เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง
โรคแมลงศัตรูและการป้องกัน
1. แมลงศัตรู
หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยได้ไม่นาน
ดังนั้นแมลงศัตรูที่เข้าทำความเสียหากแก่หน่อไม้ฝรั่งจึงยังมีไม่มากนัก
ส่วนใหญ่จะเป็นแมลงที่กินพืชอาหารหลายชนิด
โดยเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมหรือพืชชนิดอื่นขาดแคลน แมลงจึงเข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่ง
แมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งที่สำคัญได้แก่
หนอนกระทู้หอม
หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า หนอนหลอดหอมหรือหนอนหนังเหนียว นั้น
จะเข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่งในระยะตัวหนอน โดยจะกัดกินส่วนของลำต้นและใบ
ทำให้ลำต้นและใบขาดแหว่งและหักล้มไปในที่สุด
แมลงชนิดนี้ชอบกัดกินหน่อไม้ฝรั่งที่อยู่ในระยะต้นกล้า
เนื่องจากสามารถกัดกินได้ง่ายกว่าหน่อไม้ฝรั่งที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
ผีเสื้อจะวางไข่ได้คราวละมาก ๆ
ทำให้ตัวหนอนที่ฟักอกมาจากไข่มีจำนวนมากพอที่จะกัดกินหน่อไม้ฝรั่ง
จนเกิดความเสียหากได้อย่างมากทีเดียว
การป้องกันกำจัด เนื่องจากแมลงชนิดนี้มีปัญหา เรื่องการดื้อต่อสารฆ่าแมลงมาก ทำให้การใช้สารฆ่าแมลงที่เกษตรกรเคยใช้อยู่ไม่ได้ผล ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ปลูกใหม่การใช้สารฆ่าแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แอมบุช ริพคอร์ด หรือสารฆ่าแมลงพวกแลนเนท ก็ยังอาจจะได้ผลอยู่บ้าง แต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ แมลงจะเริ่มดื้อต่อสารฆ่าแมลงดังกล่าว จึงควรฉีดพ่นสลับกับสารเคมีอย่างอื่น เช่น สารเคมีที่มีผลต่อการลอกคราบของตัวหนอน เช่น อาทราบอน ซึ่งแม้ว่าสารเคมีชนิดนี้จะมีราคาแพง แต่ก็สามารถใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมได้ผลดีโดยเฉพาะในแหล่งที่แมลงมีการดื้อยา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเชื้อไวรัสมาใช้ในการกำจัดหนอนกระทู้หอม ซึ่งก็เป็นวิธีการป้องกันกำจัดหนอนชนิดนี้ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะเชื้อไวรัสเป็นเชื้อโรคของแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และแมลงที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ สำหรับวิธีการใช้จะใช้การฉีดพ่นเช่นเดียวกับการใช้สารเคมี โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่น คือ ในช่วงเวลาเย็น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสถูกทำลายด้วยแสงแดด หลังจากฉีดพ่อเชื้อไวรัสแล้วหนอนจะตายภายใน 3-5 วัน เกษตรกรสามารถเก็บหนอนที่ตายแล้ว มาผสมน้ำเพื่อฉีดพ่นฆ่าหนอนได้อีก โดยใช้หนอนที่ตายแล้วขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวน 1 ตัวผสมน้ำ 1 ลิตร นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเชื้อจากหนอนที่ตายแล้วไว้ใช้ได้อีก โดยใส่ในขวดสีชาเก็บไว้ในที่เย็นและไม่ถูกแสงแดด จะสามารถเก็บเชื้อไวรัสไว้ใช้ได้นานมาก เชื้อไวรัสนี้ไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด เกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่หน่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
