เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกมะเขือเทศ
โรคแมลงและการป้องกัน
สำหรับแมลงที่เป็นปัญหาต่อการปลูกการดูแลรักษามะเขือเทศที่สำคัญคือแมลงปากดูด
เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นตัวนำเชื้อโรคไวรัสมาสู่มะเขือเทศ
ทำให้เกิดอาการได้หลายอย่าง เช่น ใบหงิก ยอดหด ปลายยอดแหลมเรียวเล็ก สีใบซีดด่าง
ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้
จึงควรหาทางป้องกันไว้ก่อน โดยการกำจัดแมลงเหล่านี้ ด้วยการใช้สารประเภทดูดซึม เช่น
ฟูราดานรองก้นหลุมก่อนปลูกอัตราประมาณ 1 กรัมต่อหลุม
หรือเมื่อต้นมะเขือเทศโตแล้วยังมีแมลงมารบกวนก็ให้ใช้สารกำจัดแมลงบางชนิด เช่น
แลนเนท มาลาไธออน ทามารอน โตกุไธออน อโซดริน หรือซูมิไซดริน
ฉีดพ่นตามอัตราส่วนที่แนะนำข้างภาชนะบรรจุ
สำหรับโรคซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการปลูกมะเขือเทศ มีดังนี้
โรคผลเน่าแห้งสีดำหรือปลายผลดำ
ลักษณะอาการ ผลมะเขือเทศในที่บางแห่งมีอาการทั้งผลอ่อนเน่าที่ก้นหรือปลายผล
อาการเน่าแบบแห้งเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบุ๋มลึกลงไปต่ำกว่าระดับเดิมเล็กน้อย
ขนาดของแผลขยายใหญ่ออกไปเรื่อย ๆ บางผลเน่าประมาณ 1 ใน 3 ของผลทำให้ผลร่วง
สาเหตุของโรค
- ขาดธาตุแคลเซี่ยม
- ความชื้นในดินที่ปลูกแห้งมาก
การป้องกันกำจัด
- ใส่หินปูนหรือปูนขาวรองก้นหลุมปลูก 1-2 ช้อนแกงพูนต่อหลุม
- ควรให้น้ำทุกวันโดยสม่ำเสมอและไม่มากหรือน้อยเกินไป
- ฉีดพ่นธาตุแคลเซี่ยมบ้าง โดยเฉพาะในระยะติดผลไปจนเก็บเกี่ยว โดยมากใช้แคลเซี่ยมไนเตรทหรือแคลเซี่ยมคลอไรด์ 0.1-0.2% ฉีดพ่นหรือจะใช้น้ำปูนใสเจือจางฉีดพ่นแทนก็ได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ต่อครั้งหรือจะใส่ธาตุแคลเซี่ยมในรูปของปุ๋ยก็ได้เช่นกัน
โรคใบแห้ง
ลักษณะอาการ มะเขือเทศจะแสดงอาการของโรคได้ทุกส่วนของต้น เช่น
ใบเริ่มมีจุดฉ่ำน้ำ สีเขียวหม่น เนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลมีสีเหลืองเล็กน้อย
ส่วนมากแผลเกิดขึ้นที่จุดหนึ่งบนขอบใบก่อนแล้วขยายใหญ่กว้างออกไปจนเกือบหมดทั้งใบ
ด้านท้องใบมีเส้นใยของเชื้อราเกิดขึ้น มีลักษณะเป็นผงสีขาว เป็นวงกลมตามแผล 2-3
ชั้น แผลจะแห้งเป็นสีน้ำตาลภายในเวลาอันรวดเร็ว ตามก้านใบ ลำต้น ก็มีแผลแบบเดียวกัน
ทำให้ส่วนนั้น ๆ เหี่ยวแห้งตายไป
ผลมะเขือเทศอ่อนที่เป็นโรคนี้จะมีแผลสีน้ำตาลเช่นกัน และทำให้ผลสุก
มีผิวแตกและมีเชื้อราขึ้นตรงรอยแตกเห็นได้ชัดเจนจัดเป็นโรคที่สำคัญทางภาคเหนือ
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
การป้องกันกำจัด
- ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45 ฉีดพ่นทุก 7 วัน
(หรือเร็วกว่านี้)
ควรพ่นสารเคมีกันไว้ก่อนเพราะโรคนี้ระบาดแล้วเสียหายรุนแรงมาก
หรือใช้ริโดมิลเอ็มแซดหรือพิวริเคอร์ ฉีดพ่นตามอัตราส่วนที่แนะนำข้างภาชนะบรรจุ
- ใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรคนี้ปลูก หมายเหตุ เชื้อราจะระบาดมากในระยะที่มีความชื้นสูง 90% และมีอุณหภูมิประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส (หนาวเย็นเล็กน้อย) ทางภาคเหนือมีโรคนี้ระบาดมากบนที่ราบสูง บนภูเขาและที่ราบต่ำในฤดูหนาวที่มีหมอกและน้ำค้างลงจัด
