งขมิ้นในน้ำเดือดเป็นเวลา 30 นาที จะมีปริมาณเคอร์คูมิน 5.48 เปอร์เซ็นต์ แล้วหั่นก่อนอบแห้ง ในการต้มขมิ้นชันกับน้ำเดือดจะทำให้ประหยัดเวลาในการทำแห้งมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการฝานสดแล้วตากแห้งกับแสงแดดและขมิ้นที่ได้ต้องนำไปบดเป็นผงต่อไป
จากการปลูกขมิ้นชันจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 8-9 เดือน เป็นพืชที่ไม่ยากต่อการปฏิบัติดูแลรักษา แต่สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรควรปฏิบัติไม่ควรปลูกซ้ำแปลงเดิมติดต่อกัน ควรหมุนเวียนสลับกับพืชอื่นจะช่วยลดความเสียหายจากโรคและแมลงศัตรูพืช และควรปรับใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการกำจัดวัชพืชและการเก็บเกี่ยวขมิ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสียหายจากโรคและแมลงศัตรูพืชและควรปรับใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ในการกำจัดวัชพืชและการเก็บเกี่ยวขมิ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต
เกษตรกรสนใจพันธุ์ขมิ้นโปรดติดต่อสถานีวิจัยปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 โทรศัพท์ (044) 311796 หรือโทรสาร (044) 313797 ในระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมทุกปี
- โครงการวิจัย KIP 18.36
การวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ
โครงการย่อยที่ 2.1.1 - การศึกษาการเจริญเติบโตแและผลผลิตของขมิ้น : สถานีวิจัยปากช่อง
นายองอาจ หาญชาญเลิศ สถานีวิจัยปากช่อง
รศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ สถานีวิจัยปากช่อง
ผศ.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา คณะเกษตร
»
ลักษณะทั่วไป
»
ดินและการเตรียมดิน
»
การเตรียมหัวพันธุ์ขมิ้นชันสำหรับปลูก
»
การใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช
»
โรคและแมลงศัตรูพืช
» การเก็บเกี่ยว