หนอนกระทู้หอม เป็นแมลงที่มีศัตรูธรรมชาติหลายชนิด เช่น
แมลงวันก้นขนและแตนเบียฬชนิดต่าง ๆ
ดังนั้นการใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลเฉพาะในการทำลายหนอนกระทู้หอม
ย่อมทำให้แมลงศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ปลอดภัยและช่วยลดปัญหาการดื้อต่อสารฆ่าแมลงของแมลงชนิดนี้
นอกจากนี้การใช้สารฆ่าแมลงที่มีฤทธิ์ตกค้างนาน ๆ
จะทำให้มีการปนเปื้อนของสารฆ่าแมลงในหน่อไม้ฝรั่ง
ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและทำให้ตลาดต่างประเทศไม่รับซื้อสินค้าชนิดนี้
หนอนกระทู้ผัก
การระบาดของหนอนชนิดนี้ ในหน่อไม้ฝรั่ง
จะคล้ายคลึงกับหนอนกระทู้หอมเพราะเป็นแมลงที่มีพืช
อาหารหลายชนิดเช่นเดียวกันในหน่อไม้ฝรั่งหนอนจะกัดกินบริเวณยอดอ่อน และใบอ่อน
จนทำให้เหลือแต่เพียงกิ่งก้านเท่านั้น
และการที่แมลงชนิดนี้มีพืชอาหารหลายชนิดจึงทำให้แมลงมีการระบาดได้ตลอดทั้งปี
การป้องกันกำจัด แมลงชนิดนี้มี ปัญหาเรื่องการดื้อต่อสารฆ่าแมลงน้อยกว่าหนอน กระทู้หอม จึงทำให้สารป้องกันกำจัดได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามการป้องกันกำจัดแมลงชนิดนี้ก็ควรจะคำนึงถึงความปลอดภัยต่อแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย เพราะหนอนกระทู้ผักมีแมลงศัตรูธรรมชาติพวกแตนเบียฬอยู่หลายชนิดสำหรับวิธีการป้องกันกำจัดหนอน กระทู้ผักโดยทั่วไป มีอยู่ 2 วิธีคือ
- การใช้เชื้อโรค ซึ่งก็คือ เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส
ทรูริงจีเอนซีสที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดเช่น ธูริไซด์ และแบทโทสปิน เป็นต้น
ฉีดพ่นในช่วงที่เริ่มมีหนอนระบาด ซึ่งการฉีดพ่นควรทำในช่วงเวลาเย็น
เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของเชื้อเนื่องจากแสง แดด
แมลงที่อยู่ในวัยอ่อนจะอ่อนแอต่อการเขาทำลายของเชื้อได้มากกว่า
จึงควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ถ้าพบกลุ่มไข่หรือแมลงวัยแรก ๆ
ก็ทำการฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรียได้
- การใช้สารเคมี เช่น แลนเนท หรือสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ซูมิไซดริน แอมบุช ริพคอร์ด หรือสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น อาทราบอน ก็สามารถป้องกันกำจัดแมลงชนิดนี้ได้ดีเช่นกัน
หนอนบุ้ง
แมลงชนิดนี้มีการทำลายหน่อไม้ฝรั่งได้บ้าง แต่มีปริมาณน้อย
อาจจะระบาดมาจากแปลงผักที่อยู่ใกล้เคียง โดยตัวหนอนจะกัดกินส่วนต่าง ๆ
ของหน่อไม้ฝรั่ง โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนอยู่
การป้องกันกำจัด ควรดูแลแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งอย่าให้มีหญ้าหรือวัชพืชต่าง ๆ
ขึ้นปกคลุมหน่อไม้ฝรั่ง เพราะวัชพืชจะเป็นที่หลบซ่อนของหนอนบุ้งได้เป็นอย่างดี
ตัวหนอนชอบหากินเวลาใกล้ค่ำ เนื่องจากแมลงชนิดนี้ไม่ได้มีการระบาดรุนแรงมากนัก