โรคใบจุด
ลักษณะอาการ โรคใบจุดที่เกิดกับมะเขือเทศจะทำให้เกิดจุดได้หลายแบบ เช่น
จุดวงกลมสีน้ำตาลและจุดเหลี่ยม ซึ่งทำให้ใบเหลืองและแห้ง
และมีราขึ้นเป็นผงสีดำคล้ายกำมะหยี่จุดดังกล่าวด้วย
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด
การป้องกันกำจัด ควรฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราเสมอ ๆ สารทุกชนิดให้ผลดีทัดเทียมกัน ถ้ามีการระบาดมากใช้สารพวกไอโพรไดโอนรอฟรัล ฉีดพ่นตามคำแนะนำที่ฉลาก แล้วสลับด้วยสารป้องกันกำจัดราอื่น ๆ
หมายเหตุ
เชื้อราบางชนิดมักจะเป็นโรคบนใบแก่หรือต้นแก่ซึ่งในระยะนี้ต้นเสื่อมโทรม
การฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราจะไม่คุ้มค่า
โรคเหี่ยวเหลืองตาย
ลักษณะอาการ จะเริ่มเกิดจากใบที่อยู่ตอนล่าง ๆ ก่อน
โดยใบล่างจะเหลืองแล้วค่อยลุกลามขึ้นมาบนต้นในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัด
ต้นจะแสดงอาการเหี่ยว เวลากลางคืนก็กลับปกติ อาการเหี่ยวค่อย ๆ
มากขึ้นจนในที่สุดยอดเหี่ยวตาย
เมื่อถอนรากขึ้นมาตรวจดูเนื้อเยื่อซึ่งเป็นท่อทางเดินอาหารและน้ำมีสีน้ำตาลดำ
โคนต้นและรากผุเปื่อยมักจะมีราเป็นผงสีขาวอมชมพูบางๆ ขึ้นตรงส่วนที่เป็นสีน้ำตาล
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
การป้องกันและกำจัด
- ต้องแก้ไขปรับปรุงดินโดยการใส่ปูนขาว และกากพืชหรืออินทรียวัตถุให้เพียงพอ
- ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ให้น้อยลง
- ปลูกพืชหมุนเวียนอย่างอื่นสลับ
โรคเกิดจากการขาดธาตุอาหาร
ลักษณะอาการ การขาดธาตุอาหารที่ปรากฎในมะเขือเทศมักจะรุนแรงมากกว่าพืชอื่น ๆ
ลักษณะที่เห็นชัดเจนก็คือใบสีม่วงแดงขอบใบม้วนงอและชะงักการเจริญเติบโต
ใบเล็กและหดสั้นบางต้น
ใบยอดเนื้อใบซีดขาดตัดกับสีเขียวของเส้นใบชัดเจนและมีขนาดเล็กลง
ไม่เจริญเติบโตไปตามปกติและเมื่อเป็นมาก ๆ ยอดแห้งตาย ฯลฯ
สาเหตุของโรค ขาดธาตุต่าง ๆ เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก แมงกานีส โบรอน สังกะสี
แมกนีเซี่ยม ฯลฯ บางต้นมีอาการซับซ้อนเนื่องจากขาดธาตุรวมกันจนแยกอาการไม่ออก
การป้องกันจำจัด
- ควรจะปรับสภาพของดินให้เหมาะสม คือมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6-6.5 จะเป็นดินที่ธาตุอาหารต่าง ๆ ละลายได้มากและเป็นประโยชน์ต่อพืชมาก
- ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบถ้วน หรือจะใช้ฉีดพ่นธาตุอาหารทางใบแทนก็ได้
โรคเหี่ยวเฉาตาย
ลักษณะอาการ มะเขือเทศบางพันธุ์มีอาการเหี่ยวเฉาตายในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อถอนรากมาตรวจพบว่าลำต้นใต้ระดับดินและรากเน่าเปื่อย
ถ้าตัดลำต้นตามขวางแล้วเอาไปแช่ในน้ำ
จะปรากฏสีขาวข้นคล้ายยางเหนียวปูดออกมาตรงรอยแผลตัด ซึ่งเป็นน้ำเชื้อแบคที่เรีย
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
การป้องกันและกำจัด เชื้อโรคชนิดนี้ชอบดินที่เป็นด่าง อุณหภูมิสูง ความชื้นสูงและในดินที่ขาดไนโตรเจนเชื้อแบคทีเรียจะถูกทำลายโดยกำมะถัน ดังนั้น การแก้ไขป้องกันกำจัดโรคนี้ควรทำดังต่อไปนี้
- ปลูกพืชหมุนเวียนสลับ
