เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกพืชผักระบบไฮโดรโปนิกส์
จากเอกสารวิชาการ เรื่อง การปลูกพืชผักระบบไฮโดรโปนิกส์
จัดทำเอกสารโดย นางสาวขนิษฐา พงษ์ปรีชา สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตก
จังหวัดชลบุรี
วัสดุและภาชนะปลูก
วัสดุปลูก วัสดุปลูกทำหน้าที่ในการรองรับรากพืชเพื่อให้พืชทรงตัวอยู่ได้ ในการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ วัสดุปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ จะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
- สามารถรักษาอัตราส่วนของน้ำและอากาศให้เหมาะสมตลอดการปลูก โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมคือ น้ำ:อากาศ เท่ากับ 50:50 โดยปริมาตร
- จะต้องไม่มีการอัดหรือยุบตัวเมื่อเปียกน้ำหรือเมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน
- จะต้องไม่สลายตัวทั้งทางเคมีและทางชีวภาพ
- เป็นวัสดุที่รากพืชสามารถแพร่กระจายได้อย่างสะดวกทั่วทุกส่วน
- มีความเฉื่อยทางเคมี คือไม่ทำปฏิกริยากับสารละลายธาตุอาหารและภาชนะที่ใช้ปลูก
- มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุ (C.E.C) ต่ำหรือไม่มีเลย เพื่อจะได้ไม่มีผลต่อองค์ประกอบของสารละลายธาตุอาหารพืชในวัสดุปลูก
- ไม่เป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง
- เป็นวัสดุที่สามารถกำจัดโรคและแมลงได้ง่าย ทำให้สามารถนำวัสดุปลูกกลับมาใช้ใหม่ได้
อย่างไรก็ตามไม่มีวัสดุปลูกใดที่มีคุณสมบัติครบทุกข้อที่กล่าวมา
วัสดุปลูกที่นิยมใช้ในต่างประเทศ คือ แท่งฟองน้ำ และ rockwool
แต่ราคาค่อนข้างแพงในประเทศไทยเนื่องจากต้องนำเข้า จึงได้มีการทดลองใช้วัสดุต่างๆ
ที่หาได้ในประเทศ เช่น แกลบสด ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว และ ทราย
การทดสอบวัสดุปลูกต่างๆ เหล่านี้
พบว่าทั้งวัสดุเดี่ยวและวัสดุผสมทำให้พืชมีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน
เมื่อลองใช้วัสดุต่างๆ เป็นเวลา 1 ปี พบว่าวัสดุผสมต่างๆ
ที่ผสมกับทรายมีการหดตัวไม่มาก สามารถใช้เป็นวัสดุปลูกต่อไปได้ ส่วนวัสดุเดี่ยว
แกลบสดมีปัญหาในช่วงแรกๆ คือระบายน้ำดีเกินไปและการแพร่กระจายของน้ำด้านข้างน้อย
แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งเกิดการสลายตัว ความสามารถในการอุ้มน้ำก็ดีขึ้น
สำหรับขุยมะพร้าว มีการอุ้มน้ำดีเกินไปและมีการสลายตัวมาก
ต้องระวังการให้น้ำและระบายน้ำ ส่วนขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุที่ดีชนิดหนึ่ง
มีการสลายตัวน้อยแต่ก่อนใช้ต้องแช่ด้วยกรดเพื่อปรับ pH ให้เท่ากับ 6
วัสดุปลูกที่กล่าวมานี้จะมีคุณสมบัติดีขึ้นมากเมื่อผสมกับทรายในอัตราส่วน 1:1
ภาชนะปลูกพืช วัสดุปลูกจะต้องบรรจุในภาชนะปลูกเพื่อไม่ให้ปะปนกับสารละลาย
ภาชนะปลูกที่ดีจะต้องทำจากวัสดุที่ไม่ทำปฏิกริยาเคมีกับสารต่างๆ
ต้องมีความคงทนแข็งแรง น้ำหนักเบา ใช้ได้นาน และติดตั้งใช้งานง่าย
ซึ่งปัจจุบันจะใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกเป็นส่วนมาก เนื่องจากมีความคงทน น้ำหนักเบา
สามารถทำเป็นรูปร่างต่างๆ ได้มาก และราคาถูก
ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะที่เคลือบด้วยสังกะสี เพราะอาจมีการละลายของสังกะสี
ทำให้สารละลายธาตุอาหารพืชมีความเข้มข้นของสังกะสีสูง และอาจเป็นพิษต่อพืชได้