การใช้สารฆ่าแมลงจึงควรเลือกใช้ชนิดที่มีฤทธิ์ตกค้างสั้น เช่น เซฟวิน 85%
หรือแอมบุช ฉีดพ่นเมื่อพบว่ามีแลงชนิดนี้ระบาดในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง
เพลี้ยไฟ
ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของเพลี้ยไฟ จะใช้ฟันเขี่ยเนื้อเยื่อพืช
แล้วใช้ปากดูดน้ำเลี้ยงจากพืช โดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน
ซึ่งทำให้หน่อไม้ฝรั่งมีอาการยอดหงิกและใบเป็นฝอย การทำลายอาจเป็นหย่อม ๆ
หรือกระจายทั่วไปเมื่อพืชถูกทำลายอย่างรุนแรง ยอดจะมีสีเหลืองซีด
ส่วนของลำต้นและกิ่งก้านที่ถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจะมีรอยสีขาว
แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มขึ้นตามลำดับ
เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อนเพราะเป็นช่วงที่มีอากาศแห้ง
แต่พอถึงช่วงฤดูฝน เพลี้ยไฟจะหมดไปเอง เพราะแมลงชนิดนี้ไม่ชอบสภาพฝนตกชุก
ยอดของหน่อไม้ฝรั่งที่เคยถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจนหงิก
ก็สามารถแตกยอดใหม่และเจริญได้เป็นปกติ
การป้องกันกำจัด ในแหล่งที่ยังไม่เคยมีการระบาดของเพลี้ยไฟมาก่อน
อาจใช้สารฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน 85% ฉีดพ่นได้บ้าง
แต่ถ้าแหล่งปลูกนั้นเพลี้ยไฟเริ่มดื้อต่อสารฆ่าแมลงแล้ว
ควรฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดอื่น เช่น โตกุไธออน เมซูโรล หรือพอสซ์ อย่างไรก็ตาม
สารฆ่าแมลงเหล่านี้เป็นพวกสารดูดซึมซึ่งมีฤทธิ์ตกค้าง 1-2 สัปดาห์
ดังนั้นเมื่อฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเหล่านี้แล้ว ควรทิ้งระยะประมาณ 7-10 วัน
จึงเก็บหน่อไม้ฝรั่งออกจำหน่าย แต่เกษตรกรมักจะไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องนี้มากนัก
เพราะหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกวัน
ซึ่งถ้าเกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงดังกล่าวข้างต้นฉีดพ่นตามอัตราที่กำหนดของสารฆ่าแมลงแต่ละชนิด
ภายในระยะเวลา 3-5 วันหลังการฉีดพ่น
ยังคงตรวจพบสารฆ่าแมลงดังกล่าวในหน่อไม้ฝรั่งได้
แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่นิยมให้มีในพืชชนิดนี้ อย่างไรก็ดี
ในแปลงหน่อไม้ฝรั่งที่มีการระบาดของเพลี้ยไฟไม่มากนัก
การฉีดพ่นสารฆ่าแมลงอาจจะไม่จำเป็น
แต่เกษตรกรควรให้น้ำกับหน่อไม้ฝรั่งอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งจะทำให้หน่อไม้ฝรั่งไม่มีอาการหงิกงอหรอมีสีเหลืองซีดจนหยุดการเจริญเติบโต
แมลงค่อมทอง
การระบาดของแมลงชนิดนี้ในหน่อไม้ฝรั่ง มักพบเฉพาะในบางท้องที่เท่านั้น เช่น
ในแถบหุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
โดยตัวเต็มวัยจะกัดกินทั้งส่วนอ่อนและส่วนแก่ของหน่อไม้ฝรั่ง
ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด เนื่องจากการระบาดของแลงชนิดนี้ในหน่อไม้ฝรังไม่รุนแรงมากนัก
การฉีดพ่นสารเคมีจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด
แมลงศัตรูชนิดอื่น ๆ ที่พบในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง
นอกจากแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น
ยังพบว่าในแปลงหน่อไม้ฝรั่งจะมีแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด
แต่เป็นพวกที่ไม่มีความสำคัญในการทำลายพืชชนิดนี้มากนัก เช่น
1. มวนปอแก้วจีน
2. มวนแดงมะเขือเทศ
3. หนอนปลอก
4. แมลงชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ศัตรูพืช เช่น
- มวนหลังแข็ง เป็นแมลงที่พบทั่วไป ไม่ทำลายพืช
- ด้วงเต่า เป็นตัวห้ำของเพลี้ยอ่อน
- ตัวเบียฬของหนอนผีเสื้อ เช่น แตนเบียฬอะแพนทีเลส แตนเบียฬอิชนิวโมนิค เป็นต้น
ในแปลงหน่อไม้ฝรั่งที่ไม่ค่อยมีการฉีดพ่นสารฆ่าแมลง จะพบว่ามีแมลงพวกตัวห้ำและตัวเบียฬมากกว่าแปลงที่มีการฉีดพ่นสารฉีดพ่นสารฆ่าแมลงอยู่เสมอ เพราะสารเคมีบางชนิดจะฆ่าตัวห้ำและตัวเบียฬเหล่านี้ ทำให้เสียสมดุลย์ในธรรมชาติ คือไม่มีแมลงศัตรูธรรมชาติคอยทำลายแมลงศัตรูพืช จึงทำให้มีการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากขึ้น
2. โรค
โรคลำต้นไหม้
เกิดจากเชื้อราโฟมอบซิส ลักษณะอาการจะสังเกตเห็นลำต้นเป็นแผลไหม้สีน้ำตาล
รูปยาวรี คล้ายรูปไข่ เป็นแนวเดียวกับลำต้น ต้นจะทรุดโทรมและแห้งตายไปในที่สุด
นอกจากนี้ยังพบอาการของโรคเกิดขึ้นได้กับส่วนของกิ่งก้านและใบ
การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วในฤดูฝนเพราะมีความชื้นในอากาศสูง
เชื้อราจะแพร่กระจายไปยังต้นปกติที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
เมื่อถูกน้ำชะหรือปลิวไปตามลม
การป้องกันกำจัด
- หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบพืชแสดงอาการเป็นโรค ให้ตัดแต่งกิ่งหรือส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสีย อย่าทิ้งไว้ข้างแปลงหรือบริเวณที่ปลูกเพื่อเป็นการลดแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุ
- การใช้สารเคมีควบคุมโรค ได้แก่ สารเคมีประเภทไม่ดูดซึม เช่น ไดเทนเอ็ม 45 คูโปรซาน สารเคมีประเภทดูดซึม เช่น เดอโรซาล เบนเลทโอดี หรือฟันดาโซล ผสมกับไดเทนเอ็ม 45 โดยเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง
โรคลำต้นไหม้เกิดจากเชื้อเซอคอสปอร่า
เกิดจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง
ลักษณะอาการจะสังเกตเห็นแผลสีม่วงอมน้ำตาลหรือสีม่วงแดง ขอบแผลไม่สม่ำเสมอ
กลางแผลสีเทามีส่วนของเชื้อรา เป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่ตรงกลาง
บางครั้งแผลจะขยายใหญ่ติดกัน แต่มีขนาดเล็กกว่าโรคลำต้นไหม้ที่กล่าวมาข้างต้น
โรคนี้เป็นได้ทุกส่วนของต้น แต่มักเกิดมากที่ปลายกิ่งและใบ
ทำให้กิ่งแห้งตายและใบร่วงหล่น การแพร่ระบาดจะมีลมหรือน้ำเป็นตัวพาไป
โรคนี้มักระบาดในสภาพที่มีความชื้นสูง
การปัองกันกำจัด
- ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
- ฉีดพ่นสารเคมีประเภทไม่ดูดซึม เช่น คูปราวิท, คอปเปอร์กรีน ไตรมิลต๊อกซ์ หรือสารเคมีประเภทดูดซึมพวก บาวิสติน โดยให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง
โรคแอนแทรคโนส
เกิดจากเชื้อราโดยพบแผลสีฟางข้าว รูปไข่กว้างประมาณ 10 มม. ยาวประมาณ 30-35 มม.
ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโรคทั้งสองชนิดที่กล่าวมาข้างต้น แผลจะยุบตัวหรือเป็นรอยบุ๋ม
เข้าไปในเนื้อเยื่อพืชเล็กน้อย พบส่วนของเชื้อราเป็นจุดหรือตุ่มเล็ก ๆ สีดำ
ลักษณะเรียงซ้อนกันเป็นวงหรือเป็นชั้น ๆ ส่วนมากมักพบโรคที่บริเวณโคนต้น
จึงทำให้ลำต้นหักล้มได้ง่าย เชื้อรา สามารถแพร่ระบาดไปกับลมหรือน้ำ มักพบ
โรคนี้ระบาดมากในสภาพที่มีความชื้นสูง
การป้องกันกำจัด
- ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
- ฉีดพ่นสารเคมีประเภทไม่ดูดซึม เช่น แมนโคเซ็บ คาร์เบนดาซิม แมนโคเซ็บผสมคาร์เบนดาซิม และเบนโนมิลผสมแมนโคเซ็บ โดยให้เลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
โรครากและโคนเน่า
เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดินทำลายพืชทั้งทางราก เหง้าและโคนต้น
ลักษณะอาการที่สังเกตเห็นจะพบลำต้นและใบแสดงอาการเหี่ยว
ต่อมาใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และตายไปในที่สุด
เมื่อผ่าดูบริเวณโคนต้นจะพบว่าเนื้อเยื่อภายในถูกทำลาย
เนื้อเยื่อรอบนอกบริเวณเหง้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผิวรากยุบตัวเป็นรอยบุ๋ม
ถ้าระบาดรุนแรงมาก รากจะฝ่อและแห้งตายในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ถ้ามีการใส่ปุ๋ยเคมีชิดโคนต้น โรครากและโคนเน่านี้จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน
เนืองจากเชื้อสาเหตุสามารถแพร่ไปกับลมและน้ำ
การป้องกันกำจัด
- ใส่ปูนขาวบริเวณโคนต้นที่แสดงอาการของโรค
- ใส่ปุ๋ยคอกบำรุงดิน เพื่อให้ต้นหน่อไมฝรั่งมีความสมบูรณ์ทำให้ไม่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค
โรคเน่าเละ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อพืชเกิดการเน่าเละ
โดยอาการดังกล่าวมักเกิดบริเวณปลายหรือยอดของหน่อ
แต่ก็สามารถพบอาการนี้ได้กับทุกส่วนของหน่อที่เกิดบาดแผล
เชื้อสาเหตุจะทำให้เนื้อเยื่อพืชนิ่มฉ่ำน้ำและลื่น มีกลิ่นเหม็นเฉพาะ
การป้องกันกำจัด
- ในขณะเก็บเกี่ยว ควรระมัดระวังไม่ให้หน่อเกิดบาดแผลขึ้นเพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่พืชได้
- ใส่ปูนขาวที่โคนต้น
- บำรุงดินโดยการใส่ปุ๋ย
โรคเน่าเปียก
เกิดจากเชื้อรา โดยปลายยอดมีลักษณะฉ่ำน้ำสีเขียวต่อมายอด จะแห้งและเหลือง
บนแผลมีเส้นใยเชื้อรางอกออกมา บริเวณปลายเส้นใยมีสีดำมองเห็นได้ชัดเจน
โรคจะแพร่ระบาดรุนแรงถ้าอากาศมีความชื้นสูง ฝนตกชุก โดยลักษณะมีฝนตกสลับกับแดดออก
ปลายยอดหน่อไม้ฝรั่งจะยุบและเน่าตายภายใน 2-3 วัน
การป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมีประเภทดูดซึมฉีดพ่น เช่น ซาพรอลพรอนโต และเทคโต
โดยให้เลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
»
ประเภทหน่อไม้ฝรั่ง
»
พันธุ์หน่อไม้ฝรั่ง
»
ดินที่เหมาะสม
»
การเพาะกล้าหน่อไม่ฝรั่ง
»
การเตรียมแปลงปลูก
»
การย้ายกล้าหน่อไม่ฝรั่ง
»
การให้น้ำ
»
การให้ปุ๋ย
»
การไว้ต้นแม่เหนือดิน
»
การพรวนดินและการเติมปุ๋ย
»
การทำค้าง
»
การเก็บเกี่ยว
»
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
»
มาตรฐานคุณภาพหน่อไม้ฝรั่ง
»
การพักต้น
» โรคแมลงศัตรูและการป้องกัน