- ในดินที่เป็นโรคใส่กำมะถันผง 14 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วทิ้งให้ผ่านฝนสักระยะหนึ่ง จากนั้นให้ใช้ปรับด้วยปูนขาวหรือหินปูนจากภูเขาในอัตรา 300-400 กรัมต่อไร่ โรคจะลดลงไปมาก
โรคราแป้ง
ลักษณะอาการ ใบจะมีสีเหลืองไม่สม่ำเสมอกัน ใบที่มีสีเหลืองมาก ๆ
จะร่วงหล่นได้ง่าย เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคจะจับเป็นผงหรือขุยสีขาวคล้ายผงแป้ง
ผงสีขาวนี้คือเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราที่ขึ้นเป็นกลุ่ม
กระจัดกระจายทั่วไปทางด้านท้องใบ เนื้อเยื่อด้านบนที่อยู่ตรงข้ามกันจะมีสีเหลือง
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
การป้องกันกำจัด สารป้องกันกำจัดเชื้อราที่ใช้ต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคนี้โดยตรง เช่น กำมะถันผงชนิดละลายน้ำ คาลาเทน เบนเลท ฯลฯ ให้เลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น สำหรับกำมะถันควรจะฉีดพ่นในเวลาเช้ามืดที่มีอากาศเย็นหรือในตอนเย็น ไม่ควรฉีดพ่นในเวลาที่มีแดดร้อนจัด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้
โรคยอดหงิก
ลักษณะอาการ มะเขือเทศมีลำต้นแคระแกร็น ใบยอดด่างและหงิก ไม่ออกดอกออกผล
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อไวรัส
การป้องกันกำจัด
- บริเวณเพาะกล้าต้องสะอาดปราศจากวัชพืชและฉีดยากำจัดแมลงพวกปากดูด เช่น แมลงหวี่ขาว โดยใช้สารเคมีประเภทดูดซึม
- ให้ถอนทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง
- ถ้าสงสัยว่าจะมีวัชพืชอาศัยให้ทำลายให้หมด
- ไม่ควรสูบบุหรี่หรือจับต้นที่เป็นโรคแล้วไปจับต้นที่ดี จะทำให้โรคระบาดติดต่อกันได้
โรคโคนเน่า
ลักษณะอาการ ระยะกล้า โคนต้นกล้ามะเขือเทศจะเกิดแผลสีน้ำตาล ลำต้นหักพับลง
ระยะเริ่มติดดอก มะเขือเทศจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาตาย
บริเวณโคนต้นระดับผิวดินจะเกิดเป็นแผลยุบลงไป
บริเวณแผลจะมีเส้นใยสีขาวของเชื้อราเกิดขึ้น
ในกลุ่มเส้นใยนั้นจะเกิดเม็ดขยายพันธุ์ของเชื้อราเล็ก ๆ
สีขาวต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำ มีขนาดเท่าเมล็ดผักกาด
บางครั้งจึงเรียกโรคนี้ว่า "โรคราเมล็ดผักกาด"
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
การป้องกันและกำจัด
- ไถดินตากแดดไว้สักระยะหนึ่ง
- ปรับปรุงโดยการใส่ปูนขาวและกากพืชหรืออินทรียวัตถุ
- ถ้าโรคเริ่มระบาดในแปลงปลูกเป็นหย่อม ๆ ให้ถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งและใช้สารฆ่าเชื้อราในดิน เช่น ไวตาแว้กซ์ บลาสซิโคล เทอร์ราโซล เทอร์ราคลอ ชนิดใดชนิดหนึ่ง ราดดินตรงจุดที่เกิดโรคและบริเวณต้นใกล้เคียงกับจุดที่เป็นโรคนั้นให้ทั่วในพื้นที่ที่โรคนี้ชอบระบาดเนื่องจากมีเชื้ออยู่ในดิน การราดสารดังกล่าวในหลุมปลูกหลังจากย้ายปลูก 1-2 ครั้ง ก่อนมะเขือเทศออกดอกจะได้ผลดีกว่ารอให้พบว่ามีต้นตาย เพราะการป้องกันไว้ก่อนเป็นวิธีการที่ดีที่สุดจะสกัดกั้นความเสียหาย
»
พันธุ์
»
สภาพอากาศที่เหมาะสม
»
การเตรียมดิน
»
การเพาะกล้า
»
การปลูก
»
การพรวนดินกลบโคนต้น
»
การให้น้ำ
»
การใส่ปุ๋ย
»
การปักค้าง
» โรคแมลงและการป้องกัน
»
การเก็บเกี่ยว
»
การผลิตและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์