ภาชนะปลูกที่ทำจากวัสดุประเภทซีเมนต์ ใยหิน หรือ กรวด เมือนำไปใช้ใส่สารละลาย
จะมีสภาพเป็นด่าง ทำให้ pH ของสารละลายสูงขึ้น
จึงควรนำไปแช่น้ำให้สะอาดเพื่อเป็นการปรับสภาพให้เป็นกลางก่อนนำไปใช้
ขนาดและรูปร่างของภาชนะที่เลือกใช้จะขึ้นกับชนิดของวัสดุปลูก ชนิดของพืชที่ปลูก
และลักษณะของพื้นที่ปลูกหรือโรงเรือนปลูกพืช
ภาชนะที่ใช้กันในปัจจุบันอาจจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- ภาชนะที่มีรูปร่างเป็นถัง อ่าง บ่อ อาจอยู่บนผิวดินหรือฝังอยู่ใต้ดิน วัสดุที่ใช้อาจเป็นแผ่นพลาสติกหรือบ่อซีเมนต์
- ภาชนะที่มีลักษณะเป็นลำราง คล้ายรางรองน้ำฝน อาจทำจากแผ่นพลาสติกอ่อน หรือกึ่งแข็ง หรือทำจากแผ่นสังกะสีหรืออลูมิเนียมบุภายในด้วยแผ่นพลาสติก
- ภาชนะที่มีลักษณะเป็นถุงหรือใช้ห่อ วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นพลาสติกขาวหรือดำ
การวางภาชนะปลูกนิยมวางในแนวยาว ขวางทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์
เพื่อให้พืชได้รับแสงอย่างทั่วถึง ไม่มีการบังแดดกัน
โดยปกติจะออกแบบให้กว้างไม่เกิน 5 ฟุต สูง 6-8 นิ้ว ความยาวขึ้นกับโรงเรือน
แต่ในการปลูกพืชเชิงพาณิชย์มักจะออกแบบภาชนะให้แคบและตื้น แต่ยาว
และมักจะทำมุมให้มีความลาดเอียงเล็กน้อย
ที่มุมทั้งสองด้านของความกว้างจะพยายามออกแบบให้ป้องกันแสงไม่ให้ส่องถึงสารละลลายได้
ผนังด้านใต้ของภาชนะควรมีรูระบายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.25 นิ้ว และ
มีจุกใช้อุดหรือถอดได้
ในการปลูกพืชผักด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์มีเทคนิคสำคัญต่างๆที่ผู้ปลูกต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ
เช่น ระบบการปลูกพืชแบบต่างๆ การเตรียมสารละลายและการจัดการสารละลาย
วัสดุและภาชนะที่ใช้ปลูกพืช การเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องเทคนิคต่างๆ
เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก เนื่องจากทุกๆ
เรื่องมีอิทธิพลในการกำหนดความสำเร็จของการปลูกพืช นอกจากนี้
การหาประสบการณ์จากการผลิตผักเป็นการค้าในฟาร์มไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประกันความสำเร็จได้มากขึ้น
»
ประวัติความเป็นมา
»
การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ในต่างประเทศ
»
การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ในประเทศ
»
ข้อดีและข้อเสียของการปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์
»
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์
»
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช
»
เทคนิคการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์
»
ระบบการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์
»
สารละลายธาตุอาหาร
»
การใช้เครื่อง EC มิเตอร์
» วัสดุและภาชนะปลูก
»
การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ในภาคตะวันตก
»
การศึกษาวิจัย
»
การผลิตพืชผักเชิงพาณิชย์
»
เงื่อนไขในการผลิตพืชแบบไฮโดรโปนิกส์เชิงพาณิชย์
»
ต้นทุน-ผลตอบแทน
»
การตลาด
»
ความรู้ของเกษตรกร
»
ผู้บริโภคและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
»
ประโยชน์ของการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ต่อการเกษตรไทยในอนาคต